โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“หาบเร่แผงลอย” ชีวิตที่ “ไม่มีทางเลือก” ของทั้ง “คนขาย” และ “คนซื้อ”

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 06 พ.ย. 2561 เวลา 05.00 น.

“หาบเร่แผงลอย” ชีวิตที่ “ไม่มีทางเลือก” ของทั้ง “คนขาย” และ “คนซื้อ”

ปัญหาการจัดระเบียบทางเท้า คือหนึ่งในปัญหาคาราคาซังที่ดูไร้ทางออกในการจัดการปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนและถาวร จนกลายเป็น ‘วาระสำคัญ’ แห่งชาติที่หลายฝ่ายพยายามออกมามีส่วนร่วม 

รวมทั้งบรรดา ‘ผู้พิพากษา คีย์บอร์ด’  ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด ถึงความเดือดร้อนที่กล่าวโทษว่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเป็นผู้ก่อขึ้น แล้วพอสาแก่ใจได้สำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมก็เดินไปซื้อของกินจากร้านรถเข็นข้างถนน (ที่เพิ่งด่าไปเมื่อกี๊นี่แหละ) อย่างสบายอารมณ์ 

แน่นอนว่าหากว่ากันตามกฎหมายคงมีหลายข้อที่สามารถใช้ ‘เอาผิด’ คนเหล่านี้ได้ไม่ยาก แต่ถ้ามองลงไปให้ลึกอีกด้าน เราอาจพบว่าแท้จริงแล้ว ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับปัญหานี้ด้วยกันแทบทั้งนั้น 

1. เพราะมีคนซื้อถึงมีคนขายหลักเศรษฐศาสตร์ง่ายๆที่ลืมกันไปได้อย่างไร 

หนึ่งในข้อกล่าวหาคลาสสิกที่มีคนหยิบมาใช้โจมตีอยู่เสมอคือ ‘ความจนไม่ใช่ข้ออ้างในการทำความผิด’ แน่นอนว่าคำพูดนี้ถูกต้อง แต่มีแค่พ่อค้าแม่ค้าอย่างเดียวหรือเปล่าที่ ‘จน’ แบบที่ถูกกล่าวหา 

เพราะจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์กร WEIGO พบว่า กลุ่มลูกค้าสำคัญของร้านค้าแผงลอยคือพนักงานออฟฟิศ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเรียน รวมไปถึงแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ (330 บาท) โดย 60% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือนจะมีการซื้อของจากร้านหาบเร่แผงลอยทุกวัน

หากร้านค้าเหล่านี้หายไป กลุ่มคนดังกล่าวจะต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้นและจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงเดือนละ 357 บาท หรือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่พวกเค้าได้รับในหนึ่งวันด้วยซ้ำ 

2. เพราะทุกคนล้วนโหยหาความสะดวกสบายด้วยกันทั้งกัน 

ต่อจากเรื่องดีมานด์และซัพพลายในข้อที่แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องสินค้าราคาถูกที่ร้านค้าแผงลอยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะลองลบภาพเมืองในอุดมคติ แล้วมองที่โลกแห่งความเป็นจริง ในวันที่แสนวุ่นวาย คนส่วนมากเดินทางไปทำงานด้วยรถสาธารณะ และด้วยเวลาอันแสนจำกัด ลองถามใจตัวเองดีๆ ว่ามีกี่คนที่ยอมเดินเข้าไปซื้อของตามร้านในสถานที่ถูกต้อง เพราะร้านขายของชำอาจอยู่ไกลจากป้ายรถเมล์หลายร้อยเมตร และร้านค้าในห้างก็ต้องเดินเข้าไปอีกไกล แถมราคาก็ไม่น่ารัก 

และบางทีเวลารีบๆ เราก็อยากได้แค่หมูปิ้ง 3 ไม้ ข้าวเหนียว 2 ห่อ มาประทังชีวิต แล้วรีบไปทำงานต่อเท่านั้นเอง 

3. เพราะทางเลือกชีวิตมีจำกัดบางคนเลยต้องเลือก’ เพราะความจำเป็น

จากงานวิจัยชิ้นเดิมพบว่า มากกว่า 70% ของผู้ค้าเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิงและจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาเท่านั้น ทำให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่นน้อยมาก ซึ่งหากจะคิดถึงต้นเหตุเรื่องนี้จริงๆ ก็คงต้องย้อนไปถึงระบบโครงสร้างการศึกษาในยุคก่อน ที่อาจต้องว่ากันอีกยาวหลายหน้ากระดาษ

ลองคิดดูดีๆ ว่ามีใครบ้างที่ไม่อยากมีการศึกษาสูงๆ มีโอกาสเลือกทำงานหรือเปิดร้านค้าเป็นแหล่งหลักตามปกติ ไม่ต้องเก็บข้าวเก็บของทุกวันซ้ำไปซ้ำมา พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน หากพวกเขาสามารถ ‘เลือก’ อะไรในชีวิตได้มากกว่านี้ เชื่อว่าพวกเขาก็อยากเปลี่ยนสถานะจากผู้ขายให้กลายเป็นขี้ปากชาวบ้าน มาเป็นฝั่งผู้ซื้อที่ทำอะไรก็ไม่เคยผิดดูบ้างเหมือนกัน

4. เพราะทางเลือกที่ดูมากมายแต่สุดท้ายเราสามารถเลือกได้แบบที่เขาว่าจริงหรือ 

ถ้าไม่นับเรื่องความจำเป็น แล้วมามองที่การประกอบธุรกิจทั่วไป ก็จะเห็นว่าเต็มไปด้วยปัจจัยที่กีดกันบรรดาพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยออกไปจากสารบบการ ‘เลือก’ ตั้งแต่ต้น 

ยิ่งเป็นแผงลอยที่อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า หากคิดย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น ก็ต้องจ่ายค่าเช่าต่อเดือนหลักหมื่นเป็นอย่างน้อย หลายคนก็จะบอกอีกว่า ก็ยังมีอีกหลายห้างที่เปิดให้เช่าพื้นที่บริเวณฟู้ดคอร์ทราคาถูกอยู่ 

ข้อนี้ยอมรับว่าใช่ แต่ยิ่งเป็นพื้นที่ที่ดีเท่าไร ก็ยิ่งมีคนต้องการจับจองมากเท่านั้น และคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและจับจองได้ก่อน รวมถึง ‘เส้นสาย’ มากมายที่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนมากก็จะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือร้านอาหารเจ้าใหญ่ ที่ต้องการขยายสาขาเพิ่มเติมเท่านั้น พ่อค้าแม่ค้าทั่วไปแทบไม่มีโอกาสเข้าถึง ‘โอกาส’ ที่ดีแบบนั้นได้เลย  

5. เพราะการจัดระเบียบเปรียบเสมือนการไล่ให้ไปตายไม่ใช่ตั้งตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ 

จากปัญหาที่ปล่อยปะละเลยสะสมจนจำนวนหาบเร่แผงลอยเพิ่มมากขึ้นจนเกินเยียวยา ประกอบกับการแก้ ‘ปัญหา’ ของหน่วยงานภาครัฐแบบสุกเอาเผากิน ทำให้เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะทำให้เมืองในอุดมคติเกิดขึ้นได้จริงขึ้นมา 

อย่างแรกคือ สิ่งเดียวที่หน่วยงานของก.ท.ม.ทำได้ มีเพียงแค่ขอ ‘ความร่วมมือ’ จากภาคเอกชน เพื่อให้ใช้พื้นที่บางส่วนให้กับพ่อค้าแม่ค้าแบบ ‘ไม่มีค่าใช้จ่าย’ ซึ่งถ้าโชคดีอาจจะได้พื้นที่ด้านข้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันที่ยอมให้เข้าไปขายของในพื้นที่ แต่ก็มีข้อจำกัดที่สามารถรองรับผู้ค้าได้เพียง 84 แผงเท่านั้น (จากทั้งหมดประมาณ 8,000 ราย) 

แน่นอนว่าเราไม่สามารถหาพื้นที่ดังกล่าวได้มากนัก สิ่งต่อมาที่ก.ท.ม.ทำได้ก็คือ การ ‘จัดระเบียบ’ และจัดหาพื้นที่ใหม่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยโดยเฉพาะ ฟังดูเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่ยกตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือกรณี ‘Siam Night Plaza’ ที่เปิดพื้นที่โล่งใต้ทางด่วนพงษ์พระรามเมื่อปีพ.ศ. 2559 

ในช่วงแรกก็มีพ่อค้าแม่ค้าย้ายร้านไปพอสมควร แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ‘ลูกค้า’ ไม่ตามมาด้วย เพราะสถานที่นั้นอยู่ไกลเกินไป สุดท้ายผ่านไป 1 ปี เหลือผู้ค้าไม่ถึงสิบราย จนก.ท.ม.ต้องออกมาบอกว่าจะปรับพื้นที่และการสัญจรใหม่เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางมากขึ้น แต่จนกระทั่งถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

รวมไปถึงการจัดระเบียบย่านท่าพระจันทร์ ปากคลองตลาด และอีกหลายพื้นที่ ที่พ่อค้าแม่ค้าต้องรับผลกระทบจากการจัดระเบียบที่ไม่มี ‘ระเบียบ’ จนมีการเปิดเผยจากบริษัทปล่อยสินเชื่อแห่งหนึ่งว่า ในช่วงที่มีนโยบายจัดระเบียบทางเท้า สัดส่วนหนี้เสียในเขตกรุงเทพมหานครนั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

6. เพราะประเทศอื่นจัดระเบียบได้เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน 

ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่เผชิญปัญหาหาบเร่แผงลอยเหมือนกัน และต้องใช้เวลาถึง 50 ปี จนมีการจัดสรรพื้นที่ที่เรียกว่า Hawker Center มีจัดขึ้นมาเพื่อพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยโดยเฉพาะ และไม่ใช่การไป ‘ขอ’ พื้นที่คนอื่นมาเฉยๆ แต่รัฐบาลจัดสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางทั้ง โต๊ะ เก้าอี้ ห้องน้ำ ไว้อย่างครบครัน และสร้างความเป็นธรรมด้วยการจับฉลากเลือกผู้ค้าอย่างเท่าเทียม 

อีกกรณีที่น่าสนใจคือไต้หวัน ซึ่งจัดระเบียบให้หาบเร่แผงลอยค้าขายอยู่ภายในซอย โดยซอยดังกล่าวจะมีเพียงสตรีตฟู้ด ส่วนรัฐได้เข้ามาจัดการควบคุมเรื่องความสะอาด เช่น ห้ามเทน้ำมันลงท่อ มีการจ่ายคืนการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปใช้เป็นงบฯ รักษาความสะอาด เป็นต้น

เพราะปัญหาหาบเร่แผงลอยนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมปะปนอยู่ แต่หลายประเทศก็แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถหาทางออกที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายได้อย่างยั่งยืนจริงๆ 

ไม่ใช่ว่าปัญหาที่พวกเขาเจอนั้นเบาบางกว่าประเทศเรา แต่เป็นเพราะเขาเข้าใจหัวอกของคนทุกระดับ จริงใจในการหาทางแก้ปัญหา และจริงจังกับการคิดมาตรการจัดระเบียบอย่างเป็นรูปแบบมากกว่าเราเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644451

https://themomentum.co/thailand-hawker-stall-regulation

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0