โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สุดฮิต! ปากกัดตีนถีบ ส่งลูกเรียน ”เอกชน” เพื่อ “ซื้อสังคมให้ลูก”

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 05 พ.ย. 2561 เวลา 05.00 น.

สุดฮิต! ปากกัดตีนถีบ ส่งลูกเรียน”เอกชน” เพื่อ “ซื้อสังคมให้ลูก”

หมดยุคความเป็นเลิศทางวิชาการ ผู้ปกครองห่วงสิ่งแวดล้อมเด็ก ตรากตรำหาค่าเทอมแพงหูฉี่ หวังภาษาอังกฤษลูกก้าวล้ำ ได้คบหาสังคมดี มีอุปกรณ์การเรียนทันสมัย

ในอดีตนั้น การเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดเป็นเส้นทางของคนเก่ง  สถิตินักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลถูกส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้มาก ทำให้เด็กที่จบจากโรงเรียนรัฐบาลเป็นความเชิดหน้าชูตาของผู้ปกครอง  ซึ่งผ่านขั้นตอนการสอบคัดเลือกอันแลกมาด้วยความเพียร  และเป็นแหล่งรวมมันสมองชั้นดีก่อนจะเป็นความหวังของชาติต่อไป

แต่ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง  พัฒนาการเรียนการสอนที่โดดเด่นขึ้นมา แถมปรับหลักสูตรการเรียนจนนำไปสู่การใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ประกอบกับสังคมก้าวไปสู่โลกของเทคโนโลยี ( Millenium Technology Era ) การสื่อสารกับโลกทั้งใบจึงผ่านความสามารถด้านภาษา  จึงนำมาสู่ค่านิยมในการส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชนกันมากขึ้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าโรงเรียนรัฐบาลมากก็ตาม

สภาพสังคมในมุมมองของผู้ปกครอง วัดความพึงพอใจผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกในชั้นเรียน เครื่องปรับอากาศ สัดส่วนคอมพิวเตอร์ต่อจำนวนนักเรียน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงเรียนเอกชนมีบุคลากรครูอาจารย์ที่เอาใจใส่เด็กได้มากกว่า เนื่องจากปริมาณนักเรียนต่อห้องน้อยกว่าโรงเรียนรัฐบาล  ครูถูกจ้างด้วยเงินเดือนที่สูง มุ่งเน้นคุณภาพในการสอนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องคอยสอบวัดระดับ หรือหาช่องทางเลี้ยงปากท้องเหมือนครูโรงเรียนรัฐ

อีกทั้งบ่อยครั้ง ที่โรงเรียนรัฐบาล มีมาตรฐานความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมต่ำ ปัญหาสังคมในโรงเรียนมีมาก โดยขาดการเหลียวแลจากครูอาจารย์ที่ไม่เพียงพอ ความเป็นอยู่ ห้องน้ำ โรงอาหาร คุณภาพสื่อการสอนภายใต้งบสนับสนุนซึ่งถูกจำกัด  แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่แบกรับไหว โรงเรียนรัฐบาลจึงเป็นแหล่งรวมความร้อยพ่อพันแม่ซึ่งผูกมัดไว้ ภายใต้ค่าเทอมอันสัมผัสได้ 

อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาตัวแปรความเหลื่อมล้ำ

โรงเรียนรัฐบาล ค่าเทอมฟรี มีค่าใช้จ่ายพิเศษแล้วแต่โรงเรียน แม้อาจถูกเล่นแร่แปรธาตุเป็นค่ายาม ค่าจ้างครูภาษา ค่ากิจกรรมและตำราเรียน เครื่องแบบ แม้แต่ค่าห้องโสตทัศนอุปกรณ์ ค่าห้องคอมพิวเตอร์ ก็มักจะปรากฏบนใบเสร็จ แต่ก็อยู่ในอัตราที่ผู้ปกครองรับได้ ซึ่งรัฐบาลช่วยค่าเรียน  โดยรวมแล้วพ่อแม่จะแบกภาระที่เทอมละหลักพัน

แต่จากการเรียนฟรีนี้เอง ความห่างชั้นทางสภาพสังคมของโรงเรียนรัฐบาลจึงมีมากขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองซึ่งสามารถมีกำลังในการจ่ายค่าเทอมได้ ก็จะส่งลูกเรียนยังโรงเรียนเอกชน อันหล่อรวมสภาพสังคมที่ดีกว่า ในแง่การใช้ชีวิต รายได้ต่อครัวเรือนของผู้ปกครองยิ่งดี เด็กก็มักจะเป็นลูกคนมีเงิน แม้ว่าความรวยไม่ใช่ตัววัดความดีงามในจิตใจ แต่ผู้ปกครองก็สบายใจที่จะส่งบุตรหลานให้มาอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งปลอดภัยและเครื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอันไฉไลมากกว่า

ค่าเรียนของโรงเรียนเอกชน บางแห่งมีค่าแรกเข้า ไม่รวมค่าธรรมเนียมพิเศษ ค่าอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศกิจกรรมพิเศษ ท่องชมศึกษานอกสถานที่ รวมแล้วเทอมการศึกษาหนึ่ง เฉลี่ยที่หนึ่งหมื่นห้าพันบาท และสองหมื่นกว่าในโรงเรียนซึ่งมีชื่อเสียง และถ้าเป็นเขตกรุงเทพหรือโรงเรียนระดับท็อป ก็อาจสูงถึงเทอมละสี่หมื่นบาท

ความเป็นเลิศทางภาษาปัจจัยซึ่งทำให้ผู้ปกครองยอมเหนื่อย

จากยุคโลกาภิวัตน์ ( Globalization Era ) เป็นต้นมา ภาษาถูกพบว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กซึ่งจบจากโรงเรียน มีโอกาสทางการศึกษาต่อได้หลากหลาย และเมื่อเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย ก็มักจะมีงานที่ดีรออยู่ พ่อแม่ผู้ซึ่งเติบโตมาผ่านยุคบุปผาชน ( Baby Boomer ) และ ยับปี้ ( Generation X )  ต่างเล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ไปจนถึง ภาษาที่ 3 อันจะทำให้ลูกหลาน มีโอกาสไปได้ไกลกว่าคนอื่น จึงไม่ยี่หระ ถ้าจะต้องจ่ายแพงกว่า เพื่อนำพาบุตรไปสู่ทางที่ปูด้วยกลีบดอกไม้และต้นหญ้าอ่อนนุ่ม 

จุดแข็งโรงเรียนรัฐบาล

ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ครูโรงเรียนรัฐบาลจะต้องมีการสอบแข่งขันกันเข้ามาอย่างดุเดือด มีเกณฑ์วัดชัดเจน จึงทำให้ครูโรงเรียนรัฐมีมาตรฐานในด้านคุณภาพความรู้ พัฒนาองค์ความรู้อยู่เสมอจากการอบรมของภาครัฐ  แถมโรงเรียนรัฐบาลจะมีโควตาพิเศษในการศึกษาต่อ อีกทั้งยังมีทุนเรียนดี ทุนนักเรียนยากจน และทุนศึกษาต่อต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากทุกภาคฝ่ายมากกว่า

จุดแข็งโรงเรียนเอกชน

ครูเอาใจใส่นักเรียนได้ดี และสืบเนื่องจากค่าตอบแทนสูง จึงไม่มุ่งเน้นการสอบวัดระดับหรือบรรจุซึ่งมักจะพรากเวลาในการดูแลเด็กนักเรียน ตลอดจนมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็กและผู้ปกครองได้ดีกว่า  เครื่องมืออุปกรณ์การเรียนทันสมัย ภาษาอังกฤษแข็ง ภาษาที่สามเป็นทางเลือก  ความปลอดภัยในโรงเรียน อนามัยและสุขลักษณะที่เหนือกว่ามาก

“ตอนเด็กเข้าเอกชนพอมัธยมค่อยเข้ารัฐ”  ค่านิยมพ่อแม่รุ่นใหม่

ในวัยที่เด็กยังดูแลตัวเองไม่ได้ ผู้ปกครองยุค 4.0 เลือกที่จะให้แก้วตาดวงใจ เรียนโรงเรียนอนุบาล และประถมในโรงเรียนเอกชนซึ่งอุดมไปด้วยความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมที่น่าพอใจ  ใกล้บ้าน รับส่งได้สะดวก ครูประจำชั้นยกหูหาเราเสมอเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน  กิจกรรมของเด็กปรับเข้ากับยุคสมัย  พื้นฐานทางภาษาได้เริ่มก่อนใคร

แล้วพอเด็กโตขึ้น ก็ไปสอบวัดระดับความรู้ความสามารถ เข้าโรงเรียนรัฐบาลแห่งที่ดี มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะสอบได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีมาตรฐานทางวิชาการอันจะส่งให้ลูกหลานเข้ารั้วมหาวิทยาลัยชั้นดีสำเร็จ แต่ถ้าไม่ได้ ก็ยังมีโรงเรียนเอกชนเป็นทางเลือก แม้จะเหนื่อยในการแบกค่าเทอมแสนแพงต่อไป แต่เพื่อลูก พ่อแม่ทุกคนก็ยอมโดยสดุดี

สนับสนุนโรงเรียนรัฐโอบอุ้มโรงเรียนเอกชน

ภาครัฐควรมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และเพิ่มความปลอดภัย อันควรเป็นงบประมาณแรกที่ถูกใช้ในการพัฒนาโรงเรียนไม่แพ้คุณภาพทางวิชาการ ซึ่งก็จะดึงดูดให้คนเรียนโรงเรียนรัฐมากขึ้น เสริมสมาคมผู้ปกครองให้แข็งแกร่ง ในขณะที่เพิ่มโควตาการศึกษาต่อ หรืองานจากภาครัฐ ให้แก่สถานศึกษาเอกชน ที่ปรับค่าเรียนค่าเทอมให้เหมาะสม อันจะช่วยให้ผู้ปกครองเข้าถึงได้มากขึ้น เป็นการแบ่งเบาความแออัดของโรงเรียนรัฐบาลได้อีกแรง  เมื่อโรงเรียนรัฐบาลสามารถเพิ่มความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในใจของผู้ปกครองได้ ค่านิยมในการเรียนโรงเรียนเอกชนก็อาจลดน้อยลง เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้โรงเรียนเอกชนที่ขูดรีดค่าเล่าเรียนอันแสนแพง ได้ปรับลดลงไปอยู่ในอัตราที่เหมาะสมเพื่อแข่งขัน

สังคมดี เริ่มที่บ้าน  แต่การส่งต่อเด็กไปยังเพื่อนและครู ซึ่งใช้เวลากับเขาทั้งวัน มันควบคุมได้ยาก ผู้ปกครองหลายคนคิดเช่นนี้..  และโรงเรียนเอกชน จึงเติบโตจากมูลเหตุนี้นั่นเอง..

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0