โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รับบท ‘คนกลาง’ อย่างไรไม่ให้ปวดหัวซะเอง!

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 18 มี.ค. 2564 เวลา 17.00 น. • nawa.
People vector created by freepik - www.freepik.com
People vector created by freepik - www.freepik.com

ในบรรดาบทบาทหน้าที่ที่เราได้รับในชีวิต บอกเลยว่ามีไม่กี่อย่างหรอกค่ะที่เราไม่อยากจะเป็นเอาซะเลย หนึ่งในนั้นขอมอบให้หน้าที่ของการเป็น ‘คนกลาง’

ไม่ว่าจะต้องเป็นคนกลางในเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องอะไรก็ตาม การต้องคอยประสานเรื่องราวให้กับคนสองฝ่ายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว ไหนจะต้องประสานอย่างมีศิลปะไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หรือต้องให้เกิดความลงรอยและความพึงพอใจของทุกฝ่ายให้มากที่สุด ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก นั่นจึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียดและปวดประสาทให้กับคนกลางอย่างเราเสียเองได้ จึงต้องยอมรับว่าการเป็นคนกลางไม่ใช่เรื่องง่าย และมักเกี่ยวพันกับความรู้สึกเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะอาการลำบากใจ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก..

บทความนี้จึงขอหยิบยกเคล็ดลับดี ๆ ให้กับคนที่กำลังรับบทคนกลาง ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างแฮปปี้ที่สุด (หรือปวดใจให้น้อยที่สุดก็ได้ค่ะ)

อย่าพยายามเข้าข้างใครเป็นพิเศษ

ท่องไว้อยู่เสมอว่าเราคือคนกลาง มีหน้าที่รับรู้สารจากทุกฝ่าย แล้วใช้วาทศิลป์ในการเจรจาหรือส่งต่อข้อความที่ได้รับมากลับไปยังปลายทาง หรือบางครั้งอาจจะต้องเก็บงำทุกอย่างไว้เอง ก็จงทำหน้าที่เท่านั้น แม้ว่าเรื่องบางอย่างเราจะรู้สึกไม่เห็นด้วย ก็ไม่ใช่กงการอะไรของเราที่จะไปใส่สีตีไข่ การไม่เข้าข้างใครจึงเป็นเรื่องดีที่สุด ไม่งั้นหากเราแสดงออกว่าเห็นด้วยกับใคร ไม่ถูกใจอะไรใคร ความซวยอาจตกมาที่เราเองก็ได้นะ อย่าลืมว่าแค่เป็นคนตรงกลาง แบกรับทุกสิ่งก็เป็นเรื่องยากแล้ว หากจะเอนเอียงไปข้างใครอาจเป็นการสร้างศัตรูเพิ่มหรือเกิดความไม่ไว้วางใจต่อกันและกันได้อีก อย่าหาทำค่ะ

ขีดกรอบให้ชัดเจน

อย่าเอ็นดูเขาจนเอ็นเราขาดซะเอง ทุกครั้งที่จะรับบทคนกลาง ต้องบอกทุกฝ่ายให้เข้าใจตรงกันตั้งแต่แรกว่า เรายินดีช่วยเหลือเท่าที่เราช่วยได้ บอกเพื่อให้เขาเคารพเราด้วยส่วนหนึ่ง และบอกเพื่อให้เรามีขอบเขตไว้เตือนตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง สถานการณ์สมมติเช่น หากเพื่อนมีปัญหากับครอบครัว ก็บอกว่าเรายินดีให้คำปรึกษาได้เสมอหากไม่สบายใจ แต่หากต้องช่วยอะไรมากเกินกว่านั้น อาจจะไม่สะดวกเท่าไหร่ ขอให้เข้าใจกันด้วย

อย่าอินเกิน

ไม่เก็บมาคิดเป็นเรื่องของตน อย่าให้เรื่องของคนอื่นมาทำลายชีวิตส่วนตัวของเราเด็ดขาด สำคัญมากคือคนกลางต้องรู้จักแยกแยะให้เป็น ไหนเรื่องของเรา ไหนเรื่องของคนอื่น อย่าเผลอใจรู้สึกเจ็บแค้นเคืองโกรธไปตามที่เขาเล่ามา ต้องย้ำเลยนะนะว่าจรรยาบรรณการเป็นคนกลางคือรับรู้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปตบตีแทนใครทั้งนั้น อยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ จะปลอดภัยกว่า

ให้คำปรึกษาตามสมควร

ไม่ต้องผูกมัดคำสัญญาอะไร แค่ให้คำแนะนำตามที่คิดก็เพียงพอแล้ว หรือบางครั้งทุกฝ่ายที่มาปรึกษาก็อาจเพียงแค่อยากระบายความรู้สึกเท่านั้น ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้รับวิธีแก้ปัญหาเลยก็ได้ ตรงนี้ต้องคุยกันดี ๆ ค่ะว่าใครต้องการอะไรแค่ไหน คนกลางจะได้แอกชั่นถูกบริบท อยากให้ช่วยไปบอกอีกฝ่ายไหม หรืออยากให้เป็นผู้ฟังปัญหาเฉย ๆ ตกลงกันให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจากคนกลางเดี๋ยวจะกลายเป็นนกสองหัวแบบไม่ตั้งใจเฉยเลยนะ

อย่าคาดหวังผลลัพธ์

ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่า ‘เป็นหมา’ เมื่อคนที่มาปรึกษาไม่ทำตามที่เราแนะนำ อย่าคาดหวังให้คนอื่นทำตามที่เราบอกตลอดเวลา ขนาดเราแก้ปัญหาตัวเองหลาย ๆ ครั้งยังต้องเปลี่ยนแปลงวิธีไปตามหน้างานเลยนะ เพราะฉะนั้นขอให้จดจ่ออยู่กับการแนะนำ รับฟัง คอยซัพพอร์ตก็เพียงพอแล้ว 

ให้เกียรติทุกคน

การที่เราต้องรับบทบาทคนกลาง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือส้มหล่นก็ตาม สิ่งจำเป็นคือต้องให้เกียรติทุกฝ่าย ไม่นำเรื่องของเขาไปเล่าเม้าธ์มอยโดยพละการ ปัญหาของคนอื่นไม่ใช่เรื่องสนุกปากนะคะ หากจำเป็นต้องเป็นคนนำเรื่องของ A ไปบอก B ก็ต้องเล่าจากพื้นฐานความจริง ไม่เพิ่มเติมอารมณ์ส่วนตัว หรือหากเขาบอกว่าขอให้เป็นความลับก็ต้องรักษาความลับให้ได้จริงตามคำพูด ให้เกียรติเขา เหมือนที่เขาให้เกียรติและไว้วางใจเราค่ะ

เป็นคนกลางเรื่องของตัวเองยากที่สุดแล้ว

คำแนะนำทั้งหมดที่ยกมา มันคือการที่เราเป็นคนกลางในเรื่องของคนอื่น นั่นแปลว่ายังพอมีทางหนีทีไล่ให้อยู่บ้าง แต่แน่นอนว่าชีวิตก็เล่นตลกกับเราอยู่บ่อยครั้ง บางทีก็ต้องเป็นคนกลางในปัญหาของตัวเองก็มี ตัวอย่างปัญหาสุดคลาสิกก็เช่นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว แม่ผัว-ลูกสะใภ้-สามี, พ่อ-แม่เลิกกัน ลูกอยู่ตรงกลาง, รวมถึงปัญหาในที่ทำงานฮิตไม่แพ้กัน พี่คนนั้นไม่ชอบน้องคนนี้, เป็นคนกลางระหว่างหัวหน้ากับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาโลกแตกมีอยู่มากมายใช่ไหมล่ะคะ ซึ่งการแก้ปัญหาก็แตกต่างออกไปตามเรื่องราวที่พบเจอ หากเป็นเรื่องในครอบครัวก็จะละเอียดอ่อนกว่ามาก ๆ เพราะต้องเห็นหน้าและใช้ชีวิตด้วยกันมากกว่า จึงขอคำแนะนำเพิ่มเติมในกรณีนี้ คือ

  • คุยกับคนของเราจะดูนุ่มนวลกว่า ลองพูดคุยหาทางออกกับคนที่เราสนิทด้วยที่สุด น่าจะช่วยให้คุยภาษาเดียวกันง่ายขึ้น หาทางออกได้เห็นภาพร่วมกันมากขึ้น 

  • เงียบให้ถูกจังหวะ บางครั้งตอบโต้ทุกฝ่ายก็ไม่ใช่เรื่องดี การเข้าข้างฝ่ายหนึ่งก็อาจทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ แต่หากจะไปตอบโต้ทุกฝ่ายก็อาจทำให้เรื่องราวบานปลายได้อีก เพราะฉะนั้นบางเวลาความเงียบคือการหยุดสถานการณ์ได้ดีที่สุด

  • หลีกเลี่ยงเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหา ถ้ารู้กันในอกว่าเรื่องไหนจะทำให้เกิดปัญหาแน่ ๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงซะถ้าทำได้ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็กลับไปทำตามข้อ 1 และ 2 

แม้ว่าจะไม่มีใครตอบได้ว่าปัญหาของทุกคนจะประนีประนอมได้แค่ไหน หรือจะยังคาราคาซังอยู่อย่างนั้น แต่สิ่งสำคัญที่คนกลางต้องมีคือรู้จักให้กำลังใจ ให้กำลังใจทุกฝ่าย รวมถึงให้กำลังใจตัวเองด้วย เพราะเป็นคนกลางมันเหนื่อยใจเนอะ 

.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 17

  • OUI6395
    ถือหลัก รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ สัจธรรม ทุกคนย่อมมีเหตุผลมาสนับสนุนตัวเองทั้งนั้นเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิด เถียงกันไป ก็ทะเลาะกันเปล่าๆ ถึงเราจะชนะ แต่จริงๆ ความสัมพันธ์แพ้ การหยุด บางทีก็คือการชนะ ไม่มีประโยชน์ที่จะชนะบนซากปรักหักพัง คิดซะแบบนี้ ใจจะสงบ
    18 มี.ค. 2564 เวลา 23.24 น.
  • ☎เป็นของใช้ส่วนตัว😒
    ใช่หมายถึงแซนวิชหรือเปล่า 😁
    18 มี.ค. 2564 เวลา 20.05 น.
  • เป็นคนกลางก็ต้องเหมือนตาชั่ง ไม่ใช่ฟังความข้างเดียว หรือหูเบา บวกใช้อคติตัวเองตัดสินใจใครก็ตาม
    18 มี.ค. 2564 เวลา 19.08 น.
  • Engine Exza
    อย่าได้คิดอาจเป็นคนกลาง เผลอๆโดนหาว่านกสองหัว
    19 มี.ค. 2564 เวลา 20.29 น.
  • Srisan 1973
    บ่ต้องมี/เงิน/ จบ ทุกสถานการณ์
    19 มี.ค. 2564 เวลา 02.30 น.
ดูทั้งหมด