โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

5 เมนูอาหารชื่ออินเตอร์ แต่หาเจอได้ในไทยแลนด์โอนลี่

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 30 ม.ค. 2564 เวลา 17.00 น. • pp.p

สัปดาห์นี้มาว่ากันด้วยเรื่องราวเบาสมองของสารพัดเมนูอาหารที่มีชื่อสุดอินเตอร์เป็นชื่อของประเทศต่างๆ แต่ทว่าที่มาของเมนูนั้นๆ กลับมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยและหารับประทานได้ที่เมืองไทยเท่านั้น แต่ละอย่างมีประวัติความเป็นมาอย่างไรทำไมจึงได้ชื่อเป็นนานาประเทศลองมาดูกัน เริ่มกันที่ …

Photo from Pinterest
Photo from Pinterest

ข้าวผัดอเมริกัน

ข้าวผัดอเมริกัน (ภาษาอังกฤษยังเรียกชื่อว่า ‘American fried rice’) เป็นข้าวผัดสีส้มที่ผัดด้วยซอสมะเขือเทศมักใส่ลูกเกดและอาจมีเมล็ดถั่วลัน, หัวหอม และแฮมหั่นชิ้นเล็กผัดรวมกันด้วย ที่สำคัญต้องมากับไข่ดาว ไก่ทอด ไส้กรอก และแฮม เป็นเครื่องประกอบจึงจะสมบูรณ์แบบ ข้าวผัดอเมริกันนี้มีเรื่องราวความเป็นมาด้วยกัน 2แบบ เรื่องแรกว่ากันว่าคุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต เคยให้สัมภาษณ์หนังสือสกุลไทยว่าเป็นอาหารที่คุณหญิงสุรีพันธ์ได้ประยุกต์ขึ้นเอง ขณะทำงานเป็น ผู้จัดการราชธานีภัตตาคารในสนามบินดอนเมือง โดยที่มีสายการบินแห่งหนึ่งสั่งจองอาหารเช้า และอาหารกลางวันเอาไว้แต่มีเหตุทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบิน ทำให้อาหารเช้าแบบอเมริกันที่เตรียมไว้ เช่น ไข่ดาว ไส้กรอก เหลืออยู่จำนวนมาก คุณหญิงสุรีพันธ์ ได้นำข้าวผัดที่มีอยู่มาประกอบกับอาหารเช้าแบบอเมริกันดังกล่าวเพื่อรับประทาน และมีนายทหารอากาศไทยที่เห็นเข้าได้สั่งรับประทานด้วย เมื่อทหารอเมริกันมาเห็นและถามถึงชื่อข้าวผัดดังกล่าว คุณหญิงสุรีพันธ์ ได้ตั้งชื่อว่า "อเมริกัน ฟรายด์ ไรซ์" หรือ "ข้าวผัดอเมริกัน" 

อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า มีต้นกำเนิดมาจากพ่อครัวชื่อ "โกเจ๊ก" ที่คิดค้นขึ้นเพื่อให้บริการทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาและในค่ายรามสูร ที่จังหวัดอุดรธานี ในช่วงที่ไทยยังเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกาในสงครามเวียดนาม และต่อมาได้รับความนิยมจนเผยแพร่ไปทั่วประเทศ 

  

Photo from Pinterest
Photo from Pinterest

ขนมจีน

เส้นขาวยาวสลวยที่มักถูกจับจีบเป็นกลุ่มก้อนนิยมทานกับแกงเผ็ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแกงเขียวหวาน น้ำยาป่า แกงไตปลา แกงไก่ และได้ถูกนำมาทานกับส้มตำด้วยในบางครั้งนี้มีที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากมอญซึ่งเรียกขนมจีนว่า "คนอมจิน" หมายถึงการทำให้สุก 2 ครั้ง โดยคุณพิศาล บุญปลูก ชาวไทยเชื้อสายรามัญผู้สนใจศึกษาอาหารและวัฒนธรรมมอญได้เคยกล่าวว่า "จริง ๆ แล้ว ขนมจีนเป็นอาหารของคนมอญหรือรามัญ คนมอญเรียกขนมจีนว่า คนอมจิน ซึ่งคำว่า “คนอม” มีความหมายว่า "จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน" 

จินหมายความว่า "ทำให้สุก"  ทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาอีกว่า ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่นๆ ในฃะแวกใกล้เคียงตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จนสามารถหารับประทานได้ทั่วไป และเป็นอาหารที่ต้องจับคู่ทานกับเมนูอื่นๆ เป็นอาหารคาว ไม่ใช่ “ขนม” และไม่ได้มาจากประเทศจีนแต่อย่างใด

Photo from Pinterest
Photo from Pinterest

ลอดช่องสิงคโปร์

จบจากเมนูที่มีชื่อชวนเข้าใจผิดว่ามาจากประเทศมหามิตรผู้ทรงอำนาจที่อยู่ไกลโพ้นข้ามมาที่ฝั่งของขนมหวานกันบ้าง เมนูแรกที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ก็คือ “ลอดช่องสิงคโปร์” ซึ่งก็มีที่มาในประเทศไทยนี้เอง ต้นกำเนิดของลอดช่องสิงคโปร์นี้เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ได้นำแป้งมันสำปะหลังมาปั้น และนวดให้เหนียว ทำให้เป็นเส้นสีๆน่ารับประทาน ราดด้วยน้ำกะทิสด เติมความหวานหอมด้วยขนุนและน้ำเชื่อม และน้ำแข็งป่นเพิ่มความสดชื่น โดยเหตุที่ชื่อมีคำว่า สิงคโปร์ ติดมาด้วยนั้นว่ากันว่าก็เพราะบริเวณของร้านเจ้าของไอเดียบรรเจิดนี้ตั้งอยู่ที่หน้าโรงภาพยนตร์สิงคโปร์ (หรือโรงหนังเฉลิมบุรี บนถนนเยาวราช) และเมื่อลูกค้าจะชวนกันไปรับประทานก็มักพูดกันว่า “ไปทานลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์กัน” และถูกทำให้สั้นลงว่า “ลอดช่องสิงคโปร์” นั่นเอง มิได้มีวัตถุดิบอะไรมาจากประเทศสิงคโปร์ และไปเดินหาทานทั่งสิงคโปร์ก็คงจะไม่เจอ

Photo from Pinterest
Photo from Pinterest

ขนมครกสิงคโปร์

อีกหนึ่งเมนู (ชื่อ) ‘สิงคโปร์’ แต่ต้องหาทานในเมืองไทยเท่านั้น หลายคนรู้จักกันในชื่อของ ขนมเขียว,ขนมเหนียว, ขนมครกใบเตย ฯลฯ แต่อืกชื่อหนึ่งที่นิยมเรียกกันก็คือ “ขนมครกสิงคโปร์” ซึ่งที่มาของชื่อนี้เชื่อกันว่า มีต้นฉบับเป็นขนมของชาวมุสลิม 2 ชนิด อย่างแรก คือขนม “ชาราบี” ของชาวบ้านในหมู่เกาะชวาแห่งอินโดนีเซีย ซึ่งรูปลักษณ์ภายนอกเป็น ขนมครกสีเขียว เพราะทำมาจากแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งสาลี ต้มกับใบเตยและกะทิ และอีกชนิดคือ “ขนมจอร้อ” ขนมที่รูปลักษณ์ใกล้เคียงกับ ขนมครกใบเตย มากสุด แต่ต่างกันที่ จอร้อ นั้น ใช้แป้งสาลี น้ำใบเตย ไข่ไก่ น้ำตาลทราย และ กะทิ ผสมกันแล้วนำไปหยอดพิมพ์ แต่ขนมครกใบเตย ใช้แป้งมันสำปะหลัง

สันนิษฐานว่าขนมทั้ง 2 ชนิดนี้เผยแพร่เข้าสู่ไทยในสมัยของรัชกาลที่ 5 มีการดัดแปลงสูตรกันเรื่อยมา แต่จุดสำคัญคือการนำเข้าส่วนประกอบหลัก คือ แป้งมันสำปะหลัง จากประเทศสิงคโปร์ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเกิดเป็นชื่อเรียก “ขนมครกสิงคโปร์” หรือ “ขนมครกใบเตย” นับแต่นั้น

Photo from Pinterest
Photo from Pinterest

ขนมโตเกียว

พาข้ามมาที่ชื่อของทานเล่นที่เป็นได้ทั้งคาวและหวานแล้วแต่ไส้ที่ใช้ พันห่อเป็นแท่งด้วยแป้งแผ่นไม่หนาไม่บาง และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าต้นฉบับก่อนถูกดัดแปลงนั้นเป็นอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ เจ้า “ขนมโตเกียว” นี้ไม่สามารถหาเจอที่ไหนนอกจากที่ไทยเท่านั้น จากากข้อมูลในนิตยสาร HEALTH & CUISINE Vol. 188 ระบุว่า เจ้าขนมโตเกียวเนี่ยเริ่มเห็นในไทยช่วงประมาณปี พ.ศ.2510 ที่ห้าง ไดมารุ (เดิมอยู่ย่านราชประสงค์ ตรงข้ามกับเซนทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน ซึ่งห้างไดมารุนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว) ว่ากันว่าว่าจุดกำเนิดของขนมโตเกียวมาจาก ร้านแห่งหนึ่งในห้างแห่งนี้ที่ทำขนมที่ดัดแปลงมาจากขนมโดรายากิของญี่ปุ่น แล้วตั้งชื่อขนมของตนเองที่ทำขึ้นใหม่นี้ว่า ขนมโตเกียว เพื่อให้เข้าธีมกับห้าง เพราะว่าห้างนี้เป็นห้างที่นำเข้าสินค้าและอาหารจากประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

อ้างอิงข้อมูลจาก

alro.go.th 

foodietaste.com

winnews.tv

kanomsiam.com

histours.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0