เรามาว่ากันด้วยเรื่องของ “ภาษาลู” ที่ดูเหมือนว่ากำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นสมัยใหม่ เริ่มพบเห็นมากขึ้นในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทพูดซีรีส์บางเรื่อง การจัดรายการวิทยุบางรายการ หรือแม้กระทั่งในเนื้อเพลงบางเพลง ก็ยังมีภาษาลูอยู่ด้วย ซึ่งหากเข้าใจว่าเป็นเรื่องใหม่ของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ ขอบอกเลยว่าผิดถนัด
ภาษาลูนั้นไม่สามารถหาต้นตอผู่ก่อตั้งหรือความเป็นมาในแบบที่มีบันทึกที่แน่นอน แต่จากประสบการณ์ตรงพบว่ามีมานานมากกว่าสิบปี จุดเริ่มต้นของภาษานี้ว่ากันว่ามีที่มาจากกลุ่มผู้มีความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิดในการพยายามหาวิธีนินทาระยะเผาขนชนิดที่คนที่ถูกนินทายืนต่อหน้าก็ฟังไม่เข้าใจ สนทนาในแบบที่ไม่ให้คนอื่นรู้ความหมายที่แท้จริง ในส่วนของผู้เขียนเองนั้นรู้จักภาษาลูมาตั้งแต่ในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา และเคยมีความเชื่อว่าไม่นานนักก็คงถูกพักการใช้และหายไปตามกาลเวลา ตามประสาภาษาที่ตั้งใจใช้เพื่อให้เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม แต่ทว่าความเชื่อนั้นผิดไปเสียแล้ว เพราะด้วยกาลเวลาผ่านไป(เกินสิบปี)กลับยังพบเห็นคนรุ่นใหม่ที่รู้ เข้าใจ และใช้ภาษาลูอย่างคล่องเสมือนเป็นภาษาที่สองก็ไม่ปาน และดูเหมือนว่า ภาษา ลูกำลังขยายอิทธิพลเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าสนใจ และได้กลายเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเลี่ยงการใช้คำ เพราะในเมื่อกลายเป็นที่เข้าใจในวงที่กว้างขึ้น คำบางคำที่เขินอายที่จะพูดตรงๆ จึงถูกปรับมาเป็นภาษาลูแทน
แต่ถึงแม้ว่าภาษาลูจะเริ่มแพร่หลายเป็นวงกว้างขึ้น แต่ก็ยังมีคนที่ยังไม่เข้าใจเวลาได้ฟัง บ้างก็เข้าใจสับสนกับการผวนคำ ครั้งนี้เราจึงนำเสนอ “ทฤษฎีภาษาลู” แบบเข้าใจง่ายๆ มาให้ได้ลองทำความเข้าใจกัน
ไวยากรณ์ “ภาษาลู”
ภาษาไทย 1 พยางค์ เมื่อถูกเปลี่ยนมาเป็นภาษาลูจะได้ 2 พยางค์เสมอ
คำปกติทั่วไปทุกคำจะถูกเปลี่ยนให้ขึ้นต้นด้วย “ล” นำมาใส่แทนพยัญชนะของคำนั้น
จากนำพยัญชนะที่ถูกแยกออกมา ใส่สระอุ-สระอู ขึ้นอยู่กับความสั้น-ยาวของคำเดิม และตามด้วยตัวสะกดของคำนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น
ชอบ = ลอบชูบ
สวย = หลวยสูย
แพง = แลงพูง
ในกรณีที่คำเดิมเป็นพยัญชนะ ร, ล อยู่แล้ว จะใช้ตัว ซ (ซ.โซ่) มาแทนในวิธีสลับพยัญชนะเช่นเดิม
ตัวอย่างเช่น
ร่ม = ซ่มรุ่ม
ราง = ซางรูง
ลอย = ซอยลูย
และเมื่อเป็นคำที่เป็นสระอุ, อู อยู่แล้วจะนำสระอิ อี มาใช้แทน
ตัวอย่างเช่น
จูบ = หลูบจีบ
ปูน = ลูนปีน
มุก = ลุกมิก
และซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อเจอคำที่มีทั้ง ร,ล และใช้สระอุ, อู
ตัวอย่างเช่น
รุก = ซุกริก
ลุ้น = ซุ้นลิ้น
รุม = ซุมริม
จะเห็นได้ว่าแม้จะมีความซับซ้อนซ่อนความยากไว้ แต่ก็น่าสนใจที่ยังถูกใช้มาอย่างเนิ่นนาน แม้ตามความเป็นจริงจะเป็นภาษาพูดเท่านั้น แต่หากรู้ไว้ใช่ว่าเวลาได้ยินก็จะรู้สึกสนุกที่จะใช้ทักษะในการถอดรหัสทำความเข้าใจให้ได้ว่า ‘เขาคุยอะไรกัน’
ในฝั่งคนที่ชอบใช้ภาษาลูนั้น ข้อแรกที่พึงระวังคือภาษานี้ไม่ได้เป็นความลับมาตั้งนานแล้ว หากคนที่คุณไม่อยากให้รู้เรื่องว่าคุณกำลังนินทาต่อหน้าเขามีทักษะใช้อย่างคล่องแคล่วแต่ไม่เคยบอกใคร ต่อให้คุณพูดภาษาลูไฟแล่บแค่ไหนก็อาจโป๊ะได้ หล่าอยู่หลาหูล่าวู่ไล่มู่เลือนตูน~
ความเห็น 118
OHM
BEST
เพื่อ
16 ม.ค. 2564 เวลา 18.36 น.
JOE (บ้านแม่น้ำ) 789
BEST
พี่จะเล่าให้ฟัง ภาษานี้ เขาใช้กันในคุก. เมื่อก่อนครับ นักโทษ เป็นคนคิด เอาไว้ใช้สื่อสาร กันครับ
17 ม.ค. 2564 เวลา 00.55 น.
เรามิใช่เรา
BEST
มิใช่ ภาษาไทย ไม่ภูมิใจ ไม่สื่อสาร ไม่ส่งเสริม เพราะ มิใช่ ภาษา ชาติกำเนิด
17 ม.ค. 2564 เวลา 02.28 น.
ภาษารีหู
17 ม.ค. 2564 เวลา 00.35 น.
คำเดิมๆมันก็เข้าใจง่ายอยู่แล้ว แล้วจะไปเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มันเข้าใจยากไปทำไม 5555.
16 ม.ค. 2564 เวลา 22.02 น.
ดูทั้งหมด