โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

4 Key พิชิตใจผู้สูงวัยในบ้าน - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 08 ม.ค. 2563 เวลา 08.00 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมีการเปิดเผยว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete aged society) เนื่องจากประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574   ประเทศไทยจะเข้าสู่   “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super aged society) เพราะประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่เด็กเกิดน้อยลง 

 โครสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรนี้ หากมองเพียงภาพภายนอก เราอาจจะมองว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการที่มีคนในวัยทำงานน้อยลงเท่านั้น แต่ในอีกมุมเล็กๆ แต่ลึกมากขึ้นในห้องตรวจของหมอกลับพบว่า คนในวัยทำงานหลายคนนอกจากจะทำงานหนักขึ้นแล้ว สิ่งที่หนักกว่านั้นคือการเป็นรุ่นที่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างผู้สูงอายุในบ้าน (Baby Boomer) กับลูกๆ ที่อยู่ในบ้าน (X,Alpha) การคอยประนีประนอมคุณตาคุณยายในบ้านว่ายาก

การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงวัยในบ้านก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานมากเช่นกัน หากเราไม่เข้าถึงหัวใจสำคัญ ที่จะพิชิตหัวใจผู้สูงวัยในบ้านของเรา

“พี่ทำเท่าไรถึงจะพอคะหมอ” ถ้อยคำที่เอ่ยขึ้นมาจากความท้อแท้ ปนเสียใจของลูกสาววัย 40 คนหนึ่ง

เธอพาคุณพ่อมาพบแพทย์ด้วยรู้สึกว่าพ่อพูดบ่นว่าอยากตายบ่อยครั้ง คุณพ่อของเธออายุ 79 ปีเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่

มีคนงานมากมาย เป็นผู้นำของบ้านและธุรกิจมาโดยตลอด บุคลิกเดิมเป็นคนใจร้อน เสียงดังและเด็ดขาด และไม่ค่อยได้อยู่บ้าน วันหนึ่งเกิดล้มป่วยกะทันหันด้วยโรคไตและมะเร็งในต่อมน้ำเหลือ นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานเกือบปี

หลังเฉียดชีวิตความตาย พ่อของเธอก็ทำงานไม่ได้จากที่เคยทำ ต้องอยู่บ้านจากไม่ค่อยอยู่ ร่างกายแม้ฟื้นกับการเจ็บป่วยแต่ก็ไม่ได้คล่องแคล่วดังเดิม ทานอาหารไม่อร่อยเหมือนเดิม นอนไม่หลับเหมือนเดิม จึงพอเข้าใจได้ว่าเพราะอะไรคุณตาจึงเอ่ยว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นคำที่สะเทือนใจของคนเป็นลูกที่คอยดูแล

อ่านมาถึงตรงนี้ เราคิดว่าผู้สูงวัยท่านนี้ต้องสูญเสียอะไรบ้างคะ? (ลองคิดในใจกันก่อนนะ)

คิดแล้วขอเฉลยไปพร้อมกับสิ่งที่เราควรฝึกไว้หากอยากพิชิตใจผู้สูงวัยในบ้านของเรา

1.สูญเสียการเป็นผู้นำ : พ่อแม่วัยเบบี้บูม คือวัยที่มีความเชื่อว่าพ่อแม่คือผู้นำ คือคนที่ต้องดูแลปกป้องคนในบ้าน ด้วยการวางกรอบ กฎระเบียบเพื่อให้ลูกๆได้ดี “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” คือคติประจำใจ

สิ่งที่คุ้นเคยคือการออกคำสั่งกับลูก เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพบทบาทของลูกกับพ่อแม่จึงกลับกัน ลูกเริ่มต้องเป็นคนดูแลและออกคำสั่ง สภาวะการสูญเสียความเป็นผู้นำนี้จะรุนแรงมากในผู้สูงวัยที่เป็นผู้นำครอบครัวมาตลอด

การรับมือ คือ การมอบอิสระ : ให้อิสระในการพูด คิด ตัดสินใจ ในเรื่องที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ลูกเองไม่เบียดเบียนตัวเองจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น พ่อเป็นเบาหวานแต่อยากทานขนม ถ้าขนมนั้นไม่ได้น้ำตาลสูงขนาดทานเดี๋ยวนั้นแล้วจะช็อก เราสามารถบอกความรู้สึกได้ว่า “พ่อหนูไม่ได้อยากให้ทานนะคะแต่รู้ว่าเป็นความสุขของพ่อ หนูเลยไม่ห้ามขอให้พ่อตัดสินใจเอง” การให้พ่อเลือกแทนการห้ามด้วยความเป็นห่วง จะทำให้คุณพ่อไม่รู้สึกสูญเสียความเป็นผู้นำไปแต่เข้าใจว่าลูกรัก

2.สูญเสียความมั่นใจและการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง : จากเคยรู้สึกมีคุณค่าที่ได้ทำงานดูแลครอบครัว วันนี้ต้องให้คนในครอบครัวมาดูแล แน่นอนว่าผู้สูงวัยที่บ้านก็มักจะเกิดคำถามในใจตัวเองว่า “ฉันเป็นภาระมั้ย?” “ลูกเต็มใจดูแลมั้ย?”

แล้วสิ่งที่ผู้สูงวัยจะเฝ้าสังเกตคือ ลูกฟังเขาอยู่ไหม? ใส่ใจในคำพูดเขาไหม?

การรับมือ คือ รับฟัง : ฟังโดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องตัดสินว่าความคิดนี้ผิดหรือถูก ฟังโดยไม่ต้องเข้าใจทั้งหมด แต่มีท่าทีว่าลูกยังฟัง เพราะการฟังคือการแสดงออกให้เห็นว่าเรานั้นยังใส่ใจแม้ว่าหลายเรื่องก็ไม่ควรเอาใจไปใส่ก็ตาม

3.สูญเสียกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่ายังมีความสุขกับชีวิต : ออกไปเที่ยวเองตามใจก็ไม่ได้ เคยมีความสุขกับการทานอาหารอร่อยก็เริ่มทานไม่อร่อย เคยมีความสุขกับการนอนก็นอนได้น้อย เคยมีความสุขกับการออกกำลังกายก็เคลื่อนไหวได้ช้า

การรับมือ คือ มอบการกอด เพราะการกอดเป็นภาษารักที่เป็นรูปธรรมที่สุดลงทุนน้อย รู้สึกมาก สัมผัสได้ แม้ว่าบางบ้านอาจจะรู้สึกไม่เคยชิน เพราะตอนเราเด็กๆ พ่อแม่ทำแต่งานไม่เคยกอดทั้งที่เราต้องการ ในวันนี้ที่พ่อแม่กลายเป็นผู้สูงวัยอีกนัยยะคือการกลับไปมีสภาวะเหมือนเด็ก การกอดพ่อแม่ในวัยนี้จึงเป็นเหมือนมอบอาหารใจที่ทำให้ท่านมีความสุข

4.การสูญเสียความรัก : ความเสื่อมถอยของร่างกายทั้งภายในและภายนอกอาจทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ปรับตัวกับความเสื่อมถอยไม่ได้ มีความกังวลในเรื่องการจะถูกทอดทิ้ง จึงมักมีคำถามกับตัวเองว่า “ลูกยังรักมั้ย?” “ลูกคิดถึงบ้างมั้ย?”

และปรารถนาจะเห็นหน้า ปัญหานี้นอกจากลูกที่อยู่บ้านเดียวกันแล้ว กับลูกที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันก็จะเจอปัญหาน้อยใจได้

วิธีการรับมือ คือ ให้ได้เห็นหน้าหรือโทรหาแค่ได้ยินเสียง การที่ลูกยังมาทักให้เห็นหน้าก่อนไปทำงาน หลังกลับจากทำงานหรือโทรหาหากไม่มีโอกาสได้เจอกัน จะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าลูกยังคิดถึงและยังรัก แม้ว่าบางบ้านเมื่อลูกโทรหาคำแรกที่ทักคือ โทรมาทำไม! แต่เชื่อเถอะว่าถ้าเราไม่ขอยืมเงินแล้วบอกว่า “คิดถึง” ท่านจะดีใจมากๆ

 การเข้าใจความหมายของการสูญเสียในผู้สูงวัยแล้วให้การดูแลอย่างที่จิตใจต้องการ จะเหมือนกับการทำงานตามหลักของพาเรโต 20/80 คือการทำในสิ่งที่เป็นหัวใจของงาน 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี 80 เปอร์เซ็นต์

เพราะความรู้สึกสูญเสียและไม่มั่นใจในตัวเองของผู้สูงอายุ สามารถก่อกำเนิดปัญหาทางอารมณ์ความคิดและพฤติกรรมได้หลายร้อยแบบ หากผู้ดูแลจับหลักได้การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตอบคำถามที่ว่า “พี่ทำเท่าไรถึงจะพอคะหมอ”

ด้วยรักและปรารถนาดี

หมอเอิ้นพิยะดา Unlocking Happiness

www.earnpiyada.com

--------------------------------------------------

ทำไมปัญหาสุขภาพจิตจึงมีผลต่อธุรกิจในปี 2020

https://youtu.be/Pdu_tG1oMo8

--------------------------------------------------

Happy Diy ความสุขง่ายๆด้วยการสอนแต่งเพลง

https://youtu.be/mMo94JQpK0c

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 3

  • ผมคิดว่าในการยอมรับกับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมากับในวิถีของในการดำเนินชีวิตให้ได้แล้ว ก็สามารถที่จะไม่ทำให้เป็นทุกข์ เพราะเชื่อว่ายังไงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมานั้น ก็สามารถที่จะมีวิธีทางเพื่อที่จะแก้ไขเพื่อที่ให้เป็นไปในทางที่ดีและถูกต้องได้เสมอ.
    08 ม.ค. 2563 เวลา 11.39 น.
  • Patcharawalai
    เป็นบทความที่ดีค่ะ เพราะคุณมักจะไม่ใส่ใจถ้าวันนี้คุณยังไม่แก่ คุณจะไม่สำนึกเลยว่าการเป็นคนแก่จะต้องเจอกับอะไรบ้างทั้งภายในตัวเองและสิ่งรอบตัว ถ้าไม่ทำความเข้าใจในวันนี้เมื่อวันนึงคุณต้องแก่บ้าง จะรู้ก็สายไปต่อสิ่งที่คุณปฏิบัติกับคนแก่ที่เคยมีอยู่ในครอบครัวคุณ ใจท่านใจเราค่ะ แคร์ท่านให้มากๆ.
    15 ม.ค. 2563 เวลา 04.25 น.
  • So
    สมัยนานมาแล้ว จำไม่ได้ว่าเมื่อไร น่าจะหลายสิบปี เคยอ่านคอลัมภ์สุขภาพจิตของจิตแพทย์ท่านหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าป้าหมอ รู้สึกดีและอบอุ่นมากกับบทความที่ท่านเขียน แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าปรึกษาจิตแพทย์สาวคนหนึ่งในโรงพยาบาลของรัฐ กลับรู้สึกแย่มากกับจิตแพทย์คนนั้น เนื่องจากโดนเธอพูดทับถมซ้ำเติม แทนการพูดเยียวยาจิตใจที่ย่ำแย่ของเราให้รู้สึกดีขึ้น จึงไม่อยู่ต่อฟังคำพูดแย่ ๆ ของเธอ และลาขาดจากจิตแพทย์ตลอดกาล
    08 ม.ค. 2563 เวลา 17.32 น.
ดูทั้งหมด