'อายุเท่านี้เอง เครียดอะไรนักหนา'
หากคุณเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เคยพูดคำนี้ อาจต้องหยุดอ่านและพิจารณาเหตุการณ์รอบตัวสักเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 'โควิด-19' ที่บังคับให้เด็กวัยรุ่นต้องรับภาระที่ผู้ใหญ่หลายคนยากจะจินตนาการ
ผู้ใหญ่วัยเราไม่เคยเรียนออนไลน์วันละหลายๆ ชั่วโมง เราไม่เคยอัดคลิปส่งครูเป็นการบ้าน เราไม่เคยนั่งเรียนในบ้านที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวนมากมาย เราไม่เคยต้องเดินหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตหลายกิโลฯ เพื่อเข้าห้องเรียนให้ทันเวลา
และหาก 'อายุ' ไม่ใช่ปัจจัยของความเครียด ข่าวคราวการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนคงไม่เกิดในระดับที่ถี่ขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงเช่นทุกวันนี้
'โรคเครียดในเด็ก' ปัญหาจริงจังที่ผู้ใหญ่ต้องจริงใจ
สถิติจากกรมสุขภาพจิต เผยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการบันทึก แบบแยกอายุ ระบุว่ามีเยาวชนอายุ 10 - 19 ปีฆ่าตัวตายถึง 111 คน ส่วนอัตราฆ่าตัวตายปี 2563 หลังจากมีการระบาดของโควิด 19 ก็มีมากถึง 7.37 เปอร์เซ็นต์ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งกราฟยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา
ความเครียดในเด็ก ไม่ได้เกิดจากเรื่องผลสอบและเกรดเท่านั้น ตั้งแต่มีการระบาด เด็กเป็นแสนคนทั่วโลกต้องสูญเสียครอบครัวจากโรค (แค่ในสหรัฐอเมริกาก็มีมากกว่า 40,000 คนแล้ว) ยังไม่รวมปัญหาการเงินของครอบครัว และทรัพยากรที่เด็กยากไร้เข้าถึงไม่ได้ อาทิ อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์สำหรับการเรียน
ทั้งยังมีปัญหาจากการเรียนออนไลน์ที่สร้างความปวดหัวแก่นักเรียนไทย จนถึงกับเคยมีการสไตรค์ #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิ_ส จากกลุ่ม 'นักเรียนเลว' เรียกร้องให้รัฐและกระทรวงศึกษาฯ ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้าถึงผู้เรียนทุกคน และจัดช่องทางช่วยเหลือให้นักเรียนที่ได้มีความเครียดจากเรียนออนไลน์อีกด้วย
ตลอด 5 วันแห่งการต่อสู้ที่ผ่านมา มียอดรวมของนักเรียนไทยผู้กล้าที่ร่วมกันผลักดันข้อเรียกร้องโดยการเช็คขาดผ่านเว็บไซต์…
Posted by นักเรียนเลว on Friday, September 10, 2021
ฟังทางนี้! ถ้า 'เด็ก' มีอาการเหล่านี้ ผู้ใหญ่ต้องช่วยเหลือด่วน
- เด็กมีอารมณ์แปรปรวน และขึ้นสุดลงสุดบ่อยๆ เช่นอาละวาด หรือร้องไห้ ทะเลาะกับเพื่อนและครอบครัว
- มีพฤติกรรมเปลี่ยน เช่น ไม่พูดไม่จากับคนในครอบครัว หากเด็กเป็นคนเข้าสังคมปกติแต่เริ่มเก็บตัวเงียบ ไม่แชต ไม่โทรหาใคร ก็นับว่าเข้าข่ายอาการน่าเป็นห่วง
- ไม่สนใจงานอดิเรกที่เคยมี อาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น นักร้องที่ชอบ หรือกิจกรรมที่เคยชอบทำ อย่างการเล่นเกม เป็นต้น
- มีปัญหาเรื่องการนอน อาจนอนไม่หลับ ตื่นง่าย หรือนอนตลอดเวลาก็ได้
- เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกิน เช่น หิวตลอดเวลา หรือไม่กินอะไรเลยก็มี
- มีปัญหากับการจดจ่อ การใช้สมาธิ หรือความทรงจำและเริ่มไม่สนใจการเรียน บางรายอาจตัดสินใจดร็อปเรียนไปเลย
- มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยา
- เริ่มคิด หรือพูดเรื่องการฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่ควรมองข้ามสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ เช่น คำพูดคำจาอย่าง 'โลกแตกได้ยัง' หรือ 'หนูอยากตาย' ที่ฟังดูเป็นคำพูดตลกร้าย แต่ก็อาจแฝงไปด้วยภาวะเฉื่อยชา หรือ 'Passive Death Wish' ได้ ( อ่าน : Passive Death Wish ความรู้สึกอยากตายที่ไม่อยากฆ่าตัวตาย )
หากเด็กๆ หรือวัยรุ่นใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้มากกว่า 5 ข้อและเป็นติดด่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ใหญ่ควรพาไปพบจิตแพทย์ หรือกุมารแพทย์ (ในกรณีเด็กเล็ก) ทันที
'ดูแลกันและกัน' ก็สร้างความหวังได้เยอะแล้ว!
ในโลกที่เต็มไปด้วยปัจจัยชวนซึมอย่างทุกวันนี้ ผู้ปกครองอาจต้องรับบทหนักในการ 'รับฟัง' และเทคแคร์สุขภาพจิตเด็กๆ ในบ้าน ผู้ใหญ่ควรเป็นผู้ควบคุมอารมณ์และบรรยากาศในบ้านไม่ให้ตึงเครียดเกินไป อย่าดูถูก 'ความเครียด' ของเด็ก หรือมองเป็นเรื่องเล็กน้อยและ 'ไม่จริง' คอยย้ำเตือนให้เด็กๆ รู้ว่ามีอนาคตที่สดใสรอพวกเขาอยู่ อาจสร้างกิจกรรมกลุ่มที่ทำร่วมกันได้โดยไม่เสี่ยงติดเชื้อ ที่สำคัญคือต้องดูแลรักษาจิตใจตัวเองให้แข็งแกร่ง ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่แบบที่ 'ตัวเองในสมัยเด็ก' ต้องการ เท่านี้ก็น่าจะถนอมหัวใจของเด็กๆ ให้พวกเขาได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และไม่บอบช้ำระหว่างทางได้แล้ว :)
สายด่วนสุขภาพจิต : 1323
ข้อมูลอ้างอิง
ความเห็น 17
Chittakorn
อ่านดีๆ สรุปให้
" นักเรียนเลว โทรหากรมสุขภาพจิตเลยนะครับ "
17 ก.ย 2564 เวลา 00.21 น.
jen
เอาพอดีๆเดินทางสายกลาง
16 ก.ย 2564 เวลา 23.45 น.
▫️▪️taTAR+🏡.love♦️♥️▪️▫️
ขนาดเราผู้ใหญ่ยังไม่อยากเรียนออนไลน์เลย
16 ก.ย 2564 เวลา 16.29 น.
Tor Adithep
อย่าเว่อร์
16 ก.ย 2564 เวลา 15.45 น.
Rod-Jeep
ข่าวมีประโยชน์.. นานๆเจอครับ
16 ก.ย 2564 เวลา 14.11 น.
ดูทั้งหมด