โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โรงเรียนไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน! คุยกับแม่ผู้ทำโฮมสคูลให้ลูกเรียนตามใจชอบ

INTERVIEW TODAY

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2564 เวลา 17.00 น. • nawa.

   ระบบการศึกษาในบ้านเราเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลาว่า หลักสูตรที่มีอยู่นั้นเหมาะสมกับการเรียนการสอนในโลกยุคใหม่มากน้อยแค่ไหน บ่อยครั้งที่เรามักตั้งคำถามว่า วิชานั้นเราเรียนกันไปทำไม วิชานี้ไม่เห็นจะต้องบังคับให้เด็กเรียนเลย การกำหนดให้เด็กทุกคนต้องเรียนเหมือน ๆ กันอาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมเสมอไป เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความชอบแตกต่างกัน แต่กว่าจะได้เรียนในสิ่งที่ชอบบางทีก็สายเกินไปแล้ว..

   จะดีแค่ไหนหากเราได้ศึกษาและเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจจริง ๆ ตั้งแต่เด็ก สัปดาห์นี้ INTERVIEW TODAY จะพาไปสำรวจความคิดของ 'คุณแม่อ้อ-ปรียะดา ฉันทะกลาง อดกลั้น' แม่ผู้ตั้งใจทำโฮมสคูล (Home school) ให้ลูก ๆ ได้เรียนในสิ่งที่รักและชอบจริง ๆ ผ่านการถ่ายทอดทางเพจ บ้านเรียนพี่ใบบุญและน้องศีล ที่บอกเลยว่านี่เป็นการศึกษาทางเลือกที่น่าจับตามองอย่างมากในยุคนี้!

โฮมสคูลไม่ใช่แค่การเรียนที่บ้าน

  "โฮมสคูลคือการเรียนการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ขอเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำโฮมสคูลมาเข้าปีที่ 5 เราก็มีทางของตัวเอง คือ สำรวจว่าลูกอยากเรียนอะไร แล้วทักษะไหนที่เขาควรจะมีเพื่อไปใช้ในอนาคต ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องเรียนแบบในโรงเรียนหรือต้องเรียนวิชาการเยอะ ๆ เรียนหน้าที่พลเมือง เรียนเรื่องพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันได้"

  "ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโฮมสคูลส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเข้าใจว่า โฮมสคูลคือ พ่อแม่จะเอาเด็กเก็บไว้ที่บ้านเท่านั้น แต่จริง ๆ โฮมสคูลในเมืองไทยมันค่อย ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน เราจะมีกลุ่ม มีเพจ ตอนที่ยังไม่มีโควิดก็จะมีการจับกลุ่มกันไปทำกิจกรรมอาทิตย์ละครั้ง ตอนนั้นเราก็ออกจากงานมาทำโฮมสคูลให้ลูกแบบเต็มที่เลย พาลูกไปทำกิจกรรมตามความสนใจ เป็นการฝึกให้เขารู้จักทำงานเป็นกลุ่ม และสอนทักษะการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ด้วย"

อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจทำโฮมสคูล

  "เริ่มต้นจากเราหาโรงเรียนที่เหมาะสมกับลูกไม่ได้ เพราะเรามีบทเรียนจากลูกคนแรกว่าการที่เราส่งลูกเข้าเรียนในระบบ เรารู้สึกว่าเขาเรียนเร็วไป ตอนนั้นเขาอายุประมาณ 2 ขวบ 8 เดือน ก็เข้าอนุบาล 1 แล้ว เรารู้สึกว่าทักษะเขายังไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน ประกอบกับเราได้เห็นหนังสือที่ลูกได้เรียนได้อ่านตอนอนุบาล รู้สึกว่ามันยากมากเลย เราก็เลยมาตั้งต้นใหม่ มองหาโรงเรียนที่ไม่ได้เน้นวิชาการ แต่เราก็จะกังวลใจอีกว่า ถ้าเราเลือกโรงเรียนไม่เน้นวิชาการ ลูกเราจะมีปัญหาในอนาคตไหม ถ้าลูกเราอ่านไม่ออกล่ะ ลูกเราก็จะเรียนไม่ทันเพื่อน มันก็จะมีความสับสนในตัวเองอยู่พักนึง"

   "บังเอิญว่าช่วงที่คนเล็ก 3 ขวบ เราได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มโฮมสคูลเน็ตเวิร์ค เราก็ค่อย ๆ เห็นการจับกลุ่มของบางครอบครัวที่มักจะนัดเจอกันเลยขอไปเข้าร่วมกลุ่มด้วย เราก็เลยรู้เลยว่าโฮมสคูลมันมีการจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับวุฒิเหมือนกับการเรียนในโรงเรียนเลย โดยที่จัดให้บ้านเป็นโรงเรียนหนึ่ง โอเคงั้นเราลองดูแบบนี้ก่อน แล้วช่วงวัยประถมค่อยว่ากันว่าจะไปต่อไหม หรือถ้าไม่โอเคจริง ๆ ค่อยเอาลูกเข้าโรงเรียนตอนประถมก็ได้ เลยตัดสินใจทำแผนการศึกษาเองให้เหมาะกับลูกมากที่สุด"

คุณแม่เล่าว่า ช่วงแรก ๆ ยังมือใหม่มาก การต้องเขียนแผนการเรียนให้ลูกจึงเป็นเรื่องยาก แต่โชคดีที่มีพี่เลี้ยงคอยแนะนำให้คำปรึกษาว่าต้องทำอย่างไร และมีต้นแบบของสำนักงานเขตการศึกษาอยู่ จึงเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับลูก ๆ ได้

ทำโฮมสคูลให้ลูกทั้งสองคน

   "คนเล็กคือเริ่มตั้งแต่อนุบาล ไม่เคยเข้าโรงเรียนในระบบเลย พอจบอนุบาลแล้วเขาบอกว่าเขาไม่อยากไปโรงเรียน เขาอยากทำโฮมสคูลต่อ เราก็โอเคตามใจลูก ยกตัวอย่างในช่วงอนุบาล เราก็ไม่ได้สอนอะไรเลยนอกจากเน้นเรื่องของกิจกรรมที่พัฒนาตัวเขาเอง เช่น การเข้าสังคม สอนการพัฒนาจิตใจ ทักษะการเรียนรู้ รวมถึงทักษะของการใช้ชีวิต เรารู้สึกว่าการสอนให้เด็กวัยอนุบาลมี Self-esteem เป็นเรื่องที่ดีและสำคัญ"

   "ส่วนลูกคนโตเคยเข้าโรงเรียนมาก่อน แล้วขอมาโฮมสคูลกับน้องได้ 2 ปี ตอนออกมาโฮมสคูลอยู่ช่วงประมาณ ป.4 ก็ถือว่าโตแล้ว เขาจำเป็นต้องมีทักษะวิชาการ สิ่งที่เราสอนก็จะเป็นเรื่องของแบบฝึกหัดในโรงเรียน และสอนเรื่องความรับผิดชอบในสิ่งที่เขาต้องทำ เราก็จะมอบโปรเจ็กต์ให้ ให้เขาวางโครงงานโปรเจ็กต์ที่เขาอยากทำเอง ถ้าเขาอยากเรียนอะไรก็ต้องขวนขวายเอง มีอินเทอร์เน็ตก็ไขว่คว้าหาอ่านในอินเตอร์เน็ตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทิ้งลูกให้อยู่กับจอคอมเพียงอย่างเดียว เราก็จะมีกำหนดเป็นช่วงเวลาว่าให้เขาค้นคว้าหาในเรื่องนั้น ๆ มาแล้วเขียนสรุป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาได้จะไม่เหมือนเด็กในโรงเรียนหรอก เพราะว่าเราเรียนกันคนละอย่าง เราอาจจะไม่ได้เน้นวิชาการเท่าเด็กในโรงเรียน แต่สิ่งที่เรารู้สึกว่าเขาพัฒนาขึ้นเลยก็คือเรื่องของการตัดสินใจ แล้วสิ่งที่เขาได้อีกอย่างก็คือ เวลาเขาจะลงมือทำอะไรเขาจะคิดก่อนเสมอ"

เมื่อเช้า ศีลตื่นมาเล่นเกม แต่เช้า (ผิดกฎ) พอสักพักเดินมาหา แม่น้องมีอะไรจะเล่าให้ฟัง ศีล : เล่นเกม อยู่นะแม่…

Posted by บ้านเรียนพี่ใบบุญและน้องศีล on Saturday, February 13, 2021

ตอนเริ่มต้นทำโฮมสคูลแรก ๆ คนรอบตัวยังไม่ค่อยเข้าใจ

   "ตอนแรกแฟนเราก็งงนะ เขาไม่ได้เห็นด้วย เขายังไม่เข้าใจว่าโฮมสคูลคืออะไร แต่เรารู้สึกว่าการพูดมันไม่สำคัญเท่ากับลงมือทำ มันเป็นเรื่องของการพิสูจน์ การใช้เวลาทดลองทำ ส่วนตัวเรามองว่า การที่เราไม่เอาลูกเข้าโรงเรียนในระบบมันไม่ใช่เรื่องเสียหาย"

   "เขาก็เข้าใจเหมือนทุกคนว่าทำโฮมสคูลก็แค่เอาลูกไว้ที่บ้าน แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ ตอนนั้นสังคมที่เราพาลูกไปทำกิจกรรมไปเจอเพื่อน ๆ ได้เห็นหลากหลายอาชีพ มีพ่อแม่เป็นหมอ วิศวกร ทนายความ นักศิลปะ หรือเป็นเจ้าของบริษัท มารวมกลุ่มแลกเปลี่ยนกัน มาช่วยกันเลี้ยงลูก แฟนเราก็เริ่มเข้าใจ ส่วนคนรอบข้างเราก็แค่อธิบายให้ฟัง ตอนนั้นทุกคนก็จะงงเหมือนกันหมด แต่ครอบครัวก็ค่อนข้างให้เกียรติเราเพราะนี่คือลูกของเรา เขาเชื่อว่าคนเป็นพ่อแม่ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกอยู่แล้ว จนวันหนึ่งเขาก็เห็นว่ามันได้ผลนะ อย่างลูกคนเล็กก็จะเห็นพัฒนาการชัดมาก ด้วยความที่เราไม่ได้สอนอะไรเลยในช่วงแรก แต่พอ 6 ถึง 7 ขวบ เขาอ่านออกเขียนได้ และตอนนี้กำลังจะ 8 ขวบ อ่านรามเกียรติ์ได้ เข้าใจเนื้อหา สามารถอ่านเรื่องยาก ๆ ได้ ทุกคนก็จะเรียนรู้ว่า นี่สินะคือการเรียนโฮมสคูล"

   "เรามองว่าการเรียนมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องเรียนเฉพาะแบบฝึกหัดในโรงเรียนเท่านั้น อย่างวิชาภาษาไทย มันมีหนังสือที่หลากหลายให้ได้เรียนรู้ ลูกคนเล็กของเราอยากอ่านภาษาไทยให้ออก เพราะเขาอยากอ่านรามเกียรติ์ แล้วพอเราพบว่าลูกเราอยากทำอะไรหรือชอบอะไร เขาก็จะพยายามฝึกฝนค้นคว้าด้วยตัวเอง อันนี้เป็นทักษะที่เด็กโฮมสคูลจะมี"

โฮมสคูลกับเรียนในโรงเรียนมีจุดดีจุดด้อยต่างกันไป

   "เราเชื่อว่าการเรียนในระบบโรงเรียนและการเรียนโฮมสคูลมันก็มีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน อย่าลืมว่าเด็ก 10 คน ก็มีความชอบ 10 อย่าง แตกต่างกันแน่นอน เราค่อนข้างเข้าใจว่าการเรียนในระบบและการเป็นคุณครูก็ภาระหนักเหมือนกันนะ อย่างบางห้องมีเด็ก 50 แต่คุณครูมีแค่คนเดียว ซึ่งเด็กทั้งหมดนี้อาจจะเรียนไม่ทันกันทุกคนอยู่แล้ว แล้วถ้ายิ่งให้หาความชอบของแต่ละคนอีกก็จะเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก เพราะความจำเป็นของโรงเรียนคือต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกับเด็กทุก ๆ คน ซึ่งเราก็เห็นอยู่ว่าภาระงานครูนอกเหนือจากเรื่องการเรียนการสอนมันก็เยอะ อันนี้เห็นใจคุณครูในโรงเรียนมาก ๆ"

   "อีกอย่างคือเรารู้สึกว่า เด็กบางคนอาจไม่ได้เหมาะกับการเข้าโรงเรียน แต่เด็กบางคนอาจเหมาะกับการไปโรงเรียน อย่างลูกคนโตเขาชอบไปโรงเรียน เขาชอบวิชาการ การเรียนวิชาการเขารู้สึกสนุก ในโรงเรียนก็มีข้อดีอีกแบบนึง โฮมสคูลก็มีข้อดีอีกแบบหนึ่ง"

   "อย่างลูกคนเล็กเป็นเด็กที่ไม่ได้เหมาะกับการไปโรงเรียน เรารู้เลยว่าถ้าลูกเราไปโรงเรียนอาจจะถูกมองว่าเป็นเด็กที่มีปัญหา เพราะเขาชอบทดลอง อาจจะเพราะเราสอนเขาตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาเราสอนเลข เราไม่เคยให้เขาทำแบบฝึกหัดเลย แต่เรียนจากภาพ เช่น เราสอนเลขการคูณหรือหาร เราก็เอาตัวต่อเลโก้มากองแล้วก็ทำให้เขาเห็นกระบวนการ เขาก็จะนึกภาพออก เราเคยลองให้เขาทำแบบฝึกหัด เขาก็จะงงเพราะเขาเคยเรียนแบบเห็นภาพมาก่อน แบบนี้เขาต้องค่อย ๆ ปรับไป เราก็เลยรู้สึกว่าเด็กบางคนเหมาะกับการทำโฮมสคูลมากกว่า เช่นเดียวกับการที่เด็กบางคนเหมาะกับการเข้าโรงเรียนมากกว่า เพราะฉะนั้นแต่ละครอบครัวก็จะต้องดูว่า อะไรที่เหมาะสมกับลูกค่ะ"

เด็กโฮมสคูลเป็นเด็กไม่มีสังคม?

   "ไม่จริงเลย ยกตัวอย่าง ลูกคนเล็กมีความชอบหลายอย่าง เขาก็จะมีกลุ่มเพื่อนตั้งแต่เล็ก ๆ เลย เจอกันตั้งแต่ 1 ขวบจนตอนนี้โตมาด้วยกันจนจะ 8 ขวบแล้ว ยังเล่นด้วยกันปกติ เขามีกลุ่มเรียนโขน ซึ่งกลุ่มเรียนโขนจะไม่ใช่เด็กโฮมสคูล จะเป็นเด็กทั่ว ๆ ไปที่มาเรียน เขาก็สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกับคนอื่นได้ เพราะเขาสนใจในเรื่องเดียวกัน"

เรียนรู้นอกตำราและได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ

   "เขาจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ ส่วนพวกวิชาการ เราจะเป็นคนสอนเองบ้าง อย่างวิชาภาษาอังกฤษก็จะเป็นคุณแม่คนนึงที่ใช้ภาษาอังกฤษกับสื่อสารลูกเป็นประจำ ก็จะมาสอนให้ลูกเราด้วย ตอนนี้เราก็ให้เขาฟังและพูดให้รู้เรื่องก่อน เดี๋ยวอ่านเขียนค่อยเป็นไปตามพัฒนาการ"

   "ช่วงนี้ลูกคนเล็กเขาชอบมวยปล้ำ แต่บ้านเราก็จะไม่ค่อยมีกีฬามวยปล้ำ เขาก็จะไปคอยดูคลิปในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมันเป็นภาคภาษาอังกฤษ ช่วงแรก ๆ เขาจะเข้าใจเป็นบางคำ ส่วนบางคำเขาก็จะไม่รู้เรื่อง เขาก็จะวิดีโอคอลไปคุยกับคุณครูภาษาอังกฤษของเขาเพื่อจะถามว่าคำนี้แปลว่าอะไร ก็ค่อย ๆ สอนและพัฒนากันไป"

  "เรารู้สึกว่าวิชาต่าง ๆ ในการเรียนมันสามารถบูรณาการเข้าด้วยกันได้ อย่างลูกเคยมีคำถามว่า แม่ ทำไมฝนตกแล้วมีฟ้าร้องฟ้าแลบด้วย เราก็สอนวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับเรื่องธรรมชาติเข้าไปด้วย เราว่าเด็กยุคนี้โชคดีนะ มีสื่อการสอนเยอะมาก ทั้งแอนิเมชั่น ทั้ง YouTube เราก็เปิดให้เขาดู ให้เขาทำความเข้าใจและเขียนสรุปเป็นบทเรียนไว้ทบทวนทีหลัง"

สิ่งสำคัญที่ครอบครัวโฮมสคูลต้องมี

   "อันดับแรกเลยคือต้องดูความพร้อมของเด็กก่อน รวมถึงความพร้อมของครอบครัวเองด้วย ถ้าคนนึงอยากทำแต่คนนึงไม่เข้าใจก็ต้องไปคุยกันก่อน หรือถ้าที่สุดแล้วที่บ้านไม่สนับสนุน ก็ยังสามารถนำวิถีของโฮมสคูลเข้าไปผสมกับการเรียนการสอนในระบบได้ เพราะโฮมสคูลไม่ได้ตายตัว มันสามารถเอามาปรับเปลี่ยนได้ตลอด"

   "ส่วนความพร้อมของการทำโฮมสคูล ด้วยความที่โฮมสคูลมีหลากหลายรูปแบบมาก บางคนก็อาจจะเข้าใจว่าการทำโฮมสคูลต้องเป็นคนมีฐานะหรือเปล่า อันนี้เราว่าแล้วแต่ครอบครัวมากกว่า มีครอบครัวหนึ่งที่เรารู้จัก เป็นครอบครัววิธีการเกษตร พ่อก็สอนให้ลูกทำงานที่บ้าน เป็นเกษตรกรตัวน้อยตั้งแต่เด็ก เด็กก็เจ๋งมาก เข้าใจเรื่องระบบเกษตรอินทรีย์ ช่วยพ่อแม่ทำงาน ขายของเก่ง สามารถคำนวณได้ว่ามีผลิตผลเท่านี้ ต้องขายยังไง รู้จักการทำผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เรียกว่าแล้วแต่ที่บ้านมากกว่า อย่างบ้านเราลูกชอบไปทางด้านกีฬา เราก็จะดูแลเรื่องการซ้อมกีฬากับคุณครู ส่งเสริมกันไปเท่าที่ทำได้"

แม้ว่าเด็กจะได้เรียนตามความชอบ แต่เด็กก็มาพร้อมกับความงอแงเป็นธรรมดา มีบ้างที่บางวันอาจจะไม่อยากเรียน ตรงนี้พ่อแม่ก็ต้องจัดการและรับมือให้ได้ ไม่ใช่จะตามใจลูกตลอดไป

   "เรื่องงอแงก็มีอยู่บ้างตามประสาเด็ก เขาก็จะบอกเราว่าวันนี้เขาไม่พร้อม เราก็ถามเขาว่าไม่พร้อมเพราะอะไร เหนื่อยหรือเปล่า คุยกันด้วยเหตุผลมากกว่า และต้องสอนให้เขามีความรับผิดชอบ จริง ๆ ตารางของการเรียนโฮมสคูลมันไม่ได้แน่นทั้งวันเหมือนในโรงเรียนทั่วไป อย่างเช่นวันนี้ทำเลข 5 หน้า คุณก็ต้องรับผิดชอบ 5 หน้านี้ให้จบนะ ถามว่าทำทั้งวันเลยได้ไหม ก็แล้วแต่ แต่อย่าลืมว่าคุณมีแพลนอย่างอื่นต่อ ถ้าทำ 5 หน้านี้ไม่เสร็จ คุณก็จะไปเบียดเบียนเวลาทำอย่างอื่นแทน หรือถ้าวันนี้เขาไม่ทำเลย พรุ่งนี้ก็จะถูกเบิ้ลขึ้นเป็น 2 เท่า ไม่ใช่ว่าการที่เขาไม่พร้อมไม่เรียนแล้วจะตามใจแล้วจบไปเลย นี่ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการเวลาที่เราสอนเขา แต่อย่าลืมว่าเขายังเล็ก เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เข้มงวดหรือไปกดดันอะไรมาก สิ่งที่ควรทำคือต้องปรับและต้องสอนเขาอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปมากกว่า"

เห็นพัฒนาการอะไรในตัวลูก ๆ หลังทำโฮมสคูล

   "ลูกคนโตตอนที่ทำโฮมสคูลอยู่ วันหนึ่งเขาบอกว่าเขาอยากกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียน เพราะเขาพร้อมแล้ว เราก็ให้เขาทบทวนว่าที่อยากกลับเข้าโรงเรียนเพราะอะไร เขาบอกว่าเขาอยากเจอเพื่อนในอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน อยากมีสังคมเพื่อน อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะเรารู้สึกว่าเขาเข้าวัยรุ่นแล้วมันเป็นธรรมชาติของเขา สิ่งที่เราเห็นชัดเลยก็คือ เขาสามารถเข้ากับเพื่อนในกลุ่มได้อย่างปกติ สามารถเอาตัวรอดและจัดการปัญหาของเขาเองได้ ส่วนคนเล็ก เราจะเห็นการเติบโตของเขาในเรื่องความคิดความอ่านและลักษณะของพฤติกรรมบางอย่าง เรารู้สึกว่าเขาโตกว่าอายุ หลาย ๆ เรื่องเขาจะคิดก่อนทำเสมอ"

   "มีครั้งหนึ่งเขาไปเรียนรวมกลุ่มกับเพื่อนหลาย ๆ คน เขารู้สึกว่ามีเพื่อนคนนึงพูดจาไม่เพราะและแกล้งเขา เขาก็ทนจนหมดชั่วโมงเรียน พอจบแล้วเขาก็เดินมาบอกแม่ว่า รู้สึกไม่โอเคเลยที่เพื่อนคนนี้มาแกล้ง เราก็ถามกลับว่าแล้วลูกรู้สึกแบบไหน เขาก็ตอบเราว่ารู้สึกโกรธ เราก็ถามต่ออีกว่าแล้วลูกทำยังไงต่อ ลูกโต้ตอบเขากลับไหม เขาบอกว่าไม่ได้ทำ เพราะรู้สึกว่าทำแล้วไม่ดี เราก็เลยบอกว่า แม่ขอบคุณที่ลูกไม่ได้ตอบโต้เพื่อนกลับไป ขอบคุณที่อดทนและเดินมาเล่าให้แม่ฟัง แล้วก็ถามไปอีกว่าแล้วจะจัดการปัญหานี้ยังไง เขาก็บอกว่า ลูกก็ไม่คุยกับเขาแล้วกัน อยู่ห่าง ๆ กัน เขาจะได้ไม่ยุ่งกับเรา เขาก็แก้ปัญหาในวิธีของเขาไป"

   "เราก็คิดว่าถ้าเป็นเราในช่วงอายุเท่านั้น มีคนมาทำแบบนั้นกับเรา เราก็คงตีกลับแน่ ๆ โดยธรรมชาติ แต่ลูกเราเลือกที่จะอดทนและเดินมาบอกเราว่ารู้สึกไม่โอเคกับคน ๆ นี้ คือเขามีความยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ เราก็รู้สึก ว่าโอเคนี่คือสิ่งที่เขาแสดงให้เราเห็นว่า เขาน่าจะมีกระบวนการคิดวิเคราะห์อะไรบางอย่างในตัวเขาที่โตเกินอายุของเขาค่ะ"

การทำโฮมสคูลจะต้องจดทะเบียนกับสำนักงานพื้นที่การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการอย่างถูกต้อง มีสถานะเป็นโรงเรียนหนึ่ง เพียงแต่มีนักเรียนแค่หนึ่งคนในโรงเรียน พ่อแม่ก็มีจะสถานะเป็น ผอ. โรงเรียน จะไม่ได้เป็นครูโดยตรง เพราะโรงเรียนหนึ่งมีครูหลาย ๆ วิชาได้ จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในจัดหาครูมาสอนหนังสือลูกตามรายวิชาไป

เรียนแบบนี้แล้ววัดผลอย่างไร

   "ตอนสอบวัดผลจะมีเจ้าหน้าที่จากเขตพื้นที่การศึกษามาประเมินทุกปี ถามว่าประเมินจากอะไร ก็ประเมินจากหลักสูตรที่เราเขียนส่งเขตไป อย่างหลักสูตรบ้านเรา มีเรียนภาษาไทย ก็จะมีการทดสอบการอ่านภาษาไทย ลูกเราก็จะไปหยิบหนังสือที่เขาอยากอ่านมาอย่างเช่นรามเกียรติ์ หรือทำแบบฝึกหัดเลขให้กรรมการดู หรืออยากจะโชว์การเล่นสเก็ตก็โชว์ให้กรรมการดู ตามหลักสูตรที่เราเขียนแผนไปว่าลูกเราจะเรียนอะไรบ้าง"

   "ถ้าจบการศึกษาไปก็จะมีใบ ปพ. ซึ่งประเมินเป็นเกรดออกมาเลยเหมือนโรงเรียนทั่วไป ทำให้เราไปต่อในโรงเรียนปกติได้แน่นอน พิสูจน์จากคนโตที่สามารถกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนได้ มีเด็กคนโฮมสคูลหลายคนที่จบป. 6 ไปแล้วก็เข้าไปเรียนมัธยมต่อตามปกติ"

วิชาสมุดบันทึก

Posted by บ้านเรียนพี่ใบบุญและน้องศีล on Thursday, October 8, 2020

วางแผนอนาคตของลูกไว้อย่างไร

   "เราคิดเป็นช่วงสั้น ๆ อย่างเช่น 0-7 ปี เราก็จะทำโฮมสคูลให้เขา หลังจากนั้นมาดูกันอีกทีว่าจะเข้าโรงเรียนในระบบหรือว่าจะทำโฮมสคูลต่อ ตอนนี้ลูกคนเล็กบอกว่าอยากเรียนโฮมสคูลต่อในชั้นประถมเราก็เอาเท่านี้ แล้วค่อยวางแผนเรื่องมัธยมกันต่อที"

   "สิ่งสำคัญกว่าเรื่องอื่นก็คือ เราอยากสอนให้เขามีทักษะในการใช้ชีวิต การเรียนรู้เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะส่วนตัวรู้สึกว่าในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีที่เราทำโฮมสคูลทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และเราก็เชื่อว่าในอีกปี 2 ปีนี้ก็จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอีกมากมาย การที่จะไปกำหนดว่าในอีกปีสองปีให้เขาทำอะไรต่อดี เราไม่เคยคิดที่จะกำหนดถึงขั้นนั้น เพียงแต่ว่าอยากให้เขามีทักษะในการใช้ชีวิตให้เยอะมากที่สุดก็พอ เราแค่คิดทีละสเต็ปเท่านั้นเองค่ะ"

แบบแผนของครอบครัวไทยคือต้องจบปริญญา?

   "ไม่เลยค่ะ ไม่เลย เพราะว่าอยากให้ลูกเอาตัวรอดได้มากกว่า อย่างคนโตตอนนี้ชอบทำขนม เราก็แนะนำว่างั้นจบม. 3 แล้วไปเรียนทำขนมกันไหม ตามศูนย์พัฒนาอาชีพก็ได้ ทำอะไรก็ตามที่หารายได้ได้ก็พอแล้ว เรามองว่าปริญญาพี่มันเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ อีกอย่างตอนนี้จบปริญญาก็ตกงานกันเยอะนะ งั้นถ้าเรียนสิ่งที่ทำให้เราเลี้ยงตัวเองได้ก็โอเคแล้ว เรามองแบบนี้สำหรับครอบครัวเราค่ะ"

   ผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องราวโฮมสคูลน่ารัก ๆ ของครอบครัวคุณแม่อ้อเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ บ้านเรียนพี่ใบบุญและน้องศีล ค่ะ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0