สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อาจเป็นเหตุให้หลายๆ คนต้องรับบทเป็น 'หมอประจำบ้าน' หรือ 'ผู้ดูแลผู้ป่วย' ไปโดยปริยาย
ทั้งระบบ 'Home Isolation' การกักตัว และจำนวนผู้ป่วยสะสมที่มากขึ้นเรื่อยๆ หลายครอบครัวจึงเริ่มมีคนป่วยเพิ่ม ทั้งจากโควิด-19 หรือด้วยโรคประจำตัวดั้งเดิม รวมถึงความยากในการเข้าถึงการรักษา ต่างก็เป็นปัจจัยให้สมาชิกในบ้านต้องปรับตัว และดูแลคนป่วยตามกำลังที่มี โดยหน้าที่ดูแลคนป่วยมักตกเป็นของลูกหลาน หรือคู่ชีวิต และเมื่อการดูแลกลายเป็นหน้าที่ ภาระที่ตามมาจึงอาจกลายเป็นต้นตอของความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทางกาย และทางใจ
สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยทุพพลภาพอยู่แล้ว ยิ่งอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดซึ่งนำไปสู่อาการเหน็ดเหนื่อยของผู้ดูแล หรือที่เรียกว่า ภาวะเหนื่อยล้าจากการดูแล (Caregiver Burden) หรือ ภาวะหมดไฟในการดูแล (Caregiver Burnout) ได้ มีอาการคล้ายเวลาที่ชาวออฟฟิศรู้สึกเฉื่อยชาหรือหมดไฟ ซึ่งมักกระทบกับหน้าที่การงาน แต่เมื่อเกิดกับผู้ดูแลผู้ป่วย ผลเสียอาจร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ที่เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย และถูกทอดทิ้งโดยไม่ตั้งใจได้
ปัจจัยและความเสี่ยงที่อาจทำให้เหล่า 'ผู้ดูแล' เหนื่อยล้ามากขึ้น
- ระดับความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย
- ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองของผู้ป่วย ยิ่งน้อย ผู้ดูแลยิ่งมีความเครียดสูง
- โรคประจำตัวและปัญหาสุขภาพของผู้ดูแล
- หน้าที่การงานและความรับผิดชอบด้านอื่นๆ ของผู้ดูแล
นอกจากความรู้และความเข้าใจในอาการป่วยที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องเรียนรู้แล้ว 'พลังกายและกำลังใจ' ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยประคับประคองไม่ให้การดูแลผู้ป่วยนั้น 'เป็นทุกข์' จนเกินไป มาดู 5 วิธีสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางใจ ให้ 'ผู้ดูแล' ไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไปกันดีกว่า!
1.ผู้ดูแลต้องเทคแคร์ตัวเอง ทั้งร่างกายและจิตใจ
ผู้ดูแลต้องอย่าลืม 'ปฐมพยาบาล' ร่างกายและจิตใจตัวเองด้วย อย่าละทิ้งงานอดิเรกหรือสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นการกินของอร่อย ดูหนัง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการพูดคุยสัพเพเหระกับเพื่อน หลายครั้งผู้ดูแลอาจรู้สึกผิด หรือรู้สึกว่ากำลังละทิ้งหน้าที่ แต่อย่าลืมว่าหากเราปล่อยให้หัวใจผุพังหรือร่างกายผ่ายผอม เราคงไม่มีเรี่ยวแรงทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อ จริงไหม?
2.ผู้ดูแลต้องให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองเท่าที่ไหว
ในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผู้ป่วยทุพพลภาพ ผู้ดูแลสามารถปล่อยให้ผู้ป่วยทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตัวเองได้ อย่างการใส่เสื้อผ้าเอง เป็นต้น วิธีนี้นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีกำลังใจจากการทำบางสิ่งจนสำเร็จ ยังเป็นการลดภาระหน้าที่ของผู้ดูแลอย่างละนิดอย่างละหน่อยอีกด้วย
ในกรณีที่ต้องดูแลผู้ป่วย โควิด-19 (สีเขียว) ที่รักษาตัวที่บ้าน ก็สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ได้ หากมีพื้นที่และความพร้อม อาจปล่อยให้ผู้ป่วยทำความสะอาดเสื้อผ้าเอง ต้มน้ำร้อนด้วยกาน้ำร้อนไฟฟ้าเอง ล้างจาน ทำความสะอาดด้วยตัวเอง ลดงานให้ผู้ดูแลมากที่สุด นอกจากจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อสู่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวที่ดีที่สุดแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยได้ขยับร่างกายให้พอสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า
3.ผู้ดูแลควรยอมรับความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
หลายครั้งที่ผู้ดูแลมักปฏิเสธความช่วยเหลือ เพราะเคยชินกับการเป็นฝ่าย 'ช่วยเหลือ' ผู้อื่นมาตลอด แต่ผู้ดูแลไม่จำเป็นต้องแบกรับทุกอย่าง ลองเปิดใจรับความช่วยเหลือเวลามีผู้หยิบยื่นให้ อาจจะขอให้เพื่อนและสมาชิกครอบครัวคนอื่นจัดหาสิ่งของจำเป็นให้ หากมีลูก ก็อาจมอบหมายให้ลูกทำงานบ้านให้ เป็นต้น
หากมีกำลังทรัพย์ ผู้ดูแลอาจจ้างพยาบาล หรือผู้ดูแลคนป่วยมาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง ก็ไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่แต่อย่างใด
4.ผู้ดูแลสามารถแสดงอารมณ์ด้านลบให้ผู้อื่นรับรู้ได้
อย่ากดดันตัวเองด้วยการแสร้งทำเป็นว่า 'ฉันไม่เป็นไร' ในขณะที่ในใจเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ความขุ่นข้องหมองใจ ความกลัว หรือแม้กระทั่งความโกรธ
ระบายความรู้สึกออกมาให้คนรอบข้างได้รับรู้ แต่ควรสังเกตและค้นหาแนวทางในการผ่อนคลายหรือแก้ไขต้นเหตุของความขุ่นใจนั้น อาจลองปรึกษาคนสนิท หรือเขียนความกังวลออกมาให้หมด จากนั้นลองคิดหาวิธีขจัดความรู้สึกด้านลบด้วยหลักการและเหตุผล อย่าลืมว่าการเก็บกดทางอารมณ์มีส่วนทำลายสุขภาพจิต หากรู้สึกอ่อนแอและใจสลายจริงๆ ผู้ดูแลอาจลองปรึกษาจิตแพทย์เพื่อแนวทางการรักษาที่จริงจังขึ้น
5.ผู้ดูแลต้อง 'ใช้ชีวิตปกติ' ให้ได้มากที่สุด
บ่อยครั้งที่การดูแลผู้ป่วยอาศัยความทุ่มเทแบบเต็มเวลา แต่ผู้ดูแลต้องไม่ลืมที่จะรักษากิจวัตรและชีวิตปกติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจอย่างที่เคยทำ ออกไปเที่ยวกับเพื่อน ให้เพื่อนมาเยี่ยมที่บ้าน หากไม่ได้รับหน้าที่ผู้ดูแลเพียงคนเดียว ให้หาเวลาไปพักร้อนระยะสั้นๆ บ้าง ป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดและกดดันจนเกินไป
กิจกรรมเหล่านี้จะย้ำเตือนผู้ดูแลอยู่เสมอว่าในอีกด้านหนึ่งของชีวิต ยังมีความสดใสให้เราได้ไปเก็บเกี่ยวมาเป็นพลังในการทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หรือคนที่เรารักต่อไป
กำลังใจถึง 'ผู้ดูแล' ทุกคน
การ 'ดูแลผู้ป่วย' น่าจะเป็นงานที่ยากที่สุดในโลกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือเป็นผู้ทุพพลภาพ เป็นงานที่ไม่มีเงื่อนไขขอบเขตตายตัว ค่าตอบแทนไม่แน่นอนหรืออาจไม่มีเลย ทั้งยังต้องใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในบางกรณี
แต่ใช่ว่าการดูแลผู้ป่วยจะมีแต่ความทุกข์ ยิ่งเป็นคนในครอบครัวหรือคนรัก การได้ดูแลกันคือการได้ตอบแทนและแสดงความรักที่แสนยิ่งใหญ่ เมื่อถึงวันที่ต้องบอกลา ไม่ว่าจะเป็นการบอกลาโรคและหายดี หรือการบอกลากันและกันตลอดกาล ผู้ดูแลจะไม่รู้สึกผิด เพราะได้ใช้เวลาและทำหน้าที่ของการเป็น 'ผู้ดูแล' อย่างคุ้มค่าและเต็มที่ที่สุดแล้ว
หวังว่าผู้ดูแลทุกคนจะไม่ลืมเทคแคร์ตัวเองให้ดี เท่ากับที่คอยดูแลผู้อื่นเสมอมา :)
อ้างอิง :
ความเห็น 20
Magnus 19
เคยผ่านจุดนี้มา 12 ปีเข้าใจความรู้สึกดี รอดมาได้เกือบฆ่าตัวตายไปพร้อมกับคนป่วยแล้ว ซึมเศร้าจากคนรอบข้างไม่ใช่จากคนป่วย
19 ส.ค. 2565 เวลา 02.52 น.
กานดา
ขอบคุณมากค่ะ
เห็นคนที่เรารักป่วย
มันทุกข์ใจจริง ๆ
18 มิ.ย. 2565 เวลา 04.27 น.
ติ่ง
จะดีที่สุดคือดูแลไม่ให้มาเป็นคนป่วย..ถ้าสุดวิสัยก็ไปอย่าง แต่ระบบการรักษาไม่ควรล่าช้าอย่างยิ่ง เพราะจะลดการสูญเสียชีวิต อวัยวะ ศักยภาพในการฟื้นฟู ค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งของรัฐและผู้ป่วยเอง และการให้คำปรึกษาชี้แนะจำเป็นต้องมี ไม่ใช่ต้องไปหาเอาเองทุกเรื่อง หรือแนะนำแบบขอไปที ให้พ้นไปจากหน้างานของตน ถ้าเช่นนั้นก็เตรียมรับปัญหาผู้ป่วยถูกทิ้งกันไว้เลย
22 เม.ย. 2565 เวลา 01.35 น.
MZKoV
เป็นบทความที่ดีมากครับ ส่งต่อกำลังใจจากด้านที่เป็นมุมมองจริง เพราะผ่านจุดนั้นมามองย้อนกลับไป ถือว่าจริงแท้เลย
16 เม.ย. 2565 เวลา 15.22 น.
Nungning
ฉันคือหนึ่งในนั้น ถ้าย้อนเวลาไปได้จะไม่เครียด จะไม่กดดันตัวเอง
16 เม.ย. 2565 เวลา 14.47 น.
ดูทั้งหมด