โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อยู่คนเดียวไม่เห็นตาย 6 พลังของความเหงาที่ทำให้ชีวิตไปไกลกว่าที่คิด

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2564 เวลา 18.31 น.
ขอบคุณภาพจาก <a href=
@jcomp | freepix.com" data-width="1920" data-height="1080">
ขอบคุณภาพจาก @jcomp | freepix.com

เชื่อเถอะว่าคนที่บอกว่าไม่มีเวลาให้มานั่งเหงาแทบทุกคน เคยผ่านความเหงามาแล้วทั้งนั้น แต่พวกเขาไม่รู้ว่าความเหงาเป็นยังไงต่างหากก็เลยผ่านมันมาได้แบบไม่รู้ตัว

ความเหงาไม่ใช่การอยู่คนเดียว การกินข้าวคนเดียวก็ไม่ได้แปลว่าเหงา การมีเพื่อนเยอะแยะรอบตัวก็ไม่ได้แปลว่าไม่เหงา แต่ความเหงาคือความรู้สึกว่างเปล่า ไม่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นความรู้สึกว่ามีบางส่วนขาดหายไปจากชีวิต เกิดเป็นช่องว่าง และไม่ได้ถูกเติมเต็ม ซึ่งถ้าบอกแบบนี้ เชื่อว่าทุกคนเคยผ่านความรู้สึกนี้กันมาแล้วทั้งนั้น จะต่างก็ตรงที่มาก-น้อยลดหลั่นกันไป

เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าความเหงาเป็นอะไรที่ซับซ้อน เข้าใจยากก็คงไม่ผิดอะไร แถมความเหงายังมักอยู่ในด้านมืด เป็นเหมือนผู้ก่อการร้ายที่พาไปสู่ปัญหา และสารพัดโรคต่าง ๆ ทั้งซึมเศร้า หัวใจ เครียด และอีกเพียบที่ทยอยตามกันมาเรื่อย ๆ

ถึงภาพจะดูเป็นผู้ร้าย แต่จริง ๆ แล้วความเหงาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเรามาตลอด และเค้าก็มีบางมุมที่ดูเหมือนจะเป็นพระเอก คอยทำประโยชน์ให้กับเราได้เหมือนกัน

1. ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของอะไรหลาย ๆ อย่างในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะความเหงา และการอยู่คนเดียว

‘มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก’ สมัยเด็กเป็นคนเงียบขรึม ไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้า พอไปเรียนที่ฮาร์วาร์ดก็เลยสร้างเฟซบุ๊กขึ้นมา เพื่อสื่อสารกับคนอื่นโดยไม่ต้องเห็นหน้าหรือพูดคุยโดยตรง และพัฒนาจนกลายเป็นเฟซบุ๊กที่เราใช้กันในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของมาร์กก็คือความเหงา และการอยู่คนเดียว

‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก แม้จะไม่ได้มีความเหงาเป็นแรงขับเคลื่อน แต่การใช้เวลาอยู่คนเดียวเป็นประจำก็ทำให้เกิดทฤษฎีสัมพัทธภาพที่เป็นรากฐานความสำคัญของฟิสิกส์ยุคใหม่

ทั้งสองคนนี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนที่เคยเหงา เคยต้องอยู่คนเดียว แต่ความเหงากลับสร้างพลังบางอย่างที่ทำให้เขาคิดในสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน และทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะความเหงาคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้คุยกับตัวเองอย่างจริงจัง ได้เห็นตัวเองชัดขึ้นในแบบที่ไม่เคยเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ผลักดันให้เราทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

2. เข้าใจและรู้จักตัวเอง

ตราบใดที่ยังไม่เหงาและยังไม่ได้ให้เวลากับตัวเองอย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่มีทางเลยที่เราจะเข้าใจ รู้จัก และมองเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น

เวลาอยู่กับคนอื่น เราอาจเป็นคนตลก สนุกสนาน พูดไม่หยุด แต่ตัวตนของเราจริง ๆ อาจไม่ได้เป็นแบบนั้น เราอาจแค่อยากเชื่อมสัมพันธ์กับใครสักคนจนทำอะไรที่ไปตามที่คนรอบตัวอยากให้เป็น แต่นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

เพราะหลังจากความเหงามาเยือน หลังจากที่ได้อยู่คนเดียว เราอาจได้พบตัวเองในแบบที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เผลอ ๆ อาจเป็นเราอีกคนที่ซ่อนอยู่ข้างหลังมาหลายสิบปี โดยที่ตัวเราเองก็แทบไม่รู้จักกันเลย

จริง ๆ แล้วการเข้าใจและรู้จักตัวเองเป็นอะไรที่สำคัญมาก คนส่วนใหญ่เข้าใจคนอื่นที่อยู่รอบตัวทุกคน แต่ไม่เคยเข้าใจตัวเอง ไม่เคยรู้จักตัวเองในแบบที่เป็นจริง ๆ เลยสักครั้ง เพราะมัวแต่เป็นอย่างที่คนอื่นอยากให้เป็น ทำในสิ่งที่คนอื่นอยากให้ทำ สุดท้ายพอไม่เข้าใจ ไม่รู้จักตัวเอง ก็ไม่รู้คุณค่าของตัวเอง จนไปลงเอยที่ไม่เคารพ ไม่ยอมรับตัวเอง เห็นตัวเองด้อยค่า คอยแต่โทษโน่นโทษนี่ เพราะไม่รู้จักตัวเองดีพอ

3. สติก็มา

เมื่อคนเราหลุดเข้าไปในห้วงแห่งความเหงา สิ่งที่คนเหงาทำก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นก็คือการคิด..

โอกาสที่คนเหงาจะคิดไปเรื่อยเปื่อยมีสูงก็จริง แต่เมื่อไหร่ก็ตามความเหงาอยู่ในระดับที่พอดี ความคิดมากจะกลายเป็นข้อดีที่ตัวเราเองก็นึกไม่ถึง และพอให้เวลากับการคิด สิ่งที่ตกตะกอนหลังจากนั้นก็คือ “สติ”

สติ คือ ความรู้สึกตัว หรือนึกขึ้นมาได้ เมื่อคนเราใช้เวลากับความคิดไปนาน ๆ ในแบบที่ไม่ใช่การล่องลอยไปเรื่อย ก็ไม่แปลกที่จะรู้สึกตัวหรือนึกอะไรขึ้นมาได้ แต่ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่ความเหงาทุกรูปแบบจะทำให้เกิดสติ การคิดไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดโฟกัสไม่ได้ทำเกิดสติ แต่เหงาเมื่อไหร่ ลองจดจ่อไปที่ความคิดของตัวเอง เมื่อนั้นจะพบว่าสติที่เกิดขึ้นตอนนั้น ไม่ได้ทำให้เราเหงาอีกต่อไป

4. สัญญาณเตือนอะไรบางอย่าง

มีงานวิจัยและผลทดลองมากมายที่บอกว่าความเหงาน่ากลัวและเป็นต้นเหตุของปัญหา และสารพัดโรคที่จะตามมา หนึ่งในนั้นก็คือซึมเศร้า แต่ถึงความเหงาจะน่ากลัวและดูเหมือนจะดูดพลังชีวิตคนเราไปได้จริง ๆ แต่ถ้าพิจารณาให้ดี แม้ปลายทางของความเหงาจะพาเราไปสู่ปัญหาและโรคร้ายต่าง ๆ แต่ความเหงาก็เป็นจุดเริ่มต้นและสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน

คนส่วนใหญ่เมื่อรู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว หรือความโดดเดี่ยวกัดกินจิตใจจนหมดพลัง จะค่อย ๆ ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดจะเอาตัวเองออกมาจากความรู้สึกทิ้งดิ่งพวกนั้นสักเท่าไหร่

จริง ๆ แล้วก่อนจะดำดิ่งไปสู่ความรู้สึกแบบนั้น ความเหงาคือปราการด่านแรกที่ช่วยส่งสัญญาณเตือนว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอารมณ์ ความรู้สึกที่ยากจะจัดการ และตัวเราเองอาจได้รับอันตรายถ้ายังทิ้งดิ่งไปกับความเจ็บปวด ความซึมเศร้า ความเครียด หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ความเหงามาเยือน เมื่อรู้สึกว่าตัวเองเหงาจนยากจะบรรยาย ให้นึกไว้เสมอว่านี่คือสัญญาณเตือนชั้นเยี่ยมที่บอกได้ว่าอีกไม่นานจะมีปัญหาตามมาแน่ ๆ ถ้ายังไม่ยอมหายเหงาอยู่แบบนี้

5. ความคิดถึงจะทำงานหนักขึ้น

พลังด้านนี้อาจดูโรแมนติกสักหน่อย แต่ก็เป็นจริงตามนั้น

ในเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม การปล่อยให้ความเหงาได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่ถือว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

ทุกวันนี้คนเราไม่ค่อยได้คิดถึงกันอีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ มันทำให้เราใกล้กันมากขึ้น ถึงจะอยู่คนละซีกโลกแต่ก็คุยกัน เห็นหน้ากันได้ตลอดเวลา แทบจะไม่ต้องอดทน ไม่ต้องรอคอย และไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองได้เหงาจนความคิดถึงได้ทำงานของมันอีกต่อไปแล้ว

จริง ๆ แล้วแม้ความเหงาจะอยู่ในด้านมืด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหงาทำให้คนเรารักกัน และเห็นคุณค่าของกันและกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นลองปล่อยให้พลังที่ช่วยสร้างความโรแมนติกอย่าง ‘ความเหงา’ ผลักดันให้ความคิดถึงทำงานหนักขึ้นดูบ้างก็คงจะดีต่อความสัมพันธ์ของคนเราอยู่เหมือนกัน

6. สุดท้ายความเหงาจะทำให้เราเข้มแข็ง

สิ่งที่ทรงพลังที่สุดของความเหงาก็คือมันช่วยทำให้เราเข้มแข็งขึ้น คนที่มีความเหงาเป็นเพื่อนมักมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มแข็งทางจิตใจมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนเราจะวิ่งหนีจากความเหงาไปได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือเปิดรับและยอมให้ความเหงาเข้ามาทักทายบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้เราข้ามผ่านความโหวง ๆ โล่ง ๆ ความว่างเปล่า ไม่มั่นคง หรือความรู้สึกว่ามีบางส่วนขาดหายไปให้ได้

พอผ่านมันไปได้ ทีนี้จิตใจก็จะทนรับได้มากขึ้นหนึ่งสเต็ป และพอความเหงากลายเป็นเพื่อนที่ดี กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก็คงไม่มีอะไรยากเกินที่เราจะยอมรับได้อีกแล้ว

จะว่าไปความเหงาก็ไม่ได้น่ากลัวและไม่ได้คอยจ้องแต่จะทำร้ายเราอย่างเดียว บางทีหลังจากอ่านมาถึงตรงนี้ เมื่อต้องเผชิญกับความเหงาครั้งต่อไป คงต้องยิ้มน้อย ๆ แล้วบอกตัวเองว่า “มาเลย! เจ้าความเหงา~”

อ้างอิง

- ความเหงาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

- อยู่กับความ "เหงา" อย่าง "เข้าใจ"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 19

  • ยินดีต้อนรับมานานแล้ว..และอยู่กับมันแบบเพื่อนที่เข้าใจจะทำให้ชีวิตของเรามีความสุขกับความจริงที่ต้องเผชิญเพราะเมื่อไหร่ที่เรายอมรับกับความจริงในทุกเรื่องได้เราจะเห็นทุกอย่างเป็นธรรมดาของมันเช่นนั้นเอง ไม่ทุกข์ ไม่ซึมเศร้าและเข้าใจมันอย่างแท้จริง..
    02 ส.ค. 2564 เวลา 04.30 น.
  • Thananan S.
    ก็ไม่ตายครับ มนุษย์มักโหยหาสิ่งที่ตัวเองไม่มี
    02 ส.ค. 2564 เวลา 05.12 น.
  • Surapun
    อยู่คนเดียว จะเหงาอย่างไร ต้องหาอะไรทำให้ได้เงินครับ มีเงินแล้วจะไม่เหงาแม้จะอยู่คนเดียว แล้วต่อไปก็อยากจะอยู่คนเดียวด้วยสิ
    02 ส.ค. 2564 เวลา 13.28 น.
  • ในการที่ไม่ไปยึดติดอยู่กับในอดีตให้มากจนเกินไป ย่อมที่จะช่วยทำให้ชีวิตมีแต่ความสุขเสมอ.
    01 ส.ค. 2564 เวลา 21.12 น.
  • ⚜️TS.ガンダンム789⚜️
    มันตือความสงบ แต่ไม่เหงา มันมีอะไรที่น่าสนใจ มากมายที่จะให้เราค้นหา เพื่อพัฒนาตัวเอง ได้จาก มือถือ สื่อโซเชี่ยลต่างๆ ได้เห็นความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เพิ่มมุมมอง แต่ต้องเลือกที่เป็นพลังบวก ไม่ใช่พลังด้านลบ …มันดีย์งามเลยแหละ
    02 ส.ค. 2564 เวลา 14.03 น.
ดูทั้งหมด