เบื่อไหม? ชีวิตที่ต้องเจอกับคน "ถูกเสมอ" ทำอะไรก็ไม่ผิด มีแต่เรานี่แหละที่ผิด ผิดที่คาดหวังว่าคนอย่างเธอต้องได้รับบทเรียนเสียบ้าง แต่จนแล้วจนรอด เธอก็ยังลอยตัว!
มนุษย์ทุกคนต่างเคยทำผิดพลาดเสมอ แน่ล่ะว่าไม่มีใครชอบการเป็นคนผิด แต่คำถามคือเราจะทำอย่างไรเมื่อเราตกอยู่ในสถานะ"คนผิด"? - หลายคนคงยักไหล่ แล้วตอบว่าก็ไม่เห็นยาก ทำผิดก็ยอมรับและขอโทษไปเสียก็จบ แต่ในโลกนี้ก็มีมนุษย์อีกประเภทที่ไม่รู้จักการขอโทษ เป็น "คนไม่ยอมผิด" ที่ยืนยันหนักแน่นว่าตนเองถูก! แม้จะมีหลักฐานมัดตัวว่าเป็นคนผิดก็ตาม! เราเชื่อว่าคุณคงเคยพบคนแบบนี้ในชีวิตอย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่ง มาสำรวจเหตุผลทางจิตใจที่คนประเภทนี้ไม่ยอมอ่อนข้อดูบ้าง อาจทำให้สามารถเข้าใจคนใกล้ตัวที่มีนิสัยแบบนี้ได้มากขึ้นโดยที่เราไม่หัวร้อนไปเสียก่อน ลุย!
เพราะเธอรู้สึกไม่ปลอดภัย
สิ่งหนึ่งที่คนไม่ยอมผิดไม่ชอบมาก ๆ คือการก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยหรือคอมฟอร์ตโซน (Comfort Zone) ของตัวเอง ซึ่งมนุษย์ส่วนมากก็รู้สึกแบบนั้น แต่คนที่มีสุขภาพจิตแข็งแกร่งจะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่พวกเขาควรเอ่ยปากขอโทษ และสำนึกผิดต่อสิ่งที่ตัวเองเคยทำ คนไม่รู้จักผิดยังมักขอโทษแบบส่ง ๆ หรือขอโทษไปงั้น ๆ เพื่อให้คนฟังรู้สึกผิดอีกด้วย เช่น คำขอโทษแบบ "ขอโทษแล้วกัน ถ้าทำให้รู้สึกไม่ดี" เป็นต้น
เพราะเธอรู้สึกสูญเสียอำนาจ
ปัจจัยสำคัญที่คนไม่ยอมผิดต้องมีไว้ในมือเสมอคือ "อำนาจ" และการควบคุม หากสูญเสียอำนาจไป พวกเขาจะรู้สึกอ่อนแอขึ้นมาทันที ผลลัพธ์คือพวกเขาจะไม่ยอมรับฟังคำวิจารณ์ใด ๆ ที่จะทำให้พวกเขาดูแย่เลย พูดง่าย ๆ คือต้องอวยอย่างเดียว อย่ามาบอกว่าพวกเขากำลังทำผิด ในกรณีนี้คนเหล่านี้มักใช้อารมณ์เข้าข่มขวัญ เพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกแย่ และไม่กล้าเข้ามายุ่มย่ามกับความรู้สึกที่แสนจะเปราะบางของพวกเขาอีก
เพราะเธอรู้สึกว่าเธอตัวเล็กลง
บางคนมี "อีโก้" (Ego) หรือ"อัตตา" ที่เปราะบางกว่าคนอื่น ทำให้การยอมรับว่าตัวเองผิดนั้นช่างเจ็บปวดแสนสาหัสและตอกย้ำว่าตนเองไร้ค่า (ซึ่งไม่จริงเลย!) ความรู้สึกแบบนี้จะทำให้คนไม่ยอมผิดสร้างกลไกป้องกันตัวขึ้นมา และหลีกเลี่ยงการขอโทษทั้งปวง ไม่ว่าจะหาข้ออ้างมาบอกว่านี่ไม่ใช่ความผิดของตนสักหน่อย หรือการสร้างข้ออ้างปลอม ๆ ขึ้นมาให้ตัวเองกลายเป็นคนถูกในที่สุด
เพราะเธอรู้สึกว่าเธอต้องรับผิดชอบ
ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่คนประเภทไม่ยอมผิดเกลียดที่สุด ในเวลาปกติ มนุษย์เราจะยอมรับความผิดพลาดและความพ่ายแพ้ เรียนรู้และนำมาใช้เป็นบทเรียน กลับกันคนไม่ยอมผิดจะปฏิเสธความผิดของตนเองท่าเดียว พร้อมผลักความรู้สึกผิดนั้นไปให้คนอื่น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คนใกล้ตัวนี่แหละจะได้รับผลกระทบทางใจมากที่สุด
เพราะเธอกลัวคนมองว่าเธออ่อนแอ
บางครั้งการยอมรับว่าตัวเองทำผิดหรือการเอ่ยปากขอโทษ กลับถูกสังคมมองว่าเป็นการกระทำที่แสนจะอ่อนแอ แต่กลับกันการที่คนเราสามารถยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เพอร์เฟ็ก และรู้ตัวว่าต้องขอโทษตอนไหน เป็นคุณสมบัติที่ต้องอาศัยความกล้าหาญและความเคารพตัวเองอยู่มากโข ทั้งยังเป็นการบอกคนรอบข้างว่าเราเชื่อใจพวกเขามากพอที่ยอมให้เห็นด้านอ่อนแอ
และความกล้าหาญแบบนี้ไม่ควรถูกมองเป็นความอ่อนแอสักนิด
เราจะต่อกรและรับมือกับคนแบบนี้อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความอดทนและความแข็งแกร่งของจิตใจล้วน ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระลึกไว้เสมอคือ เราไม่ควรมองว่าการไม่ยอมรับผิดคืออำนาจและสิทธิ์ที่คนเหล่านั้นสามารถทำได้ตามอำเภอใจ เพราะกลับกัน นิสัยแบบนั้นคือความอ่อนแอ ที่แสดงถึงความเปราะบางของจิตใจเท่านั้นเอง
-------------------------
อ้างอิง
ความเห็น 13
Macs
บางทีเป็นคนป่วยครับ บุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่งบอร์เดอร์ไลน์ (Borderline PersonalIt’s Disorder) แนะนำพบจิตแพทย์ เพราะมันเป็นพิษมากกับความสัมพันธ์
03 ธ.ค. 2563 เวลา 05.31 น.
สุวรรณา อุโคตร249895
เจอคนประเภทนี้ทำได้อย่างเดียวพยายามอยู่ให้ไกลๆ
03 ธ.ค. 2563 เวลา 06.15 น.
Anan
ถูกตลอดก็ตือ ลุงข้างบ้าน พักเลขที่5555
03 ธ.ค. 2563 เวลา 22.43 น.
ธิดา
สงสัยหลอกด่าพวกเด๊กเปรต
03 ธ.ค. 2563 เวลา 02.26 น.
ถ้ายอมรับว่าผิดพลาด คนที่โดนสั่งให้ทำตามคำสั่งก็ไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อฟัง
03 ธ.ค. 2563 เวลา 22.52 น.
ดูทั้งหมด