“พาราควอต” สารพิษมรณะ! คุ้มมั้ยแลกชีวิตประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม?
หลังจากคณะกรรมการขับเคลื่อนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกการใช้สารกำจัดวัชพืช “พาราควอต” แต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ“ไม่ยกเลิก” การใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต ด้วยเหตุผลว่าข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ!
พาราควอต(Paraquat) อาจเป็นที่ชื่อที่หลายคนไม่รู้จัก แต่หากเอ่ยชื่อการค้าว่ากรัมม็อกโซน(Grammoxone) เชื่อว่าคนไทยรู้จักดี ยาฆ่าหญ้ายอดฮิตอันดับหนึ่งเคียงคู่ดินแดนเกษตรกรรมอย่างบ้านเรามานานกว่า 50 ปี โดยประเทศไทยนำเข้าพาราควอตถึง 30,000 กว่าตัน เป็นมูลค่านับพันล้านบาท
"นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า กลไกของพาราควอตเมื่อเข้าไปทำลายร่างกายแล้วสามารถทำลายอวัยวะต่างๆได้หมด และกลุ่มอาการของโรคที่สารเคมีสะสม เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่โรคไต มะเร็ง โรคตับ น่าจะมีส่วนร่วมอยู่ด้วย และโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้
ในปัจจุบันมีอย่างน้อย 53 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกการใช้พาราควอต โดยในทวีปเอเชีย มีการห้ามใช้พาราควอตแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน คูเวต ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่จำกัดการใช้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
คำถามคือทำไม? ประเทศไทยยังอนุญาตให้มีการนำเข้าและใช้“พาราควอต” ต่อไป
หนำซ้ำ! การที่เกษตรกรไทยสนใจทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยนำพืชสมุนไพรมาใช้ทดแทนสารเคมีอันตราย ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง เป็นต้น พืชสมุนไพรทั้ง13 ชนิดก็ยังถูกขึ้นบัญชีเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่1 ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน6 เดือนหรือปรับไม่เกิน50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เพราะเหรียญอีกด้านหนึ่งของประเด็นพาราควอต นอกจากเรื่องสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คือ เศรษฐกิจและผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม!
ทั้งนี้เว็บไซต์ the101.world ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 โดยรายงานว่า กรรมการอย่างน้อย3 คนในคณะกรรมการชุดที่ประกาศให้พืชสมุนไพร13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าสารพิษอันตรายยังไม่นับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนแห่งกรมวิชาการเกษตร ที่เมื่อเกษียณอายุแล้ว ก็มักรับเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรและบริษัทจำหน่ายสารเคมีการเกษตร
และอีกประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ พืชเศรษฐกิจ6 ชนิดของไทยล้วนต้องพึ่งพาฤทธิ์ของพาราควอต คือ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวาน ซึ่งมีมูลค่าผลผลิตรวมมากกว่า 4.42 แสนล้านบาท หากมีมติยกเลิกสารพาราควอตจะส่งผลให้ต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น3.97 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในยุคที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขาดแคลนแรงงาน
งานนี้เรียกได้ว่า หนีเสือปะจระเข้! เมื่อเรื่องปากท้องในปัจจุบัน ดูจะสวนทางกับคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต หันไปทางไหนก็ยังไม่เจอแสงสว่าง เพราะนอกจากจะยังไม่มีมติที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่มีทางเลือกให้กับประชาชนอีกด้วย
ณ วันนี้ ถ้าต้องการพืชผักปลอดสารปลิดชีพ แต่ตามมาด้วยวิกฤติข้าวยากหมากแพง คุณรับได้ไหม?
แหล่งข้อมูล
https://www.the101.world/banning-paraquat-in-thailand/
https://www.khaosod.co.th/economics/news_521336
https://www.bbc.com/thai/thailand-45312985
ภาพประกอบ
http://bbs.voc.com.cn/viewthread.php?action=printable&tid=2164268