โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เกมน่ะหรือคือผู้ร้าย? สำรวจ 5 ข้อดีของเกม ที่ทำให้เราอัปเลเวลในชีวิตจริง

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 01 ก.ย 2564 เวลา 18.30 น. • AJ.
Photo by Florian Gagnepain on Unsplash
Photo by Florian Gagnepain on Unsplash

เมื่อวันที่ 30 สิงหาฯ ที่ผ่านมา ประเทศจีนเพิ่งตั้งกฎเหล็กข้อใหม่ให้เหล่าเยาวชนนักเล่นเกม

โดยกำหนดให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมออนไลน์ได้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง หลังมีกระแสความกังวลว่าเยาวชนจีนส่วนมากกำลังติดเกมอย่างหนัก สื่อหลายสำนักของจีนถึงกับเปรียบเทียบว่าเกมนั้นคือ 'ยาเสพติด' ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ทั่วโลกนำคำถามสุดคลาสสิกกลับมาถกเถียงกันอีกครั้ง

คำถามที่ว่านั้นคือ 'เกมคือตัวร้ายจริงๆ หรือ?'

สำหรับเหล่าเกมเมอร์ บทสนทนานี้คงชวนให้เบะปากพลางส่ายหัว เพราะนักเล่นเกมหลายคนได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าการเล่นเกมช่วยพัฒนะทักษะหลายๆ ด้าน ทั้งยังมีอาชีพ 'นักแข่งอีสปอร์ต' หรือ'นักสตรีมเกม' ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้วัยรุ่นเจนใหม่ได้เรียนรู้ว่าการเล่นเกมก็สามารถพาเราไปได้ไกลกว่าที่คิด

ในบทความนี้ เราขอชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับ 'เกม' มาร่วมเปิดใจสำรวจอีกมุมหนึ่งว่าเจ้าเกมตัวร้ายที่หลายคนต่างหวาดกลัวและมักเก็บให้พ้นมือลูกหลานนั้น จะช่วยให้มนุษย์ฉลาดขึ้นได้ยังไง?

แน่นอนว่าเกมทุกเกมไม่สามารถทำให้ทุกคนฉลาดขึ้นได้ทันใจ แต่ผู้เล่นต้องเลือกเล่นเกมให้ตรงกับจุดอ่อนที่อยากสร้างเสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เกมบางเกมทำให้ผู้เล่นมีสมาธิขึ้น ตัดสินใจว่องไวขึ้น สามารถแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมที่กดดันได้ พัฒนาความจำและการเรียนรู้ ทั้งยังช่วยพัฒนาความสามารถในการเข้าสังคมสำหรับผู้เล่นบางเกมด้วย เหล่านี้คือเกมที่ช่วยส่งเสริมทักษะทางปัญญา ใน 5 ทักษะสำคัญที่นำไปใช้ได้ในชีวิตจริง!

1.พัฒนาทักษะการเข้าสังคม

ลองเล่น Pokemon Go! หรือเกมออนไลน์ อย่าง World of Warcraft

เกมเมอร์ทั้งหลายน่าจะจำช่วงเวลาแสนสุขตอนที่ Pokemon Go! เกมมือถือยอดฮิตเปิดตัวครั้งแรกได้ ตอนนั้นมีปรากฎการณ์ 'ออกไปจับโปเกมอน' ที่ทำให้ใครหลายๆ คนมีสังคมเล็กๆ สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำกิจกรรมอย่าง 'ตียิม' ด้วยกัน นอกจากนี้เกมประเภท MMORPG หรือ Massive multiplayers online role-playing games บางเกมอย่าง World of Warcraft อันโด่งดังก็อาศัยความมุ่งมั่นและจริงจังให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เล่นคนอื่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือภารกิจที่ผู้เล่นแต่ละคนต้องการ

Photo by David Grandmougin on Unsplash
Photo by David Grandmougin on Unsplash

2.พัฒนาสมาธิ

ลองเล่นเกม Counter Strike

แม้ 'เคาท์เตอร์ฯ' จะมีชื่อเสียงเป็น 'เกมยิงปืน' ชื่อดังในหมู่ชาวไทย แต่ทราบไหมว่าเกมนี้ช่วยฝึกจิตให้ผู้เล่นมี 'ความสามารถในการตัดสิ่งรบกวน' ออกได้เมื่อจำเป็น ด้วยลักษณะของเกมที่เหมือนได้ทำภารกิจสำคัญตลอดเวลา

มีผลวิจัยของ National Center of Biotechnology Information ที่นำผู้เล่นเกมเคาท์เตอร์ สไตรค์ และเกมแนวแอคชั่นอื่นๆ ไปสแกนสมองเทียบกับคนไม่เล่นเกม และพบว่าสมองของผู้เล่นเหล่านี้สามารถจัดระบบความคิดได้ดี สามารถตัดสิ่งรบกวนออกเมื่อต้องทำกิจกรรมบางอย่างอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้เล่นเกม

3.พัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ลองเล่น The Sims

ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องนามธรรม แต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ เคยมีผลวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Computers in Human Behavior ที่บ่งบอกชัดเจนว่าเกมเกือบทุกประเภท (ไม่รวมเกมแข่งรถ) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะทางด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเกมในซีรีส์ The Sims เกมสร้างบ้านยอดฮิตที่เกมเมอร์ทุกคนน่าจะเคยสัมผัส เป็นเกมที่ช่วยอัปเลเวลความบรรเจิดในการออกแบบและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่สุดแล้ว

4.พัฒนาความจำ

ลองเล่น Call of Duty

หลายคนอาจคิดว่าถ้าอยากเติมความเทพให้สมองส่วนการจดจำ ควรเล่นเกมที่ต้องท่องจำหรือมีแผนที่ใหญ่โตให้ผจญภัย แต่ในความเป็นจริง การเล่นเกมแอคชั่นอย่าง Call of Duty กลับช่วยให้ผู้เล่นมีความจำดีกว่าในชีวิตจริง เพราะเป็นการบริหารสมองแบบบังคับให้ผู้เล่นโฟกัสในภารกิจที่ได้รับ

Photo by AronPW on Unsplash
Photo by AronPW on Unsplash

5.พัฒนาจิตใจ จัดการความวิตกกังวล

ลองเล่น Bejeweled

ไม่ใช่ทุกเกมที่ต้องใช้ปืน หรือทักษะในการเล่นเกมสูงถึงจะพัฒนาสมองเราได้ เกมแก้ไขปริศนาง่ายๆ อย่าง 'เกมเพชร' หรือ Bejeweled ที่มีหน้าตาแสนเรียบง่าย มองปราดเดียวก็รู้ว่าต้องเล่นยังไง ทั้งยังใช้เวลาไม่นานต่อหนึ่งตา สามารถลดความเครียดของผู้เล่นได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาวิดีโอเกมทั่วไป

อย่าเพิ่งเข้าใจผิด! ชอบเล่นเกม ไม่เท่ากับ เสพติดการเล่นเกม

มนุษย์เรารู้จักการเล่นเกมตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แม้ไม่มีเครื่องเล่นเกม แต่การแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นเกมแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อการเล่นกลายเป็นการเสพติด จนถึงหมกมุ่น เมื่อนั้นเกมจะกลายเป็นตัวร้ายทันที

ดังนั้นทั้งผู้เล่น และคนใกล้ชิดต้องคอยสังเกตว่าไม่ได้กำลังใช้เวลาบนหน้าจอมากเกินไปในแต่ละวัน หรือติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานานๆ ไม่ได้เล่นเกมเพื่อหลีกหนีความรับผิดชอบบางอย่าง และที่สำคัญคือไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมายหรือศีลธรรมเพราะต้องการเอาชนะเกมใดเกมหนึ่ง

ที่สำคัญคือผู้เล่นต้องอย่าลืมว่า 'เราต่างหากที่เป็นผู้เล่นเกม ไม่ใช่เกมที่เป็นฝ่ายเล่นงานเรา'

อ้างอิง

khaosod.co.th

neuropeakpro.com

wired.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0