โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

#หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ : เมื่อปูนปั้นในวัด กลายมาเป็นเจ้าตัวนุ่มของชาวเน็ต

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2563 เวลา 20.00 น. • AJ.
ขอบคุณภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก : สิม
ขอบคุณภาพ "ตัวมอม" จาก เพจเฟซบุ๊ก : สิม

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว มองย้อนกลับไปในปี 2563 ทุกคนน่าจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่างเป็นปีที่ดุเดือดเลือดพล่านเสียจริง! ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง โรคภัย หรือสิ่งแวดล้อม เรียกว่าหายนะใด ๆ ก็ต่างมีซีนในปีนี้

และท่ามกลาง#แฮชแท็ก ร้อนแรงมากมายตลอดปี มีไวรัลหนึ่งที่ทำให้หัวใจของเรานุ่มฟูและเบิกบาน จนอยากจะมอบรางวัลแฮชแท็กสุดน่ารักประจำปีให้ซะเลย

#หิมพานต์มาร์ชเมลโล่

แฮชแท็กชื่อประหลาดนี้เพิ่งเป็นกระแสในโลกอินเทอร์เน็ตไปเมื่อราวสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแชร์ภาพรูปปั้นใน วัดพระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่น เป็นรูป "ตัวมอม" ซึ่งตามตำนานมีลักษณะเหมือนแมวผสมสิงโต แต่ว่องไวเหมือนลิง เรียกอีกชื่อได้ว่า"สิงห์มอม" เราสามารถพบเห็นตัวมอมได้ตามบันไดวัดหรือตามศาสนสถานแถบล้านนา เจ้ามอมเป็นสัตว์มีอำนาจมาก ทำให้มีนิสัยหยิ่งลำพอง และด้วยคุณสมบัตินี้เอง จึงฉุดมอมให้ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ คนล้านนาจึงนำมอมมาตั้งไว้ที่ทางเข้าโบสถ์ วิหาร เพื่อเตือนสติให้ลดอคติ และมุ่งปฏิบัติธรรม จะได้ไม่เป็นเหมือนเจ้ามอม

อีกตัวหนึ่งคือตัว "เหรา"(อ่านว่า เห-รา) สัตว์ตัวยาวคล้ายพญานาค ที่มีอีกชื่อล้านนาว่า"มกร" (มะ-กอน) พบที่วัดชัยภูมิการาม จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าเหรานี้มีประวัติว่าเป็นตัวอิจฉา ได้รับโจทย์ให้กลืนกินพญานาคให้ได้แล้วจะชนะ แต่เจ้าตัวทำไม่ได้และพ่ายแพ้ในที่สุด จึงกลายเป็นสัญลักษณ์กึ่งนิทานสอนใจว่าหากไม่ยอมแพ้กิเลส ความชั่วร้ายจะกลืนกินเราหมด เจ้าเหราจึงมักอยู่ตรงทางเข้าโบสถ์ เพื่อให้ศาสนิกชนเข้าไปสักการะพระโดยละทิ้งกิเลสและความยึดติดไว้ด้านนอก

ทั้งมอมและเหรามีที่มาจากที่เดียวกันคือ "ป่าหิมพานต์" ซึ่งเป็นสถานที่สมมติจากความเชื่อเรื่องไตรภูมิหรือเรียกง่าย ๆ ว่าเรื่องนรก-สวรรค์นั่นเอง คนสมัยก่อนนำสัตว์เหนือจินตนาการเหล่านี้มาจับกลุ่มให้อยู่ในป่าหิมพานต์ และแต่งเรื่องราวสอนใจมนุษย์แต่งเติม ในป่าหิมพานต์นี้เต็มไปด้วยสัตว์ลูกผสมต่าง ๆ เช่น พญานาค กินรี และไกรสรนาคา ถ้าเป็นคนก็จะเป็นมนุษย์มีอาคมนานา เป็นสถานที่กึ่งกลางระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์

#น้องเหรา #น้องมอม ครองใจชาวเน็ต

อาจด้วยหน้าตาของน้องเหรา และน้องมอม ที่ดูตลกขบขันแต่ก็น่ารักไปพร้อม ๆ กัน ทั้งยังไม่เหมือนรูปปั้นปูนตามวัดที่ดูขึงขังจริงจัง ชาวเน็ตสายผลิตหลายท่านจึงสร้าง"แฟนอาร์ต" ซึ่งก็มีตั้งแต่ภาพวาด ไปจนถึงฟิกเกอร์โมเดลกันแล้ว เรียกว่าสายอาร์ตบ้านเรานี่ไม่น้อยหน้าใครเลยเรื่องความรวดเร็วและสร้างสรรค์

น้อนมาแย้ว

Posted by Jod 8riew on Saturday, December 5, 2020

Grilled marshmallows #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ pic.twitter.com/q8a3NoioUj

— Sirisiri.studio (@SirisiriStudio) December 4, 2020

[Rough sketch]
น้องๆ หน้าวัดแห่งหนึ่ง
Cute guardian creatures at the temple
ขออภัยในความงานหยาบ pic.twitter.com/pEPWs3OaXk

— 🤘🏻Khunmin🤘🏻 #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ 💖✨🍬 (@Khunmin4RL) December 4, 2020

ความเหมือนของ "เหรา" และ "มอม"

จุดเด่นของศิลปะในท้องถิ่นแบบนี้ ต่างจากมาตรฐานที่เราเห็นจนชินตาในวัดดังและวัดใหญ่ต่าง ๆ ตรงที่ช่างท้องถิ่นไม่ได้มีแบบตายตัวให้ดู จึงต้องอาศัยคำบอกเล่าและจินตนาการ ขึ้นแบบ แต่งเติมเอาเอง โดยอาศัยฝีมือและประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ดังนั้นเอกลักษณ์ของปูนปั้นเหล่านี้จึงออกมาโดยมี "ลายเซ็น" ของช่างแต่ละคน ส่วนมากจึงมีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ผ่านการตัดทอนรายละเอียดมาแล้ว สัดส่วนจึงไม่เป๊ะ แลดูน่ารักมากกว่าน่าเกรงขาม แต่ก็เต็มไปด้วยความจริงใจที่ได้ใจผู้พบเห็น

และเพราะกระแสความน่ารักนุ่มนิ่มของตัวมอม ทำให้ศิลปะปูนปั้นอื่น ๆ ได้รับความสนใจไปด้วย น้อนเหราก็เช่นกัน ซึ่งน้องเหรามีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 ถูกปลุกปั้นโดยช่างท้องถิ่นที่ไม่ได้เรียนศิลปะมาด้วยซ้ำ ซึ่งงานศิลปะแบบนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็น "งานศิลปะไร้เดียงสา" หรือ "นาอีฟอาร์ต" (Naive Art) ที่มีความเรียบง่าย ไม่ได้เป็นไปตามกฎของศิลปะอย่างที่ควรจะเป็น

จับต้องได้ = ยั่งยืน

นอกจากงานอาร์ตสนุก ๆ จากเหล่าน้อนใน #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ แล้ว ชาวเน็ตหลายคนยังจุดประเด็น "ความจับต้องได้" ของศิลปะในวัด ที่ปกติมักถูกมองว่าเป็น "ของสูง" มีความศักดิ์สิทธิ์และไกลตัว แต่จากกระแสมอมและเหรา ทำให้หลายคนหันมาสนใจศิลปะไทย เรื่องเล่าพื้นบ้าน หรือจากคนที่ไม่สนใจไปวัด ก็พากันสะพายกล้องออกตามล่าปูนปั้นหน้าตาน่ารักแถวบ้านกันเป็นแถบ ๆ

และเมื่อเหล่าน้องกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ใคร ๆ ก็เข้าถึงง่าย จึงเปรียบเสมือนเป็นการคืนชีวิตชีวาให้กับศิลปะ ที่เมื่อถูกสร้าง ก็ต้องได้รับการชื่นชมและต่อยอด จึงจะยั่งยืนและมีอายุยืนยาว ไม่หล่นหายไปตามกาลเวลาเหมือนหลาย ๆ สิ่งในโลกนี้

รวบรวมมาให้แล้ว น้อน..สัตว์มหัศจรรย์ ในพื้นถิ่นอีสาน เกิดจากการที่…

Posted by สิม on Friday, December 4, 2020

--

อ้างอิง

khaosodenglish.com

facebook.com/buddhist.sima

thepeople.co

oknation.nationtv

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 12

  • chun
    มีความพาสเทล
    13 ธ.ค. 2563 เวลา 05.14 น.
  • โชค
    โคตรครีเอจ
    13 ธ.ค. 2563 เวลา 00.24 น.
  • ยุทธการ โกษากุล 966
    กระแสโซเชียล ทำให้คนเมืองบางคน"ตื่นตา" ส่วนชาวบ้านเห็นจน"ชินตา" เขาปั้นแต่งตามความสามารถของช่างพื้นบ้าน
    11 ธ.ค. 2563 เวลา 23.52 น.
  • โก๋วัตถุมงคล
    ตลกวัดจะเอาเป็นเจ้าของเอง ทั้งๆสัตว์ตัวนี้มีมานานแล้ว
    10 ธ.ค. 2563 เวลา 23.55 น.
  • JUDY42
    รักกก
    10 ธ.ค. 2563 เวลา 14.03 น.
ดูทั้งหมด