'ส่งพรุ่งนี้ เดี๋ยวคืนนี้ค่อยทำ'
ประโยคคุ้นเคยจากด้านมืดของจิตใจ ที่มักผุดขึ้นมาในหัวยามต้องส่งงาน และหากคุณเป็นอีกคนที่รอให้ถึงวินาทีสุดท้ายจึงจะมีแรงฮึด เราคือเพื่อนกัน
แต่แม้การรอจนกว่าจะถึงเส้นตายค่อยลงมือทำมันเร้าใจกว่า การบริหารเวลาให้ดีและการทำงานให้เสร็จก่อนเส้นตาย กลับเป็นวิธีที่ทรงพลังกว่าหลายเท่า หากจะวัดกันที่ผลงาน
"เดดไลน์" ไม่ใช่ "ไกด์ไลน์"
แม้คำว่า "เส้นตาย" หรือ "เดดไลน์" (Deadline) จะฟังดูจริงจัง แต่น่าแปลกที่คนทำงานหลายคนกลับเมินเฉยต่อเส้นตาย และมักติดนิสัยตั้งเดดไลน์เอาไว้เฉย ๆ จนบางครั้งน่าจะเรียกว่า "ไกด์ไลน์" ในการทำงานให้เสร็จมากกว่า
แต่การเมินเฉยต่อเส้นตายบ่อย ๆ จนทำให้ทำงานไม่ทันหรือต้องเร่งปั่นงานในนาทีสุดท้าย ทำให้เกิดความเครียด และอาจทำให้เผลอใช้ร่างกายหักโหมโดยไม่จำเป็น
เดดไลน์มีฤทธิ์ "อันตราย"!
หลายคนคิดว่าการ "ปั่นงาน" ตอนใกล้หมดเวลาไม่มีพิษมีภัย แต่รู้ไหมว่า "เดดไลน์" อันตรายพอ ๆ กับชื่อแสนดุของมันเหมือนกัน เพราะนอกจากสร้างความเครียดแล้ว นักวิจัยยังพบว่าความกดดันเมื่อต้องทำงานใกล้เส้นตายยังทำลายเซลล์สมอง ลดความคิดสร้างสรรค์ และสร้างความเคยชินให้สมองแล่นเฉพาะตอนเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น
เพื่อให้การเผชิญกับเส้นตาย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่หนักหน่วงจนเกินไป เรามีเคล็ดลับบริหารเวลาเมื่อต้องต่อสู้กับเดดไลน์มาฝาก
1.สร้างเดดไลน์ปลอม
คิดเล่น ๆ ว่าหากกำหนดส่งงานคือวันศุกร์ เราควรเร่งมือทำให้เสร็จล่วงหน้าสัก 1-2 วัน เผื่อเวลาให้ตรวจงาน และให้เวลาสมองได้พักผ่อนก่อนวันส่งจริง วิธีนี้เวิร์กที่สุดหากคุณเป็นคนช่างลนลานเมื่อทำงานใกล้เส้นตาย
2.อย่ามองว่า"ความกดดัน"ทำให้เครียดเสมอไป
ปรับมุมมองเรื่องความกดดันเสียใหม่ เพราะบางครั้งความเร่งรีบเหล่านี้ก็ทำให้เราได้วางแผนการทำงานอย่างจริงจัง ลองทำลิสต์สิ่งที่ต้องทำ สลับกับการดูปฏิทิน ไปพร้อม ๆ กับไล่เรียงขั้นตอนว่าต้องทำอะไรก่อน-หลังอย่างเป็นระเบียบ เปลี่ยนความกดดันให้เป็นความกระตือรือร้นและความตื่นเต้นในการทำงานแทน
3.เรียงลำดับความสำคัญและลงมือทำซะ
ก่อนถึงเดดไลน์ ลองแบ่งเป็นข้อ ๆ ว่าต้องทำงานไหนก่อนและหลัง เมื่อไล่เรียงเสร็จแล้วก็ลงมือทำได้เลย จากนั้นค่อย ๆ เช็กดูว่างานไหนต้องปรับหรือแก้ สิ่งสำคัญคือลงมือทำให้งานเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก่อน สู้!
4.อย่ามองโลกในแง่ดีเกินไป
ธรรมชาติของคนชอบท้าทายเดดไลน์คือการชอบคิดว่า "เราเก่งพอที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จได้ในเวลาอันสั้น" แต่บางคนลืมคำนวณเวลาเผื่อต้องต่อกรกับเรื่องราวไม่คาดฝัน (คอมฯ พัง ลืมเซฟงาน ไฟดับ ฯลฯ) เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหมั่นสำรองเวลาให้งานที่เราจะปั่นด้วย เผื่อเกิดเหตุสุดวิสัย จะได้ใช้เวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้แก้ปัญหา
5.สังเกตว่าตัวเอง "ฟิตที่สุด" ตอนไหน
มนุษย์ทุกคนมีช่วงเวลาที่สมองแล่นต่างกัน บางคนทำงานได้ดีตอนเช้าตรู่ บางคนมีสมาธิมากตอนกลางคืน ลองสังเกตตัวเองว่าเราโฟกัสได้ดีที่สุดช่วงเวลาไหนของวัน และใช้ช่วงเวลานั้นทำงานที่ใหญ่และสำคัญที่สุด นอกเหนือจากนั้นก็ใช้เวลาทำส่วนที่สำคัญน้อยลงมา เช่น ค้นคว้าข้อมูลเพิ่ม หรือเช็กงานที่ต้องทำนอกเหนือจากงานที่ต้องส่ง
การทำงานในช่วงเวลาที่สมองแล่นที่สุดยังช่วยลดความเครียดจากการต่อสู้กับเดดไลน์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำงานหวดเส้นตายไม่ใช่ทางเลือกในการสร้างงานที่เป็นมิตรต่อร่างกายและสุขภาพจิตเลย แม้เราจะบริหารเวลาในการทำงานส่งตามเส้นตายที่กำหนดได้แล้ว แต่เดดไลน์ยังอาจทำให้เกิดความเครียดสะสม และผลกระทบแง่ลบเหล่านี้ตามมา
- ความเครียดถามหา - การมีเส้นตายอยู่ตรงหน้ามีแต่จะกดดันตัวเอง คิดง่าย ๆ ว่าหากได้รับมอบหมายงานมาเมื่อ 5 วันที่แล้ว แปลว่าเราเริ่มคิดเรื่องงานชิ้นนี้มา 5 วันแล้ว ถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่เริ่มลงมือตั้งแต่วันแรกที่ได้งานไปเลยล่ะ?
- เสี่ยงเจอเรื่องโชคร้าย - เพราะเราไม่รู้ว่าในแต่วันจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง หากเรามัวแต่รอวินาทีสุดท้ายเพื่อทำงาน และเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น ป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือหัวหน้าให้งานด่วนเพิ่ม
- เสร็จช้า เสียเปรียบ - หากทำงานเฉียดเดดไลน์มีแต่ความกดดัน ทำงานเสร็จก่อนเดดไลน์ก็ให้ผลตรงกันข้าม นั่นคือความสบายใจขั้นสุด! แถมยังเหลือเวลาให้ชิลล์กับงานอื่น ๆ อีกด้วย
- หมดเวลาแก้ตัว - งานชิ้นที่เสร็จในวินาทีสุดท้ายมักให้ผลงานที่ดีที่สุด ดังนั้นการเหลือเวลานิด ๆ หน่อย ๆ ก่อนเดดไลน์จึงมักมีเวลาให้เราได้ตรวจสอบข้อผิดพลาด หรือพัฒนางานในมือให้ดีที่สุดก่อนส่ง
- โดนทำโทษ! - ในบางครั้ง การส่งงานสายก็มีบทลงโทษ บางคนโดนปรับเงิน หรือส่งผลกระทบต่อฝ่ายอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ ก็จงส่งงานก่อน!
- เป็นคนไม่ตรงเวลา - การเป็นบริหารเวลาเป็นมีภาษีกว่าเสมอ ไม่ว่าในฐานะนักเรียนหรือคนทำงาน แน่นอนว่าการเป็นคนส่งงานก่อนเวลาย่อมมีแต่คนรักและอยากร่วมงานด้วย
- ไม่มีเวลาเหลือให้สมองได้พักผ่อน
- ถ้าเสร็จก่อน จะมีเวลาช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น - สำหรับการทำงานเป็นทีม เพราะเมื่อเราทำงานส่วนตัวเสร็จ เราจะได้ใช้เวลาที่เคยลนลานกับการปั่นงานไปหยิบยื่นน้ำใจให้ผู้อื่นบ้าง ได้คะแนนจิตพิสัยไปเต็ม ๆ
การเปลี่ยนตัวเองเป็นคนไม่ผัดวันประกันพรุ่งอาจไม่สามารถทำได้ในวันนี้หรือวันพรุ่ง แต่การค่อย ๆ บอกเลิกอุปนิสัยบางอย่างของตัวเอง เช่น "การปั่นงานชนเดดไลน์" น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้เราได้จัดการเวลาทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่สร้างความเครียดให้ตัวเอง ทั้งยังมีเวลาให้สมองได้ผ่อนคลายอีกด้วย
-
อ้างอิง
ความเห็น 10
รังสรรค์
ผลัด ที่หมายถึงเปลี่ยน หรือ ผัด ที่หมายถึงคลุกเคล้า ครับ
25 ก.พ. 2564 เวลา 03.27 น.
Gigaro Tualek
ผลัดครับไม่ใช่ผัด
25 ก.พ. 2564 เวลา 12.01 น.
zhiea
โลกแห่งความเป็นจริงคืองานเยอะจนบริหารยังไงก็ไม่ทัน
มันก็ต้องเลือกอันไหนสำคัญมากทำก่อน
สำคัญน้อยก็ไว้ทีหลัง หรือเลื่อนส่งไป
25 ก.พ. 2564 เวลา 01.15 น.
Fa Ferien
ผัดวันหรือผลัดวันเอาดีๆ ถ้าคิดจะทำอาชีพนี้ภาษาไทยต้องเป๊ะนะจ๊ะหนู
26 ก.พ. 2564 เวลา 14.16 น.
MONO
ผัดข้าว กินเถอะหิว
05 มี.ค. 2564 เวลา 20.47 น.
ดูทั้งหมด