คุณกำลัง "ตกขบวน" อยู่รึเปล่า?
เคยไหม? เล่นโซเชียลอยู่ทุกวัน แต่ทำยังไงก็ยังไม่ทันเทรนด์สักที แถมหากไม่พยายามร่วมวง ก็อาจถูกตราหน้าว่า"ตกขบวน" คุยกับเพื่อน ๆ ไม่รู้เรื่องเข้าไปอีก!
ความรู้สึกหวาดกลัวการ ตกขบวน ไม่ทันเทรนด์ คุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง แบบนี้ มีชื่อเรียกว่า FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out แปลว่า อาการหวาดกลัวการพลาด
FOMO ส่งผลกระทบทางสมองกับมนุษย์ยุคโซเชียลค่อนข้างมาก นักจิตวิทยาอธิบายว่า FOMO คือความรู้สึกวิตกกังวลว่าขณะนี้ กำลังมีเรื่องน่าสนุกเกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งฉันไม่ได้อยู่ที่นั่น! โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยช่วยปั่นให้ความกังวลนั้นยิ่งทวีความแย่ โดยเฉพาะเมื่อเลื่อนเจอภาพเพื่อน ๆ กำลังกิจกรรมหรือร่วมอีเวนต์ทำอะไรสักอย่าง โดยไม่มีเรา! เจ้าความรู้สึก FOMO นี้มีไปก็จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น กลายเป็นความเครียดสะสมที่ค่อย ๆ กัดกินจิตใจ
กลัวพลาด หรือจะสู้ ไม่เป็นไรที่พลาด
เมื่อมี FOMO ก็ต้องมี JOMO ขั้วตรงข้ามที่ย่อมาจาก Joy of Missing Out หรือความสุขของการ "ได้พลาดบ้าง"
เอนิล แดช (Anil Dash) นักเขียนเจ้าของวลี JOMO ได้อธิบายความรู้สึกใหม่ที่ได้ค้นพบว่า ตอนที่เขารู้ว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า FOMO อยู่ด้วย ก็เมื่อตอนที่ลูกชายของเขาเพิ่งคลอดพอดี ตอนนั้นเขาขาดการติดต่อจากโลกออนไลน์ไปเลย เพราะมัวแต่วุ่นกับการดูแลลูกน้อย แต่ทว่า เขากลับไม่ได้รู้สึกว่าพลาดอะไรในโลกนี้สักนิดเดียว กลับกัน เขาได้เว้นวรรคจากโซเชียลมีเดีย ไม่ต้องเช็กข้อความ ไม่ต้องอ่านข่าว และได้ใช้เวลาแสนสุขกับลูกน้อยคนนี้แทน
"ความสุขที่ผมรู้สึกตอนนั้นแหละ คือความสุขจากการได้พลาดอะไร ๆ ไปบ้าง" เขาว่า
JOMO ยาต้านอาการไม่อยากพลาด
โซเชียลมีเดียคือสิ่งกระตุ้น FOMO ชั้นดี ที่ยิ่งเล่นยิ่งถลำลึก ยิ่งเล่นยิ่งเครียด เราจึงต้องใช้ JOMO มาช่วยต้านทาน โดยให้ระลึกไว้เสมอว่าต้องอยู่กับปัจจุบัน และมีความสุขกับสิ่งที่มีในชีวิต
คู่มือการฝึกฝน ให้ชีวิตไม่ติดความพลาด
- อยู่กับปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า "บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้วนั้นก็เป็นอันละไป สิ่งใดที่ยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังมาไม่ถึง" คำสอนนี้น่าจะตอบโจทย์ JOMO ได้ดีที่สุด เพราะยิ่งเรากังวลกับการพลาดมากเท่าไร เราก็ยิ่งอยู่กับปัจจุบันน้อยลง และยิ่งเราอยู่กับปัจจุบันมากเท่าไหร่ เรายิ่งพบความสุขมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจงปล่อยวางความคาดหวัง ความกังวล รวมถึงเลิกเปรียบเทียบประสบการณ์ของเรา กับของคนอื่น
และแทนที่จะกลัว "พลาด" ข้อมูลต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต เราควรกังวลว่าจะพลาดช่วงเวลาเงียบ ๆ ที่ได้นอนทอดหุ่ยเฉย ๆ บ้าง ช่วงเวลาเงียบ ๆ ที่จะได้อยู่กับคนสำคัญใกล้ตัว หรือโมเมนต์สำคัญเมื่อจิตใจไม่ต้องจดจ่อกับสมาร์ตโฟนมากกว่า
- ออฟไลน์สักหน่อย
ธรรมชาติของหน้าที่การงานในคนรุ่นใหม่ หลายคนต้องพกคอมฯ ไปทุกที่ ต้องพร้อมตอบคำถามในกรุ๊ปแชตที่ทำงานตลอดเวลา วิถีการทำงานแบบนี้ทำให้ความเครียดและอาการ "เบิร์นเอาต์" พุ่งสูงในหมู่วัยทำงาน ดังนั้นการ "ชัตดาวน์" ตัวเองนาน ๆ ครั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ลองปิดมือถือขณะลาพักร้อน ทิ้งคอมฯ ไว้ที่บ้านเมื่อออกไปกินข้าวกับครอบครัวบ้าง เป็นการเปลี่ยน FOMO เป็น JOMO เลิกกังวลว่าจะพลาดอีเมลสำคัญ และใช้เวลาไปกับการมีความสุขที่ได้หยุดงานดีกว่า
- อยู่คนเดียวให้เป็น
การอยู่คนเดียวเป็นทักษะสำคัญที่จะนำทางให้เราค้นพบความสงบทางใจ หากทำได้ ความกังวลว่าเราจะ "ตกขบวน" หรือ "เพื่อนไม่คุยด้วย" จะไม่กระทบกระเทือนจิตใจเราเลย คนเหล่านี้จะค้นพบ JOMO ในหัวใจตัวเอง และรู้แจ้งว่าความสุขที่แท้จริงคือการรับรู้ถึงสิ่งที่ตนเองมี และไม่หมกมุ่นกับสิ่งที่ตัวเองไม่มี หรือไม่ได้ทำ
- ฝึกตนให้เป็นคนมากกิจกรรม
อ่านหนังสือ หัดแต่งหน้า เล่นกีตาร์ หัดตัดผม ปลูกต้นไม้ เล่นสเกตบอร์ด ฯลฯ เขียนกิจกรรมที่เคยอยากทำลงไปในลิสต์ แล้วเริ่มลงมือทำจริง ๆ สักที เป็นการบังคับตัวเองให้ออกห่างจากหน้าจอ และใช้เวลาของ JOMO ไปกับกิจกรรมเปี่ยมสุขชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โซเชียลมีเดียบ้าง
สิ่งสำคัญที่สุดของ JOMO คือการ "ออฟไลน์" เสียบ้าง แล้วกลับมาคิดกับตัวเองว่าจำเป็นจริง ๆ หรือที่เราต้องตามเทรนด์ให้ทันทั้งหมด และกดดันตัวเองให้เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างที่คนอื่นเขาทำกัน? เราเสียเวลาและพลังงานไปมากแค่ไหนกับการพยายามไม่ "ตกขบวน" และหลงลืมความสงบทางใจที่เกิดขึ้นง่าย ๆ ด้วย JOMO ความสุขของการหัดพลาด และเรียนรู้ที่จะตกเทรนด์อย่างมีความสุขเสียบ้าง
เริ่มจากวันนี้ ลองพักสายตาและสมองจากข้อมูลมหาศาลบนโลกอินเทอร์เน็ต แล้วมาเอนจอยการ "ตกขบวน" ไปด้วยกันนะ :)
--
ความเห็น 9
พระพุทธเจ้าถึงยกย่องความสันโดษไง
31 ส.ค. 2565 เวลา 04.35 น.
Long k.k 42
บ่สนบ่แคร์
21 ก.พ. 2564 เวลา 06.52 น.
BabyBoss
ถ้ามีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อะไรก็ผ่านไปได้ พื้นฐาน
20 ก.พ. 2564 เวลา 09.48 น.
Sila klm
ต้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่ต้องใช้มันเพื่อความอยู่รอดของตนเองและคนรอบข้าง
2.กลุ่มคนไม่ต้องการใช้ หรือ อาจใช้เท่าที่จำเป็น และ
3.กลุ่มที่ใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้ ไม่มีผลกะชีวิตประจำวัน ที่สุดโต่ง
ดังนั้น 3 กลุ่มนี้ จะมีทักษะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงไม่มีบทสรุปใดที่จะตอบได้ว่า FOMO orJOMO อย่างไหนดีกว่ากัน เพราะโลกยุคใหม่และต่อไปข้างหน้า คือ โลก digital อย่างแท้จริง ไม่ว่าในบ้าน ข้างทาง หรือ ที่ทำงาน และอาจรวมไปถึง สารพัดกิจกรรมของมวลมนุษย์ เพราะนี่ค่อ การเปลี่ยนแปลง นั่นเอง.
19 ก.พ. 2564 เวลา 14.21 น.
Päёw
อ่านแล้วรู้สึกว่าตรงกับเราเลยย ทุกวันนี้เหมือนวิ่งตามอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ทำให้คิดได้ว่าความสงบท่ามกลางความวุ่นวาย อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมแบบนี้ อาจจะช่วยลดภาวะซึมเศร้าแล้วก็มีสมาธิมากขึ้นด้วยค่ะ
18 ก.พ. 2564 เวลา 13.09 น.
ดูทั้งหมด