โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เน่าซ้ำเน่าซาก! การเมืองไทย! “หน้าเก่า - พรรคใหม่” VS. “หน้าใหม่ - พรรคเก่า”

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 05 พ.ย. 2561 เวลา 01.00 น.

เน่าซ้ำเน่าซาก! การเมืองไทย! “หน้าเก่า - พรรคใหม่” VS. “หน้าใหม่ - พรรคเก่า”

ภายหลังจากที่รัฐบาลของ “พลเอกประยุทธ จันทรโอชา” ได้ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 ก.พ. 2562 บรรยากาศการหาเสียงของพรรคการเมืองก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนพรรคเก่าๆที่ยังคงดำเนินการอยู่ หรือพรรคใหม่ๆที่เพิ่งจดทะเบียนในปี พ.ศ. 2561 ก็ต่างออกมาสร้างสีสัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ การให้ผู้นำพรรคได้ออกสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อที่จะให้เป็นที่รู้จัก หรือพบปะประชาชน การจัดกิจกรรมต่างๆมากมายเพื่อหาเสียงก็กลับมาอีกครั้ง 

สำหรับผู้รักประชาธิปไตย นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดีถึงความเปลี่ยนแปลงว่าประชาชนในประเทศจะได้มีสิทธิ์เข้าคูหา…กาเลือก “ผู้แทน” ที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนเข้าไปนั่งในสภาอีกครั้ง หลายๆคนจึงฝาก “ความหวังใหม่” ไว้กับพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยความคาดหวังว่าจะมีอะไร “ใหม่ๆ” เข้ามาพัฒนาให้ประเทศเราดีขึ้น 

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะได้อะไร “ใหม่ๆ” จริงหรือ? 

แน่นอนว่าพรรคการเมืองต่างๆย่อมมีระบบวงศ์วานว่านเครือที่ใกล้ชิดกันภายในพรรค ไม่แปลกที่เมื่อมีการดำเนินการทางการเมืองอีกครั้ง เราจะได้เห็นสมาชิกพรรคทั้ง “หน้าเก่า” และ “หน้าใหม่ – นามสกุลเก่า” แวะเวียนมาให้ได้เห็นกันซ้ำๆอยู่เสมอยิ่งกว่าละครรีเมก อีกทั้งยังมาในรูปแบบต่างๆกันหลายประเภท อันจะแยกย่อยได้เป็นดังนี้ 

พรรคเก่า-คนเก่า 

พรรคเพื่อไทย 

สำหรับพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคในครั้งนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น "คุณหญิงสุดารัตน์เกยุราพันธุ์"อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถือว่าเป็นวงศ์วานว่านเครือเดียวกันกับชาวพรรคเพื่อไทย และ “ดรีมทีม” ฝีมือดีของพรรคนี้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ยังอยู่กันครบ ไม่ว่าจะเป็น นายปลอดประสพสุรัสวดีอดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  นายกิตติรัตน์ระนองอดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กระทรวงการคลัง นั่งแท่นเป็นรองหัวหน้าพรรค และ นายชัชชาติสิทธิพันธุ์อดีต รมว. กระทรวงคมนาคม เป็นที่ปรึกษาพรรค…เรียกได้ว่า…นอกจากชื่อพรรคจะคุ้นๆแล้ว…หน้ายังคุ้นๆกันทั้งนั้น…

พรรคเก่า-คนใหม่

พรรคประชาธิปัตย์ 

พรรคการเมืองเก่าแก่ที่ดำรงอยู่มายาวนานกว่า 7 ทศวรรษ จึงเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีกลุ่มคนที่เรียกว่า "ยุวประชาธิปัตย์"หรือชาวประชาธิปัตย์น้อยๆที่พร้อมจะสืบทอดความคิด เจตนารมณ์คนในพรรค…ซึ่งก็เป็นทีมวงศ์วานว่านเครือไม่แพ้กัน…ไม่ว่าจะเป็น "นายพริษฐ์วัชรสินธุ์"หลานชายแท้ๆของ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี หรือ "นายสุรบถหลีกภัย"ลูกชายแท้ๆของ "นายชวน หลีกภัย" อดีตนายกรัฐมนตรีเช่นกัน…เรียกได้ว่าถึงหน้าไม่คุ้น…แต่นามสกุลก็คุ้น…และบางทีก็คุ้น…ไปถึงดีเอ็นเอ 

พรรคใหม่-คนเก่า 

พรรครวมพลังประชาชาติไทย 

พรรคการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นและเพิ่งจะได้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองไปไม่นานเช่นกิจกรรม “เดินคารวะแผ่นดิน” ของพรรค แต่กลับมาแรงแซงทางโค้งไม่แพ้พรรคการเมืองใดในแง่ของความ “หน้าคุ้น” เพราะแกนนำพรรคก็คือ "นายสุเทพเทือกสุบรรณ"อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับเป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะ “ลุงกำนัน” หรือแกนนำ กปปส. ซึ่งในกรณีนี้ไม่ใช่ว่า “หน้าคุ้น” แต่เรียกได้ว่า “หน้าเดิม” กันเลยทีเดียว

พรรคใหม่-คนใหม่(?) 

พรรคอนาคตใหม่ 

พรรคการเมืองหน้าใหม่ น้องใหม่ ที่ดูจะเป็นสีสันในแง่ของความ “ใหม่” ที่สุดสำหรับฤดูกาลเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ แม้ว่าหัวหน้าพรรคจะนามสกุล “คุ้นๆ” อย่าง "นายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ"ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท และเป็นหลานชายของ "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาล พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และนอกจากนี้ยังมี "รศ. ดร. ปิยบุตรแสงกนกกุล" อดีตคณะนิติราษฎร์อีกด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นบุคคลที่ “หน้าคุ้นๆ” ในวงการการเมืองอย่างมากทีเดียว  

เรียกได้ว่าเป็นไปได้ยากจริงๆที่จะหาความ “ใหม่” ในวงการการเมือง แต่อันที่จริงแล้วความ “เดิมๆ” นั้นไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป ทั้งความ “เดิมๆ” และความ “ใหม่” นั้นอาจเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพรรคการเมืองซึ่งจะเป็นตัวแทนของประชาชนในสังคมที่มีทั้งกลุ่มคนยุคเก่าและคนรุ่นใหม่อยู่ร่วมปะปนกัน ดังนั้น ในบางทีการมีกลุ่มพรรคการเมืองที่มีทั้งความใหม่และความเก่าปะปนกันและเป็นตัวแทนของความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนได้นั้นก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี…เราอาจเพียงต้องเลือกความ “เดิมๆ” ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นปากเสียงให้กับเราในฐานะประชาชนคนหนึ่ง 

ดังนั้น หากฤดูการเลือกตั้งมาถึง เราในฐานะพลเมืองไทยจึงควรศึกษานโยบายของแต่ละพรรคให้ดีอย่างละเอียดถี่ถ้วน และที่สำคัญอย่านอนหลับทับสิทธิ์ ไปใช้สิทธิอันพึงมีของท่านที่จะเลือกตั้งกันเถิด! 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0