โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แตกต่าง แต่ได้ 'ธรรมะ' เหมือนกัน! รู้จัก 4 นักบวชคนสำคัญ กับวิธีเผยแผ่ศาสนาไม่เหมือนใคร

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 08 ก.ย 2564 เวลา 18.05 น. • AJ.
ภาพจาก IG @yochanting และ Samantha Borges | unsplash.com
ภาพจาก IG @yochanting และ Samantha Borges | unsplash.com

วิวัฒนาการของการเผยแผ่ศาสนาพุทธ ตั้งแต่ยุคเผยแผ่คำสอน มาถึงพระไตรปิฎก ยาวจนถึงการเทศน์ออนไลน์ อย่างวิธีของ 'พระมหาไพรวัลย์' และ 'พระมหาสมปอง' ที่กำลังเป็นที่สนใจของคนในสังคม ถูกปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และปรับแต่งให้เข้ากับยุคสมัยมาหลายต่อหลายครั้ง

และไม่เพียง พ.ส.สองรูปนี้ที่เลือกใช้อารมณ์ขันสอดแทรกให้การเทศน์กลายเป็นเรื่อง 'ย่อยง่าย' และเป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่ แต่นักบวชหลายท่านก็มีวิธีในการเผยแผ่ศาสนา หลักการคำสอน ไปจนถึงพระธรรมที่ 'สดใหม่' จนอาจก่อให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันมานักต่อนัก

เพราะเราต่างรู้ว่า 'พระพุทธศาสนา' และหลักธรรมคำสอน ต่างก็เป็นหัวข้อแสนสำคัญที่แต่ละคนต่างก็ตีความต่างกันไป แต่ก็เป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่ต้องเปิดใจ และทำความเข้าใจใน 'ธรรมะ' ที่บางครั้งก็ไม่ได้มาในรูปของหนังสือสวดมนต์หรือตำราคำสอนแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว

ลองเปิดใจให้กว้าง แล้วมาศึกษา 'ธรรมะ' ในรูปแบบที่แตกต่างจากนักบวชเหล่านี้ไปพร้อมๆ กันได้เลย!

เกียวเซ็ง อาซะคุระ พระญี่ปุ่นที่ใช้แสงสีและดนตรีเทคโน ชวนวัยรุ่นเข้าวัด

เริ่มกันที่นักบวชชาวญี่ปุ่นที่เคยเป็นไวรัลเมื่อไม่กี่ปีก่อน เกียวเซ็ง อาซะคุระ เจ้าอาวาสรุ่นที่ 17 ของวัดโชออนจิ จากเมืองฟุคุอิ ที่เป็นทายาทเจ้าอาวาสรุ่นก่อน เดิมทีเจ้าตัวไม่ได้มีความสนใจจะสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสจากครอบครัว และได้เริ่มทำอาชีพ 'ดีเจ' ตอนเป็นวัยรุ่น

แต่เมื่อสังเกตว่าวัดของตระกูลเริ่มมีผู้ศรัทธามากราบไหว้น้อยลงเรื่อยๆ เขาจึงเริ่มผสมผสานไอเดียของการนำดนตรีอิเล็กทรอนิกส์กับการเทศน์ กลายเป็นการจัดตั้งเซ็ตดีเจในวัด แถมยังมีการจัดแสงสีนีออนตลอดการแสดงธรรมะ

หลวงพี่เกียวเซ็นให้ความเห็นว่าหลักการของพุทธ คือ 'ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงเสมอ' ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาหากหลักสูตรหรือการสอนธรรมะจะเปลี่ยนไปด้วย การตกแต่งแสงสีที่มีมานานก็เช่นกัน จากเดิมที่ตกแต่งด้วยเครื่องประดับสีทอง หลวงพี่ก็เปลี่ยนเป็นแสงเลเซอร์และซีจีล้ำๆ แทน

เมื่อหลักการสอนเปลี่ยนไป กลุ่มผู้ศรัทธาก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีเพียงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเข้ามากราบไหว้และฟังธรรม แต่เมื่อมีการเทศน์แบบเทคโนเพิ่มเข้ามา วัยรุ่นหนุ่มสาวก็เริ่มเข้าวัดมากขึ้น

เซ็ตดีเจของหลวงพี่เกียวเซ็ง อาซะคุระ

โยเก็ตสึ อาคาซะกะ เผยแผ่คำสอนผ่านบีตบอกซ์

โยเก็ตสึ อาคาซะกะ นักบวชนิกายเซ็นท่านนี้ก็เลือกใช้ดนตรีมาผสมผสานกับธรรมะเช่นกัน โดยในคลิปวิดีโอชื่อ'Heart Sutra Remix' หรือแปลเป็นไทยว่า 'ปรัชญาปารมิตาพระสูตร ฉบับรีมิกซ์' ที่ปัจจุบันมียอดเข้าชมเกิน 3 ล้านวิวแล้ว

View this post on Instagram

A post shared by Yogetsu Akasaka-赤坂陽月- (@yochanting)

ในคลิปวิดีโอปรากฏภาพหลวงพี่ท่านนี้ถือไมค์ กับเซ็ตเครื่องดนตรีแปลกตา บนพื้นหลังสีขาว กำลังสร้างเสียงเพลงที่ทั้งผ่อนคลายแต่ก็ฟังคล้ายเสียงสวดมนต์ โดยทั้งหมดนั้นหลวงพี่โยเก็ตสึสร้างขึ้นมาด้วยเสียงสวดมนต์ของตัวเอง โดยใช้เทคนิคคล้ายการ 'บีตบอกซ์' แต่มีเครื่องลูปเป็นลูกมือ

โดย 'หลักปรัชญาปารมิตาพระสูตร' หรือ 'หฤทัยสูตร' นี้ มีใจความสำคัญคือ การบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์องค์สำคัญของพุทธนิกายมหายาน) พิจารณาว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนว่างเปล่า และต่างประกอบด้วยขันธ์ 5 คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หากพิจารณาเห็นความว่างเปล่านี้ความยึดมั่นถือมั่นจะหายไปละเกิดความกรุณาในสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมาแทน

หลวงพี่โยเก็ตสึเดิมทีเป็นวัยรุ่นที่มีใจรักเสียงดนตรีคนหนึ่ง แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณพ่อที่บวชเป็นพระก่อน ท่านจึงบวชเป็นพระด้วยเมื่อราว 5 ปีที่แล้ว โดยมีแนวคิดว่าชาวญี่ปุ่นส่วนมากมักมีความคิดว่าพุทธศาสนาหรือหลักคำสอนเป็นเรื่องชวนหดหู่ หรือจะคิดถึงก็ต่อเมื่อไปงานศพเท่านั้น แต่สำหรับหลวงพี่โยเก็ตสึ 'ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่พูดถึงการดำรงอยู่อย่างสงบสุข' และหฤทัยสูตรก็เป็นหลักคำสอนสำคัญที่เยียวยาหัวใจพุทธศาสนิกชนได้อย่างดีเยี่ยม

อ่านเพิ่มเติม : จะเป็นยังไงนะ? เมื่อบทสวดหฤทัยสูตรถูกนำมา Remix ใหม่โดยพระสงฆ์ญี่ปุ่น

พระสูตรเวอร์ชั่นฟังเพลิน

องค์ดาไลลามะ ใช้แอปฯ และเทคโนโลยีเข้าถึงผู้ศรัทธา

ดนตรีกับศาสนาอาจเป็นเรื่องที่ตัดกันไม่ขาด เพราะแม้กระทั่ง 'องค์ดาไลลามะที่ 14 เทนชิน เกียตโซ' ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตก็เคยปล่อยอัลบั้ม 'Inner World' เนื่องในวาระครบรอบอายุ 85 ปีของท่าน เป็นรวมดนตรีกับคำพูดและบทสวดที่ท่านโปรดปราน โดยมีสองสามีภรรยาชาวนิวซีแลนด์เป็นผู้แต่งและเรียบเรียง โดยมีแนวคิดว่าดนตรีสามารถบรรเทาชีวิตของผู้คนในแบบที่ท่านทำไม่ได้ และเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความแตกต่างทั้งปวง

นอกจากนี้องค์ดาไลลามะยังมีแอปพลิเคชันชื่อ 'Dalai Lama' สำหรับผู้ติดตามและผู้ศรัทธา ได้รับรู้ข่าวสาร ข้อมูล คำสอน โดยมีทั้งคู่มือ หลักสูตรการฝึกจิต รวมไปถึงสตรีมมิ่งการเทศน์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทุกที่ทุกเวลา

องค์ดาไลลามะทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้นำศาสนาคนสำคัญของโลกที่สอนให้ละเว้นความรุนแรง และให้ยอมรับศาสนาอื่น ทั้งยังเคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ. 1989 อีกด้วย

View this post on Instagram

A post shared by Dalai Lama (@dalailama)

พุทธทาสภิกขุ พระภิกษุที่สะกิด ให้เราคิดถึงหลักการที่หลายคนไม่กล้าพูด

ในไทยเอง พระภิกษุชื่อดังที่เป็นแนวทางพุทธให้พุทธศาสนิกชนจำนวนมากก็เคยถูกกังขาจากการแสดงความเห็นต่อการนับถือศาสนา เมื่อท่าน 'พุทธทาสภิกขุ' (พระธรรมโกศาจารย์) ตีพิมพ์หนังสือปาฐกถาธรรมประวัติศาสตร์ชื่อ'ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม' โดยมีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ถ้าถามว่าอะไรเป็นเครื่องปิดบังพระนิพพานอันเป็นตัวพุทธธรรมที่เราประสงค์จะเข้าถึงแล้ว เราจะพบคำตอบว่า “พระพุทธเจ้า” นั่นเอง กลับมาเป็นภูเขามหึมาบังพระนิพพาน…

…ซึ่งถ้ากล่าวให้สั้นๆ ตรงๆ ที่สุด ก็กล่าวว่าท่านทั้งหลายเข้าไม่ถึงพุทธธรรมก็เพราะว่า “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน” ขวางหน้าท่านอยู่"

เนื้อความในหนังสือตอนนี้ถูกนำมาตีความและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงขั้นยื่นหนังสือฟ้องร้องถึงรัฐบาลและสมเด็จพระสังฆราชในเวลานั้น ท่านพุทธทาสภิกขุในตอนนั้นถึงกับโดนกล่าวหาว่า รับจ้าง 'คอมมิวนิสต์' เพื่อทำลายศาสนาเลยทีเดียว เนื่องจากในช่วงเวลานั้นกระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในไทยค่อนข้างแพร่หลาย สุดท้ายแล้วตัวท่านพุทธทาสเองก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรกับการโจมตีดังกล่าว

แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง นักเขียน และนักคิดหลายคนก็ออกตัวชื่นชมเนื้อหาและใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งภายหลังท่านพุทธทาสยังได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโก (UNESCO) เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี พ.ศ. 2538 อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : museumthailand.com / เมื่อท่านพุทธทาสถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

View this post on Instagram

A post shared by Buddhadasa Indapanno Archives (@suanmokkh_bangkok)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะถูกกังขาและตั้งข้อครหาบ้าง แต่ความกล้าแบบพุทธทาสภิกขุ ไอเดียแปลกใหม่ของพระญี่ปุ่นในการดึงดูดคนให้เข้าวัด และเจตนาขององค์ดาไลลามะที่ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงธรรมะโดยง่ายและเป็นธรรมชาติ ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการมาของ 'เทคโนโลยี' ที่อาจเปลี่ยนรูปแบบของการเข้าถึงธรรมะไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับผู้รับสาร ว่าจะเก็บเกี่ยว 'เนื้อแท้' ของธรรมะได้มากน้อยเพียงใด

เหมือนที่องค์ดาไลลามะเคยพูดถึงผลกระทบของเทคโนโลยีไว้อย่างน่าสนใจว่า "ผลกระทบของเทคโนโลยีมีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ใช้งานอย่างเรา ที่ต้องไม่ตกเป็นทาสของมัน แต่ต้องใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุด"

"Whether technology's effect is good or bad depends on the user. It's important that we shouldn't be slaves to technology; it should help us."

อ้างอิง :

bbc.com

museumthailand.com

openculture.com

thestandard.co

vice.com

wthr.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 101

  • Suchaya
    พุทธวจน คำสอนจากพระโอษฐ์เท่านั้นที่ถูกต้อง ตรงตามจริง เป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครคัดง้างได้ เป็นอกาลิโก ไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา หาฟังดูนะคะ พุทธวจนเท่านั้นค่ะ จึงจะเป็นการบอกทางที่ถูกต้องแก่คนหลงทาง เปิดธรรมที่ถูกปิด หงายของที่คว่ำ นำมาซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมค่ะ
    16 ก.ย 2565 เวลา 08.28 น.
  • Reem
    เมื่อไรจะเลิกพูดถึงหมา 2 ตัวนี้ เบื่อมาก
    12 ก.ย 2564 เวลา 09.31 น.
  • Dr. P's
    เหลือบผ้าเหลือง
    12 ก.ย 2564 เวลา 09.25 น.
  • ปุ้ม
    ยกตัวอย่างแล้วคุณ ก็ว่าต่อบางศาสนา เขามีเมียใด้ เขาพูดเริอง การแสดงออกทีไม่เหมาะสม
    12 ก.ย 2564 เวลา 07.38 น.
  • Cheetah T.
    แตกต่างไม่ได้ครับ ถ้าเป็นพุทธศาสนา ของตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นหนึ่งเดียวมีศาสดาพระองค์เดียว สาวกในธรรมวินัย ต้องเอาคำของพระองค์ มาถ่ายทอด เอาธรรมะของพระองค์เท่านั้นมาสอน ไม่ต้องมาเพิ่มเติม หรือตัดทอน ธรรม คำสอนของพระองค์ เพราะธรรมะ ของพระองค์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พยัญชนะ งดงามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เป็นอกาลิโก ใช้ได้ตลอดกาล ไม่จำกัดกาล ไม่ต้องมีสวกคนใดมาอธิบายเพิ่ม ที่มันหลากหลายเพราะสาวก ไม่ฟัง ไม่สอนธรรมะของพระองค์ เอาแต่คำตัวเองบัญญัติเอง ขึ้นมาใหม่
    12 ก.ย 2564 เวลา 02.35 น.
ดูทั้งหมด