โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

2 ปีในแอฟริกากับภารกิจสานสัมพันธ์ระดับประเทศ...คุยกับนักการทูตหญิงสายลุย "ก้ามปู ศศิญาดา"

INTERVIEW TODAY

เผยแพร่ 20 พ.ค. 2564 เวลา 01.00 น. • @mint.nisara

อาชีพนักการทูตอาจมาพร้อมกับภาพแสนสวยงามของหญิงชายในชุดราตรี เข้าร่วมงานเลี้ยงนานาชาติ ชนแก้วไวน์กันหรือภาพของบุคคลในชุดสูทในงานประชุมที่มีความหมายระดับโลก แต่แท้จริงแล้ว นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสายอาชีพนี้เท่านั้น งานด้านการทูตยังรวมไปถึงการช่วยเหลือประชาชนของประเทศนั้น ๆ ในต่างถิ่น การสานสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศโดยมอบความช่วยเหลือและการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นอาชีพของสายลุยและงานที่ใช้หัวใจและแพสชั่นขั้นสุด

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการนั่งคุยผ่านวีดีโอคอลกับ คุณก้ามปู-ศศิญาดา เนาวนนท์ นักการทูตชำนาญการที่ประจำการอยู่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่ก่อนหน้านี้ยกมืออาสาไปประจำอยู่ที่ประเทศเซเนกัล ทวีปแอฟริกา เป็นเวลา 2 ปีเต็ม งานด้านการทูตจะหนักหน่วงแต่สนุกขนาดไหน เราขอหยิบเอาตอนสำคัญจากบทสนทนาในวันนั้นมาเล่าต่อในบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้แล้ว

เริ่มต้นเส้นทางนักการทูตกับภารกิจช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน

"ด้วยความที่เราเรียนสาย Human Rights มา เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและก็เคยไปฝึกงานในหน่วยงานที่เป็น NGO มาก่อน เราก็คิดว่าถ้าตอนนั้นสอบเข้ากระทรวงไม่ติด คงจะได้ผันตัวไปเป็น NGO แน่ ๆ แต่ความโชคดีคือติดและได้มาค้นพบงานกงสุลตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้ามาทำงานเลยคิดว่า เฮ้ย มีด้วยหรอวะแก และมันใช่เลย 

งานกงสุลเป็นเหมือนมิติที่ 2 ที่สำคัญมากของงานด้านการทูตแต่คนไม่ค่อยรู้จักกัน แม้กระทั่งตัวเราเองก่อนเข้ากระทรวง ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะรู้จักกับชื่อของกรมการกงสุลที่ทำพาสปอร์ต อะไรอย่างนี้ใช่ไหมคะ ก็ใช่ส่วนหนึ่งซึ่งถ้าอยู่ในเมืองไทย งานกงสุลจะดูแลเรื่องพาสปอร์ตกับวีซ่าเป็นหลัก แต่พอเป็นนักการทูตที่ออกมาประจำการตามประเทศต่าง ๆ แล้ว งานก็จะหนักไปในส่วนของการคุ้มครองคนไทยในต่างแดน รัฐก็ยังดูแลระดับหนึ่ง แต่นักการทูตจะเป็นคนที่สำคัญในการทำหน้าที่ตรงนี้ ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มนักเรียนที่มาเรียนต่างประเทศ คนที่ย้ายมาทำงานต่างประเทศแต่ได้ความทุกข์ยากลำบากกาย กระเป๋าเงินหาย พาสปอร์ตหาย ถูกจับ หรือการขอความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านอื่น ๆ อย่างเช่นการออกเอกสารอย่างใบสูติบัตร ใบมรณบัตร หรือการให้ความช่วยเหลือในกรณีเหตุด่วนเหตุร้ายที่เกิดขึ้น"

นักการทูตสายลุย สู่ชีวิตในแอฟริกา

“โดยพื้นฐานเราเป็นคนลุยอยู่แล้ว ตอนที่มีลิสต์ประเทศให้เลือกว่าอยากไปประจำอยู่ที่ไหน เราก็เลยคิดว่าอยากไปประเทศโหด ๆ ที่เรายังไหวอยู่ด้วยอายุตอนนี้ และเป็นประเทศที่ถ้าเราไม่ได้เป็นนักการทูต คงไม่มีโอกาสได้ไปจริง ๆ ก็เลือกเลยว่าเป็น ไนจีเรีย เซเนกัล โมซัมบิก ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในหมวดที่เรียกว่า Super Hardship ลำบากมาก ๆ หลาย ๆ คนเขาอาจจะเลือกประเทศสวย ๆ ใกล้บ้านแต่ลิสต์ของเราคือแอฟริกาล้วน (หัวเราะ) และสรุปว่าประเทศที่ได้ก็คือเซเนกัล ไปประจำการเป็นเวลา 2 ปีค่ะ

อย่างแรกคือเรื่องการเดินทาง ต้องนั่งเครื่องบินและเปลี่ยนไฟลท์รวม ๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง ซึ่งประเทศเหล่านี้ไกลตัวมาก ๆ เขาไม่รู้จักเรา เราก็ไม่ค่อยรู้จักเขา แต่จำเป็นต้องมีสถานทูตเพราะเป็นโซนที่คนไทยย้ายมาทำงานกันในหลายประเทศที่เราดูแล รวมทั้งหมด 13 ประเทศด้วยกันในโซนแอฟริกาตะวันตกนี้ อย่างเช่น โตโก กาบอง กาบูเวร์ดี กินี กินี-บิสเซา แกมเบีย โกตดิวัวร์ เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ได้มาทำงานนี้คงไม่เคยได้ยินชื่อของประเทศเหล่านี้เลย หน้าที่รับผิดชอบของเราก็จะครอบคลุมทั้งโซนเลย ปัญหาที่เจอส่วนมากก็คือคนไทยที่ไปทำงานร้านนวด บางคนพอไปทำแล้วไม่แฮปปี้ก็จะติดต่อสถานทูตให้ช่วยเจรจากับนายจ้างแล้วขอให้ช่วยกลับให้ หรือช่วงโควิดเนี่ย ก็จะมีเคสในประเทศโตโกที่เราได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ อย่างคนไทยที่ย้ายไปทำงานในโรงงานน้ำดื่ม เราก็เอาสิ่งของจำเป็น เครื่องอุปโภค บริโภคไปช่วย หรือคุณป้าที่เป็นเจ้าของร้านนวดแล้วพนักงานเริ่มงอแงกันเพราะไม่มีงาน เราก็ต้องเข้าไปช่วยคุยและหาทางออกให้"

ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่แลกมาด้วยความลำบาก

"ลำบากไหม ลำบากมากนะ ตัวอย่างง่าย ๆ เลยคือมีห้างอยู่ห้างเดียว มีอยู่ 2 ชั้น ชั้นละ 7-8 ร้าน และเพิ่งเปิดได้ไม่กี่ปีก่อนที่เราจะไปถึง อาหารการกินก็ค่อนข้างยาก ด้วยความที่ภูมิศาสตร์เขาอยู่ใต้ทะเลทราย ผักใบเขียวไม่ค่อยมี อยู่นู่นเราเลยต้องปลูกถั่วงอก ปลูกผักบุ้งกินเอง แต่ที่ลำบากสำหรับการทำงานเลยจริง ๆ ก็คือพวกสาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับพื้นฐานการใช้ชีวิตของเรา อย่างบางวันนั่ง ๆ ทำงานอยู่ ไฟดับสองสามชั่วโมง คอมกระตุก เนตไม่มา น้ำไม่ไหลครึ่งวัน เหล่านี้เลยทำให้การทำงานมันใช้เวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนแรกเราก็ตาลอย แต่พออยู่ไปอยู่มาก็ชินมากขึ้น

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความปลอดภัยเซเนกัล ถือเป็นประเทศที่สงบสุขมาก ๆ คนที่นี่ใจดี แบบไม่ได้มาตัดสินเราว่าเป็นผู้หญิง เดินไปไหนมาไหนคนเดียว หรือแต่งตัวไม่เรียบร้อย เขาไม่มายุ่มย่ามเลย ในขณะที่หลายประเทศรอบ ๆ ยังมีสงครามกลางเมือง ที่นี่เป็นประเทศที่เป็นศูนย์รวมขององค์กรระหว่างประเทศ มีสถานทูตและออฟฟิศต่าง ๆ อยู่เป็นร้อย คนต่างชาติที่ย้ายมาทำงานที่นี่ก็จะมีเยอะมาก 

Culture Shock สองอย่างที่เราเจอหลัก ๆ ก็คือเรื่องที่ว่าคนเขาไม่ค่อยรักสัตว์ จะปากิ่งไม้ใส่หมาใส่แมวข้างถนนตลอดเวลา เกิดเป็นแมวที่นี่ อยู่ยากมากแม่ (หัวเราะ) กับอีกเรื่องคือเรื่องการทำงานที่เป็นคนละวัฒนธรรมกันจริง ๆ แต่ถ้าถามว่าคิดถูกหรือคิดผิดที่อาสาพาตัวเองไปอยู่ที่นั่น เราก็ตอบได้เลยว่าคิดถูกนะ กว่าจะคิดได้ว่าคิดถูกก็เหนื๊อยเหนื่อย ตอนแรกเรานอนมองเพดานน้ำตาไหล ถามตัวเองตลอดเลยว่ามาทำอะไรที่นี่ อยู่ก็ลำบาก ทำงานก็ลำบาก แต่พอคิดได้ว่ามันคงเป็นประสบการณ์ครั้งเดียวในชีวิตจริง ๆ ได้เรามาอยู่ที่นี่ ช่วยเหลือคนที่นี่ เราก็ไม่รู้สึกผิดหวังกับช้อยส์ที่เราเลือก”

ความสัมพันธ์คืออุปสรรคหลักของนักการทูตหญิง

"นอกจากเรื่องการทำงานแล้ว ตั้งแต่เข้ากระทรวงมาก็จะมีรุ่นพี่ที่ขู่เอาไว้เยอะว่านักการทูตหญิงให้ระวังไว้เรื่องการมีครอบครัวนะ เพราะไม่มีผู้ชายคนไหนหรอกที่จะย้ายตามแฟนไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็ยากจริง ๆ เพราะในวัฒนธรรมบ้านเรา มันเป็นเรื่องปกติมากกว่าที่ผู้หญิงจะลาออกจากงานเพื่อย้ายประเทศไปอยู่ดูแลสามีในฐานะภริยานักการทูต แต่ในทางกลับกัน มันฟังดูไม่เมคเซนส์ที่ผู้ชายที่จะยอมเสียสละย้ายตามผู้หญิงไป ถึงมีก็มีน้อยมาก ๆ

เราก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยกับจุดนี้แล้ว เพราะเวลาย้ายประเทศก็ต้องไปเริ่มใหม่ และพอต้องย้ายประเทศอีกแล้วก็คือต้องจบความสัมพันธ์นั้น วนไปวนมาแบบนี้ ซึ่งแค่การไปอยู่ต่างแดนที่ไม่ใช่บ้าน มันก็เหงามาก ๆ แล้ว และมีเรื่องนี้ที่เข้ามาด้วย แต่ทั้งหมดก็เป็นแง่มุมที่เราต้องแลกเพื่อสายงานที่เราอยากทำจริง ๆ"

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เวลาที่ต้องย้ายถิ่น

"การปรับตัวก็เป็นเรื่องที่เราต้องทำและทำให้ได้ซึ่งหลังจากเซเนกัล เราก็ถูกย้ายมาประจำอยู่ที่เบอร์ลิน  แน่นอนว่ามันก็มี Reverse Culture Shock เกิดขึ้นอยู่แล้ว ทั้งเรื่องงาน เรื่องอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งหมดเราก็ต้องปรับใหม่หมดเลย

เราพร้อมนะ เพราะทำความเข้าใจกับตัวเองมาก่อนแล้วว่าเรามาที่นี่เพื่ออะไรและรู้ล่วงหน้าตลอดว่าเวลาของเราในที่ ๆ นึงมีเท่าไร พอมาถึงจุดที่จะต้องบ๊ายบายกัน มันก็มีความรู้สึกแหละว่าเรามีเพื่อนที่นี่เยอะแล้ว ไม่อยากไปเลย แต่ใจเราก็พร้อมที่จะมูฟออน และด้วยความที่โลกปัจจุบันมีเทคโนโลยี มีการเดินทางที่ง่ายและสะดวก เลยทำให้เราไม่ได้รู้สึกเศร้าขนาดนั้น เพราะคิดว่ายังไงก็คงได้กลับมาเยี่ยมกันอีก"

รางวัลที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักการทูต

"ถึงจะฟังดูเป็นงานที่เหนื่อยก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึก 'ฟิน' กับการอยู่ตรงนี้คือการได้ทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ ด้วยความที่งานกงสุลเป็นอะไรที่เป็นรูปธรรม เป็นเหมือนนายอำเภอประจำแต่ละประเทศที่พี่น้องคนไทยมีปัญหาอะไรก็เดินเข้ามาหา เราก็สามารถช่วยเขาได้อย่างเต็มที่ และพอได้เห็นว่าเขาหลุดจากปัญหาที่ไม่ควรมาเจอได้ เราก็รู้สึกฟินมาก ๆ นะ

ยกตัวอย่างเคสที่เคยทำและประทับใจมาก ๆ ก็คือตอนที่ไปช่วยชาวประมงไทยที่ไปทำงานบนเรือประมงที่อินโดนีเซีย ปัญหาของพวกเขาคือถูกส่งไปตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่เคยมีการแจ้งเกิด ไม่มีบัตรประชาชน เลยกลับประเทศไม่ได้ เราเลยไปลงพื้นที่กับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อค้นหาทะเบียนที่ใกล้เคียงที่สุด บินไป ๆ กลับ ๆ ระหว่างไทย-อินโด อยู่ 3-4 รอบ กรุ๊ปนี้ก็ได้กลับบ้าน ซึ่งสิ่งที่เราดีใจมาก ๆ คือการที่เราได้ช่วยเขาให้พ้นจากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายได้สำเร็จ บางคนถูกทำร้ายจนความจำเลือนราง บางคนมีหูอยู่ข้างเดียว และที่น่าดีใจไปมากกว่านั้นคือการที่เขาได้กลับบ้านไปหาครอบครัวจริง ๆ ของตัวเอง

อีกข้อที่เป็นเหมือน Rewards ของอาชีพนี้คือความรู้สึกที่เราได้เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายของประเทศที่เป็นประโยชน์ เราอยู่ตรงนี้เราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าจะขับเคลื่อนอะไรสักอย่างและมีใจให้งาน ๆ นั้นจริง ๆ มันย่อมง่ายกว่าการอยู่ในองค์กรอื่น ๆ อย่างตอนที่อยู่เซเนกัลก็ได้ทำโครงการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนที่เอาโมเดลเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ช่วยประสานเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านงานเกษตรมาช่วยดูเรื่องการจัดการน้ำ เกษตรผสมผสาน โครงการปลูกผัก เลี้ยงปลานิล เป็นต้น ซึ่งเราก็มีความฟินที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแชร์ความรู้และ Best Practice ระหว่างสองประเทศ"

นักการทูตคือเป็ดที่ต้องทำได้ทุกอย่าง

ข้อสุดท้ายที่เราถามคุณก้ามปูก่อนที่จะวางสายให้เธอได้ไปปฏิบัติภารกิจประจำวันก็คือคำแนะนำสำหรับใครที่กำลังอ่านบทความนี้และอยากลองเริ่มเตรียมตัวเพื่อออกเดินทางบนเส้นทางสู่การเป็นนักการทูตบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร คุณก้ามปูแนะนำเอาไว้ตามนี้

"นอกจากความสนใจในการเมือง รัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ต้องแข็งแรงด้านภาษามาก ๆ ที่แน่ ๆ คือภาษาไทยกับอังกฤษ และถ้าจะให้ดีควรรู้ภาษาที่ 3 อย่างเช่นพวกสเปน ฝรั่งเศส หรือจีน จะเป็นประโยชน์มาก ๆ 

อีกอย่างคืองานของนักการทูตจริง ๆ แล้วคืองานที่เป็นเป็ดนะ ต้องมีทักษะหลาย ๆ อย่างรอบตัวด้วย ด้วยความที่สถานทูตในบางประเทศก็มีบุคลากรที่จำกัด และการไปอยู่ในแต่ละประเทศ นโยบายที่ได้รับมาก็ต่างกันออกไป บางครั้งเป็นโจทย์ใหม่ที่ไม่เคยได้ลองทำก็ต้องศึกษาเพิ่ม อย่างตอนอยู่เซเนกัลทำเรื่องการเกษตร พอย้ายมาเบอร์ลินก็ต้องดูเรื่องเทคโนโลยี มีงานใหม่ ๆ ที่ให้เราได้ลองทำทุกวัน อย่างการเซตระบบการประชุม Video Conference ทำใบปลิวประชาสัมพันธ์งานของสถานทูต ตัดต่อวีดีโอ หรือแม้กระทั่งการเป็นพิธีกรในงานล่าสุดเลยเนี่ย 

ความท้าทายของงานก็คือต้องเรียนรู้ให้ไวและทำให้เป็นทุกอย่าง ซึ่งมันก็ตอบโจทย์เราและหลาย ๆ คนที่ไม่ชอบนั่งทำงานอยู่กับที่เดิม ๆ และชอบชาเลนจ์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา”

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0