'อายุเท่านี้เอง เครียดอะไรนักหนา'
หากคุณเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เคยพูดคำนี้ อาจต้องหยุดอ่านและพิจารณาเหตุการณ์รอบตัวสักเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 'โควิด-19' ที่บังคับให้เด็กวัยรุ่นต้องรับภาระที่ผู้ใหญ่หลายคนยากจะจินตนาการ
ผู้ใหญ่วัยเราไม่เคยเรียนออนไลน์วันละหลายๆ ชั่วโมง เราไม่เคยอัดคลิปส่งครูเป็นการบ้าน เราไม่เคยนั่งเรียนในบ้านที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวนมากมาย เราไม่เคยต้องเดินหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตหลายกิโลฯ เพื่อเข้าห้องเรียนให้ทันเวลา
และหาก 'อายุ' ไม่ใช่ปัจจัยของความเครียด ข่าวคราวการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนคงไม่เกิดในระดับที่ถี่ขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงเช่นทุกวันนี้
'โรคเครียดในเด็ก' ปัญหาจริงจังที่ผู้ใหญ่ต้องจริงใจ
สถิติจากกรมสุขภาพจิต เผยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการบันทึก แบบแยกอายุ ระบุว่ามีเยาวชนอายุ 10 - 19 ปีฆ่าตัวตายถึง 111 คน ส่วนอัตราฆ่าตัวตายปี 2563 หลังจากมีการระบาดของโควิด 19 ก็มีมากถึง 7.37 เปอร์เซ็นต์ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งกราฟยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา
ความเครียดในเด็ก ไม่ได้เกิดจากเรื่องผลสอบและเกรดเท่านั้น ตั้งแต่มีการระบาด เด็กเป็นแสนคนทั่วโลกต้องสูญเสียครอบครัวจากโรค (แค่ในสหรัฐอเมริกาก็มีมากกว่า 40,000 คนแล้ว) ยังไม่รวมปัญหาการเงินของครอบครัว และทรัพยากรที่เด็กยากไร้เข้าถึงไม่ได้ อาทิ อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์สำหรับการเรียน
ทั้งยังมีปัญหาจากการเรียนออนไลน์ที่สร้างความปวดหัวแก่นักเรียนไทย จนถึงกับเคยมีการสไตรค์ #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิ_ส จากกลุ่ม 'นักเรียนเลว' เรียกร้องให้รัฐและกระทรวงศึกษาฯ ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้าถึงผู้เรียนทุกคน และจัดช่องทางช่วยเหลือให้นักเรียนที่ได้มีความเครียดจากเรียนออนไลน์อีกด้วย
ตลอด 5 วันแห่งการต่อสู้ที่ผ่านมา มียอดรวมของนักเรียนไทยผู้กล้าที่ร่วมกันผลักดันข้อเรียกร้องโดยการเช็คขาดผ่านเว็บไซต์…
Posted by นักเรียนเลว on Friday, September 10, 2021
ฟังทางนี้! ถ้า 'เด็ก' มีอาการเหล่านี้ ผู้ใหญ่ต้องช่วยเหลือด่วน
- เด็กมีอารมณ์แปรปรวน และขึ้นสุดลงสุดบ่อยๆ เช่นอาละวาด หรือร้องไห้ ทะเลาะกับเพื่อนและครอบครัว
- มีพฤติกรรมเปลี่ยน เช่น ไม่พูดไม่จากับคนในครอบครัว หากเด็กเป็นคนเข้าสังคมปกติแต่เริ่มเก็บตัวเงียบ ไม่แชต ไม่โทรหาใคร ก็นับว่าเข้าข่ายอาการน่าเป็นห่วง
- ไม่สนใจงานอดิเรกที่เคยมี อาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น นักร้องที่ชอบ หรือกิจกรรมที่เคยชอบทำ อย่างการเล่นเกม เป็นต้น
- มีปัญหาเรื่องการนอน อาจนอนไม่หลับ ตื่นง่าย หรือนอนตลอดเวลาก็ได้
- เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกิน เช่น หิวตลอดเวลา หรือไม่กินอะไรเลยก็มี
- มีปัญหากับการจดจ่อ การใช้สมาธิ หรือความทรงจำและเริ่มไม่สนใจการเรียน บางรายอาจตัดสินใจดร็อปเรียนไปเลย
- มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยา
- เริ่มคิด หรือพูดเรื่องการฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่ควรมองข้ามสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ เช่น คำพูดคำจาอย่าง 'โลกแตกได้ยัง' หรือ 'หนูอยากตาย' ที่ฟังดูเป็นคำพูดตลกร้าย แต่ก็อาจแฝงไปด้วยภาวะเฉื่อยชา หรือ 'Passive Death Wish' ได้ ( อ่าน : Passive Death Wish ความรู้สึกอยากตายที่ไม่อยากฆ่าตัวตาย )
หากเด็กๆ หรือวัยรุ่นใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้มากกว่า 5 ข้อและเป็นติดด่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ใหญ่ควรพาไปพบจิตแพทย์ หรือกุมารแพทย์ (ในกรณีเด็กเล็ก) ทันที
'ดูแลกันและกัน' ก็สร้างความหวังได้เยอะแล้ว!
ในโลกที่เต็มไปด้วยปัจจัยชวนซึมอย่างทุกวันนี้ ผู้ปกครองอาจต้องรับบทหนักในการ 'รับฟัง' และเทคแคร์สุขภาพจิตเด็กๆ ในบ้าน ผู้ใหญ่ควรเป็นผู้ควบคุมอารมณ์และบรรยากาศในบ้านไม่ให้ตึงเครียดเกินไป อย่าดูถูก 'ความเครียด' ของเด็ก หรือมองเป็นเรื่องเล็กน้อยและ 'ไม่จริง' คอยย้ำเตือนให้เด็กๆ รู้ว่ามีอนาคตที่สดใสรอพวกเขาอยู่ อาจสร้างกิจกรรมกลุ่มที่ทำร่วมกันได้โดยไม่เสี่ยงติดเชื้อ ที่สำคัญคือต้องดูแลรักษาจิตใจตัวเองให้แข็งแกร่ง ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่แบบที่ 'ตัวเองในสมัยเด็ก' ต้องการ เท่านี้ก็น่าจะถนอมหัวใจของเด็กๆ ให้พวกเขาได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และไม่บอบช้ำระหว่างทางได้แล้ว :)
สายด่วนสุขภาพจิต : 1323
ข้อมูลอ้างอิง
ความเห็น 17
Tongmingzue
เป็นธรรมดา ของความลำบากที่เพิ่งเคยสัมผัสและแบกรับ เด็กไทยเราไม่คุ้นเคยกับภาระที่ลำบากและหนักหนาสาหัสขนาดนี้มาก่อน ก็เลยปรับตัวยาก หรือ ปรับตัวไม่ได้ จากที่ส่วนใหญ่เคยใช้ชีวิตสบายๆ เรียนง่ายๆไปวันๆกับเพื่อนฝูง ต้องมาเปลี่ยนปุบปับกับการต้องมีวินัย ต้องบังคับตนเองในการจัดการกับภาระงานรอบตัว เข้าใจความรู้สึกครับ แต่ก็ขอให้สู้ และอดทน ค่อยๆเรียนรู้และปรับตัวไป ถ้าเริ่มชินเดี๋ยวทุกอย่างมันก็ง่าย....ยกตัวอย่าง กับชีวิตที่มีพ่อแม่หาเงินมาให้เราขอ ให้เราใช้ แล้ววันนึงพ่อแม่กลับมาตายจากไป เราก็ต้องปรับตัว
16 ก.ย 2564 เวลา 10.49 น.
เฮียโก้ No.33
บางทีการที่เราเคี่ยวเข็ญลูกมากๆ มันก็ทำให้เด็กเครียดนะ เอาแต่พอดี อะไรที่มากเกินควรมันก็ส่งผลเสียนะ
16 ก.ย 2564 เวลา 10.32 น.
˗ˏˋJAMES🧸´ˎ˗
เคยนอนไม่ค่อยหลับคิดเรื่องตายๆอยู่ตลอดเวลาทำให้รู้สึกเหมือนพลังมันไม่เต็ม100ในทุกวันที่ตื่นขึ้นมา จะทำอะไรก็รู้สึกทำได้ไม่เต็ม100 ….. เลยไปปรึกษาจิตแพทย์ก็ดีขึ้น หมอเขาบอกเราแค่ป่วยสมองสร้างสารบางอย่างมากเกินปกติ ซึ่งเราไม่ผิดเราแค่ป่วย เราเลยสบายใจนึกว่าเรามีปัญหาอะไร🤤🥰 รู้สึกแย่ๆติดๆกันนานๆอย่าลืมไปปรึกษาจิตแพทย์กันนะครับ💕
16 ก.ย 2564 เวลา 12.39 น.
Rod-Jeep
ข่าวมีประโยชน์.. นานๆเจอครับ
16 ก.ย 2564 เวลา 14.11 น.
Pitchaya
ล่าสุดลูกสาวบ่นว่าหนูไม่อยากเกิดมาเลย หนูใกล้จะตายหรือยัง เด็กอายุ 6 ปี
16 ก.ย 2564 เวลา 09.04 น.
ดูทั้งหมด