ในช่วงวันหยุดปีใหม่หมอได้มีเวลาทบทวนเรื่องราวของปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องชีวิต สุขภาพและงาน โดยเฉพาะเคสคนไข้ที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งการไปเป็นวิทยากรในที่ต่างๆ หมอพบว่ามีความสอดคล้องกับสถิติของทั่วประเทศโดยรวม เลยอยากจะเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับสามอันดับปัญหาสุขภาพจิตที่มาแรงในปี 2019 และมีแนวโน้มจะมาแรงมากขึ้นในปี 2020 แล้วเราจะพอมีทางสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดได้อย่างไรกันบ้าง เพื่อให้รู้และรับมือได้ก่อน
1.โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) มาเป็นอันดับหนึ่งแบบไม่ต้องเดา
จากสถิติ WHO มีผู้ป่วย 350 ล้านคนทั่วโลก และในไทยพบว่ามีประมาณ 1.5 ล้านคนที่สำรวจและมาพบแพทย์ ยังไม่นับนอกระบบและเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โรคซึมเศร้ามีแบบเรื้อรังและไม่เรื้อรัง ผู้ที่จะวินิจฉัยได้แน่ชัด คือจิตแพทย์ แต่เราก็สามารถสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดเบื้องต้นก่อนได้ จากการสังเกตว่าอารมณ์ ความคิดที่มีต่อตัวเองเปลี่ยนไปไหม เช่น เคยเป็นคนมองบวกง่าย แต่ตอนนี้ทุกอย่างลบไปหมด มีความเศร้าซึมแบบที่ควบคุมตัวเองได้ยาก มีความสุขยากขึ้นกว่าเดิม และความสุขเริ่มไม่ได้เกิดจากการเติมเต็มความต้องการแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้วก็ยังไม่มีความสุขอย่างที่เคยเป็น หรือลองจินตนาการว่าหากสิ่งที่ทำให้ทุกข์ใจหายไปความรู้สึกเศร้าจะดีขึ้นไหม? ถ้าคำตอบคือไม่ดีขึ้นเลย และมีอาการเช่นนี้เกิดนานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไปโดยมีช่วงที่อารมณ์เป็นปกติน้อยมาก สัญญาณนี้บ่งบอกว่า ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา เพราะเราอาจจะอยู่ช่วงท้ายของภาวะเครียดสะสม และช่วงแรกของอาการซึมเศร้า การรีบรักษาในช่วงจังหวะนี้จะทำให้เรากลับมาเป็นปกติได้เร็วและง่ายกว่าการปล่อยให้มีอาการซึมเศร้าแบบเต็มขั้น
2. โรควิตกกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder)
เคยไหมคะ ที่เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องสื่อสารกับคนแปลกหน้า ต้องพูดคุยกับคนกลุ่มใหญ่ หรือการเข้าไปอยู่ในงานที่มีคนเยอะๆ ทำให้คุณเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ประหม่า กลัวว่าผู้คนจะมองว่าตัวเองดีหรือไม่ดี จนมีอาการผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น หน้าแดง เหงื่อออก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ สุดท้ายทำให้เกิดอาการหลีกเลี่ยง ไม่อยากออกไปพบปะผู้คนหรือปฎิสัมพันธ์กับใคร ๆ ทั้งที่ใจจริงก็ยังอยากเข้าสังคม
( อันนี้เป็นจุดที่แตกต่างระหว่าง Social Anxiety และ introvert)
สาเหตุที่ผู้คนมีแนวโน้มในการมีปัญหาเรื่องความกังวลต่อการเข้าสังคมมากขึ้นเพราะ
1.ลักษณะการสื่อสารในชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไป เราสื่อสารกันผ่านทางเทคโนโลยีมากขึ้น จ้องมือถือมากขึ้น มองเห็นแววตาของกันและกันน้อยลง ทำให้เราสูญเสียพื้นที่สำคัญของชีวิตที่จะฝึกในเรื่องการสื่อสารโดยไม่รู้ตัว
2. เราทำลายความมั่นใจของกันและกันได้ง่ายขึ้น ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ กลั่นแกล้งกันอย่างไร้ขีดจำกัด( cyber bully)
ดังนั้นหากวันนี้เรายังไม่มีสภาวะวิตกกังวลต่อการเข้าสังคม การเลือกรับข้อมูลทางโซเชียลมีเดียและคงการปฏิสัมพันธ์ด้วยการสื่อสารกันโดยตรง จะทำให้สมองของเรายืดหยุ่นกับการรับความเครียด หากวันหนึ่งเราเกิดความเครียดจากการเข้าสังคม
3.การฆ่าตัวตาย (Suicide) ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO บอกว่ามีคนฆ่าตัวตายปีละ 800,000 คน หรือทุก 40 วินาที ในประเทศไทย ปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยรวมทุกกลุ่มอายุ อยู่ที่ 6 รายต่อชั่วโมง อัตราเฉลี่ยเฉลี่ย 9.55 นาที พยายามฆ่าตัวตาย 1 คน 2 ชม. ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน คนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จนั้นมีแนวโน้นที่จะพยายามกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก
สาเหตุ ที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ย่อมมีมากมายหลายสาเหตุผลแตกต่างกัน และโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้เท่ากับฆ่าตัวตาย แต่หัวใจสำคัญของการฆ่าตัวตายคือ การหนีออกไปจากสภาวะของความรู้สึกหมดหนทาง ไม่มีทางออกของความทุกข์ในขณะนั้น
ดังนั้นหากวันหนึ่งคนใกล้ตัวเราเดินเข้ามาบอกว่า “อยากฆ่าตัวตาย” สิ่งที่เราพอทำได้คือ จัดการความตกใจของตัวเราเอง โอบกอดเขาด้วยความรัก ถามไถ่ถึงความทุกข์ แล้วรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะการที่ได้ระบายให้ใครบางคนที่ตั้งใจฟัง จะเป็นทางออกของความทุกข์ใจที่เขาเก็บไว้ ความคิดอยากฆ่าตัวตายในขณะนั้นจะเบาบางลงในทันที ก่อนที่เราจะพาเขามาพบแพทย์
หลายต่อหลายครั้งหมอจะได้ยินคำว่า “ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเกิดกับเรา ไม่คิดว่าจะเกิดกับครอบครัวของเรา” เพราะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราเท่าไร เรายิ่งมองเห็นสิ่งนั้นยาก เรื่องของจิตใจก็เช่นกัน ถ้าเราไม่ตั้งใจที่จะมองเราก็อาจจะมองไม่เห็น เรื่องของสุขภาพจิตอาจเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดนะคะ
--
ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY