โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แค่ไหนเรียกก๊อป? เข้าใจ 'การลอกงาน' และ 4 วิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เผลอ 'ก๊อป' ใคร

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 03 มี.ค. 2564 เวลา 19.00 น. • AJ.
ภาพโดย freepik / www.freepik.com
ภาพโดย freepik / www.freepik.com

"ดรามาใครก๊อปใคร" ไม่เคยหมดไปจากวงการสร้างสรรค์ คนดังในวงการบันเทิง วงการงานเขียน วงการดนตรี หลาย ๆ คนผ่านคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลมาแล้วแทบทั้งนั้น หากว่ากันในหัวข้อของการ "ก๊อป" ก็ย่อมมีทั้งแบบที่ละเมิดลิขสิทธิ์กันจะจะ ชนิดที่ว่ามีบทลงโทษจริงจัง รวมไปถึงลอกแบบ "เนียน ๆ " ที่ไม่ว่าจะกรณีไหน ก็ควรหลีกเลี่ยงทั้งหมด!

ทำความเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายของคำว่า "ลิขสิทธิ์" ว่า หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น นั่นก็หมายความว่าเจ้าของลิขสิทธิ์เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิจะทำอย่างไรก็ได้ กับงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง

ยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงอย่างการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการนำต้นฉบับให้เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม อย่างการทำกำไรจากผลงานของผู้อื่น ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นต้น

ขโมยความคิด ผิดทางใจ

แต่นอกจากแง่กฎหมาย ยังมีการกระทำอีกแบบที่เรียกว่าเป็นการ "ขโมยความคิด" หรือในภาษาอังกฤษคือคำว่า Plagiarism (n.) เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในวงการวิจัย หรืองานเขียนทางวิชาการ คล้ายกับการนำงานคนอื่นมาสวมรอยให้เป็นงานของตัวเอง แต่ก็นับเป็นเรื่องที่คนวงการบันเทิง และสื่อต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

ว่าง่าย ๆ Plagiarism คือการเจตนาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าผลงานชิ้นนั้น ๆ เป็นผลงานของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ตนอาจไป "แอบก๊อป" ของคนอื่นมาโดยไม่ได้ขออนุญาต

ไม่เพียงแค่นั้น การนำงานของผู้อื่นมาเรียบเรียงใหม่ โดยไม่ได้ให้แหล่งที่มาอย่างละเอียด เช่น แปะ Google หรือ YouTube เป็นแหล่งอ้างอิงซะเฉย ๆ หรือแม้กระทั่งการรวมงานจากหลาย ๆ แห่งมายำรวมมิตร แล้วบอกว่าเป็นงานตัวเอง ก็นับเป็นการ "ขโมยความคิด" อีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

ทำได้มากสุดคือ "Fair Use"

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ทำได้ คือการ "Fair Use" หรือการใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ ตัวอย่างเช่นการใช้เพื่อวิจารณ์ การรายงานข่าว การล้อเลียน งานวิจัย หรือการเรียนการสอน อย่างเช่น คลิปวิจารณ์หนัง เพลง หรือคลิปตลกล้อเลียนมิวสิกวิดีโอ (Parody) ที่เราเห็นบ่อย ๆ ใน YouTube นั่นเอง แต่อย่าลืมว่าทุกครั้งที่นำไปใช้ จะต้องขออนุญาตและใส่เครดิตเสมอ

หลีกเลี่ยงการ "โดนหาว่าก๊อป" ได้ดังนี้

ในงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะงานเขียน ไม่ว่าจะวัยเรียนหรือทำงาน หากการขโมยไอเดียถูก "จับโป๊ะ" ขึ้นมาล่ะก็ ไม่เพียงเสียความน่าเชื่อถือ แต่เจ้าของผลงานอาจรวบรวมหลักฐานและเล่นงานคุณโดยกฎหมายได้ โปรดอย่าคิดว่าการขโมยไอเดียเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว และมาเรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไรไม่ให้ "เผลอ" ขโมยงานคนอื่นโดยไม่รู้ตัวกันดีกว่า

  • ใส่แหล่งอ้างอิงให้ชัดเจน

เมื่อต้องอ้างอิงความคิดเห็นที่ไม่ใช่ของตน ต้องใส่ที่มา ไม่ว่าจะเป็นลิงก์บทความ บรรณานุกรม อย่างละเอียด

  • หากคัดลอกมาทั้งประโยค ก็ต้องระบุแหล่งอ้างอิง

ถ้าต้องใส่ประโยคใดประโยคหนึ่งจากนักเขียนท่านอื่น ให้ใช้เครื่องหมายอัญประกาศ (Quatation Mark) และระบุผู้กล่าว รวมถึงแหล่งที่มาให้ชัดเจน

  • ถอดความแบบ "ห้ามลอก"

การถอดความ (Paraphrase) คือการนำเนื้อหามาเรียบเรียงหรือเขียนใหม่ด้วยสำนวนของเราเองอย่างไม่ทิ้งความหมายเดิม ข้อนี้ต้องระวังให้มาก เพราะหากละเลย การถอดความจะกลายเป็นการก๊อปไปโดยปริยาย

การถอดความอย่างมีชั้นเชิงทำได้โดยการเปลี่ยนถ้อยคำไม่ให้ซ้ำเนื้อความเดิม แต่ต้องให้ความหมายคงเดิม ข้อควรจำมีแค่การใส่เครดิตและแหล่งอ้างอิงด้วยเหมือนเดิม

ยังมีการลอกเลียนที่น่าสนใจอีกอย่างคือการลอกเลียนแบบ Self-Plagiarism หรือการ "รีไซเคิลงานตัวเอง" เป็นการทำงานซ้ำ ๆ เดิม ๆ แล้วนำมาเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปกติการกระทำแบบนี้จะไม่มีปัญหา ยกเว้นเป็นการทำงานแบบมีผู้ว่าจ้าง หรือการทำวิจัยเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ที่อาศัยความจริงจังในการผลิตชิ้นงาน

  • แสดงความบริสุทธิ์ใจอย่างจริงใจ

ไม่เพียงวงการเขียน แต่ในวงการบันเทิงโดยเฉพาะวงการเพลง ก็มีเรื่องราวของการ "เอ๋ ก๊อปไม่ก็อป?" เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เหตุการณ์ที่จริงใจและต้องนำมาเป็นกรณีศึกษาคือเพลง Purple Rain ผลงานดังจากพรินซ์ (Prince) ศิลปินผู้ล่วงลับ ที่ดันไปเหมือนเพลง Faithful ของวง Journey ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ติดต่อไปยังวง Journey เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเขาไม่ได้ลอกเลียนผลงานของวงมา และยังเสนอให้ใส่เครดิตผู้แต่งเป็นสมาชิกของวงหรือไม่อีกด้วย

จำดราม่าเพลงวิญญาณกันได้มั้ยครับ วันนี้แสตมป์ออกมาชี้แจงแล้วเด้อ https://www.facebook.com/StampApiwat/posts/732090556839309

Posted by Drama-addict on Wednesday, October 15, 2014

ในไทยเองก็มีเคสหนึ่งที่เป็นที่เลื่องลือ คือเคสของ สแตมป์ อภิวัชร์ นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง ที่เมื่อปล่อยเพลงวิญญาณ ออกมาเมื่อปี 2557 แล้ว ได้รับความเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับเพลง I Won't Give Up ของเจสัน มราซ (Jason Mraz) จึงได้ระงับการเผยแพร่เพลงดังกล่าวในหลาย ๆ ช่องทาง รวมถึงชี้แจงให้ต้นสังกัดของนักร้องทราบ กล่าวขออภัยแฟน ๆ ของเจสัน รวมถึงขอบคุณนักฟังที่คอยเตือนและให้กำลังใจมาตลอด

การลอกเลียนแบบที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือ Plagiarism ไม่ถือเป็นอาชญากรรมก็จริง แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการคัดลอก หรือ "ลอกเลียน" แล้ว ย่อมไม่ส่งผลดีทั้งกับผู้ลอก และเจ้าของผลงาน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ผู้เสพสื่อต่างก็มีวิจารณญาณและรอบรู้เท่าทันกับผู้ผลิตคอนเทนต์ การทำความเข้าใจทั้งเจ้าของผลงาน และผู้รับสื่อน่าจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่ดีที่สุดในฐานะผู้สร้างผลงาน เป็นการสร้างมาตรฐานให้วงการศิลปะ ทั้งยังเป็นการให้เกียรติกันและกันอีกด้วย :)

-

อ้างอิง

dol.go.th

grammarly.com

kwanmanie.com/plagiarism

thematter.co

thepeople.co

rainmaker.in.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0