ในช่วงวันหยุดปีใหม่หมอได้มีเวลาทบทวนเรื่องราวของปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องชีวิต สุขภาพและงาน โดยเฉพาะเคสคนไข้ที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งการไปเป็นวิทยากรในที่ต่างๆ หมอพบว่ามีความสอดคล้องกับสถิติของทั่วประเทศโดยรวม เลยอยากจะเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับสามอันดับปัญหาสุขภาพจิตที่มาแรงในปี 2019 และมีแนวโน้มจะมาแรงมากขึ้นในปี 2020 แล้วเราจะพอมีทางสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดได้อย่างไรกันบ้าง เพื่อให้รู้และรับมือได้ก่อน
1.โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) มาเป็นอันดับหนึ่งแบบไม่ต้องเดา
จากสถิติ WHO มีผู้ป่วย 350 ล้านคนทั่วโลก และในไทยพบว่ามีประมาณ 1.5 ล้านคนที่สำรวจและมาพบแพทย์ ยังไม่นับนอกระบบและเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โรคซึมเศร้ามีแบบเรื้อรังและไม่เรื้อรัง ผู้ที่จะวินิจฉัยได้แน่ชัด คือจิตแพทย์ แต่เราก็สามารถสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดเบื้องต้นก่อนได้ จากการสังเกตว่าอารมณ์ ความคิดที่มีต่อตัวเองเปลี่ยนไปไหม เช่น เคยเป็นคนมองบวกง่าย แต่ตอนนี้ทุกอย่างลบไปหมด มีความเศร้าซึมแบบที่ควบคุมตัวเองได้ยาก มีความสุขยากขึ้นกว่าเดิม และความสุขเริ่มไม่ได้เกิดจากการเติมเต็มความต้องการแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้วก็ยังไม่มีความสุขอย่างที่เคยเป็น หรือลองจินตนาการว่าหากสิ่งที่ทำให้ทุกข์ใจหายไปความรู้สึกเศร้าจะดีขึ้นไหม? ถ้าคำตอบคือไม่ดีขึ้นเลย และมีอาการเช่นนี้เกิดนานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไปโดยมีช่วงที่อารมณ์เป็นปกติน้อยมาก สัญญาณนี้บ่งบอกว่า ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา เพราะเราอาจจะอยู่ช่วงท้ายของภาวะเครียดสะสม และช่วงแรกของอาการซึมเศร้า การรีบรักษาในช่วงจังหวะนี้จะทำให้เรากลับมาเป็นปกติได้เร็วและง่ายกว่าการปล่อยให้มีอาการซึมเศร้าแบบเต็มขั้น
2. โรควิตกกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder)
เคยไหมคะ ที่เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องสื่อสารกับคนแปลกหน้า ต้องพูดคุยกับคนกลุ่มใหญ่ หรือการเข้าไปอยู่ในงานที่มีคนเยอะๆ ทำให้คุณเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ประหม่า กลัวว่าผู้คนจะมองว่าตัวเองดีหรือไม่ดี จนมีอาการผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น หน้าแดง เหงื่อออก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ สุดท้ายทำให้เกิดอาการหลีกเลี่ยง ไม่อยากออกไปพบปะผู้คนหรือปฎิสัมพันธ์กับใคร ๆ ทั้งที่ใจจริงก็ยังอยากเข้าสังคม
( อันนี้เป็นจุดที่แตกต่างระหว่าง Social Anxiety และ introvert)
สาเหตุที่ผู้คนมีแนวโน้มในการมีปัญหาเรื่องความกังวลต่อการเข้าสังคมมากขึ้นเพราะ
1.ลักษณะการสื่อสารในชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไป เราสื่อสารกันผ่านทางเทคโนโลยีมากขึ้น จ้องมือถือมากขึ้น มองเห็นแววตาของกันและกันน้อยลง ทำให้เราสูญเสียพื้นที่สำคัญของชีวิตที่จะฝึกในเรื่องการสื่อสารโดยไม่รู้ตัว
2. เราทำลายความมั่นใจของกันและกันได้ง่ายขึ้น ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ กลั่นแกล้งกันอย่างไร้ขีดจำกัด( cyber bully)
ดังนั้นหากวันนี้เรายังไม่มีสภาวะวิตกกังวลต่อการเข้าสังคม การเลือกรับข้อมูลทางโซเชียลมีเดียและคงการปฏิสัมพันธ์ด้วยการสื่อสารกันโดยตรง จะทำให้สมองของเรายืดหยุ่นกับการรับความเครียด หากวันหนึ่งเราเกิดความเครียดจากการเข้าสังคม
3.การฆ่าตัวตาย (Suicide) ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO บอกว่ามีคนฆ่าตัวตายปีละ 800,000 คน หรือทุก 40 วินาที ในประเทศไทย ปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยรวมทุกกลุ่มอายุ อยู่ที่ 6 รายต่อชั่วโมง อัตราเฉลี่ยเฉลี่ย 9.55 นาที พยายามฆ่าตัวตาย 1 คน 2 ชม. ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน คนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จนั้นมีแนวโน้นที่จะพยายามกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก
สาเหตุ ที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ย่อมมีมากมายหลายสาเหตุผลแตกต่างกัน และโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้เท่ากับฆ่าตัวตาย แต่หัวใจสำคัญของการฆ่าตัวตายคือ การหนีออกไปจากสภาวะของความรู้สึกหมดหนทาง ไม่มีทางออกของความทุกข์ในขณะนั้น
ดังนั้นหากวันหนึ่งคนใกล้ตัวเราเดินเข้ามาบอกว่า “อยากฆ่าตัวตาย” สิ่งที่เราพอทำได้คือ จัดการความตกใจของตัวเราเอง โอบกอดเขาด้วยความรัก ถามไถ่ถึงความทุกข์ แล้วรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะการที่ได้ระบายให้ใครบางคนที่ตั้งใจฟัง จะเป็นทางออกของความทุกข์ใจที่เขาเก็บไว้ ความคิดอยากฆ่าตัวตายในขณะนั้นจะเบาบางลงในทันที ก่อนที่เราจะพาเขามาพบแพทย์
หลายต่อหลายครั้งหมอจะได้ยินคำว่า “ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเกิดกับเรา ไม่คิดว่าจะเกิดกับครอบครัวของเรา” เพราะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราเท่าไร เรายิ่งมองเห็นสิ่งนั้นยาก เรื่องของจิตใจก็เช่นกัน ถ้าเราไม่ตั้งใจที่จะมองเราก็อาจจะมองไม่เห็น เรื่องของสุขภาพจิตอาจเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดนะคะ
--
ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY
ความเห็น 16
Yongyuth
เศร้าใจ เป็นอารมณ์ผิดปกติ ที่เป็นกิเลส ประเภทปฏิฆะ หรือความไม่พอใจ นั่นเอง มันคือสังโยชน์เบื้องต่ำ ข้อที่ 5 ซึ่งจะ ตรงข้ามกับสังโยชน์ข้อที่ 4 ที่ชื่อว่าราคะ สังโยชน์ ที่เป็นกิเลสประเภท ความชอบใจจนเกินพอดี จนทำให้ ใจหลงเข้าไป ยึดมั่นถือมั่น เพราะมีความอยากจนเกินพอดี กิเลส ที่ทำให้ เรามาคิดลบ หรือเศร้าใจ จะทุเลาเบาบางลงไป ก็เพราะใจมีสติ มารู้เนื้อรู้ตัว และมีสติเห็นความคิด ลบ อันนี้ สมควรที่จะละ ด้วยปัญญา เรียกว่า ใช้สติ จับให้มั่น ใช้ปัญญา ฟันไม่เลี้ยง ให้อารมณ์เศร้า ดับสูญสิ้นไป
20 ม.ค. 2563 เวลา 20.05 น.
ค่าาบผมนะ
16 ม.ค. 2563 เวลา 16.24 น.
ค่าาบผมนะ
16 ม.ค. 2563 เวลา 16.23 น.
ค่าาบผม
16 ม.ค. 2563 เวลา 16.23 น.
♡♡แค่โสด♡ ♡แค่โสด♡♡
😍
16 ม.ค. 2563 เวลา 13.07 น.
ดูทั้งหมด