อาหารขยะ: อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณภาพทางโภชนาการ มีปริมาณของแป้ง น้ำตาล ไขมัน และเกลือสูง แต่มีโปรตีนและใยอาหารต่ำ จึงทำเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงมากเกินไป เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้
จน..เครียด..กิน.. สุขใดจะเท่าเวลาที่เราไม่สบายใจแล้วได้กินอาหารจานโปรด และจะรู้สึกดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อได้กินอาหารขยะ (Junk Food) ที่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ดีต่อสุขภาพ แต่กินทีไรก็แฮปปี้ ยิ่งได้กินก็ยิ่งอยากกินเข้าไปอีก เราไปไขความลับกันดีกว่าว่าเหตุไฉนการกินอาหารขยะถึงทำให้เรารู้สึกดี๊…ดี
เคยสังเกตไหม? เวลาที่เราไม่ทุกข์ เรามักไม่แตะ ‘อาหารขยะ’
เวลาที่เรามีความสุข เรามักจะไม่ค่อยได้กินขนมอบกรอบถุงใหญ่ยักษ์ พร้อมกับน้ำอัดลม แต่เมื่อใดที่เรารู้สึกแย่ๆ ตัดขาดจากสังคม หรือไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ เหล่าบรรดาอาหารขยะต่างๆ ก็รีบเดินเข้ามาเติมเต็มชีวิต เผลอแปปเดียวก็เหลือเพียงถุงขนมเปล่า และขวดน้ำอัดลมไว้เป็นควมทรงจำ รู้หรือไม่ว่าบางครั้งสิ่งที่ทำลายร่างกายของเราไม่ใช่อาหารขยะเหล่านั้น แต่เป็นชีวิตของเราเองต่างหากที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการนอนไม่พอ, ตามใจปาก, นิสัยที่ไม่ดี และความเครียด ล้วนเป็นสิ่งที่อนุญาตให้อาหารขยะเข้ามาครอบงำชีวิต รู้ตัวอีกทีก็ขาด (เธอ) ไม่ได้เสียแล้ว
แล้วทำไม ‘อาหารขยะ’ ถึงทำให้เรามีความสุขล่ะ?
เมื่อได้กินอาหารที่หวานมากๆ หรือเค็มมากๆ จะทำให้ร่างกายรู้สึกดีเป็นธรรมดา และอาหารขยะตัวดี ก็เป็นอาหารที่เต็มไปด้วย น้ำตาล เกลือ และไขมัน จึงตอบสนองความต้องการได้อย่างดีเยี่ยม สมองที่ได้รับสิ่งเหล่านี้มากไปจนถึงขั้นเสพติดแล้ว ก็จะสั่งให้ร่างกายอยากกินอาหารขยะอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าเมื่อเราอยาก และได้กิน ก็จะทำให้ร่างกายมีความสุข วงเวียนของการกินอาหารขยะจึงเปรียบเสมือนวัฏจักรที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีความสุขโดยมนุษย์เอง โดยถูกสั่งการจากสมอง ไม่ได้เป็นเพราะความพิเศษของอาหารขยะแต่อย่างใด
นอกจากการศึกษาในทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์แล้ว ในทางการตลาดก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘การบริโภคที่แสนเพลิดเพลิน’ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์ ที่มักมีแรงจูงใจจากความรู้สึกที่ต้องการจะยินดีปรีดาสนุกสนาน กล่าวคือทุกคนอยากมีความสุขในชีวิตและเชื่อว่าการได้กินอาหารขยะเป็นการทำให้ชีวิตมีความสุข จึงเกิดเป็นพฤติกรรมที่บริโภคเกินความจำเป็น
ใจไม่ได้อยาก แต่ 'สมอง' สั่งให้อยาก
ในความเป็นจริงแล้วความอยากอาหารขยะ หรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์นั้นไม่ได้มาจากความต้องการของเรา แต่เป็นเพราะสารใน ‘สมอง’ สั่งให้เรา ‘อยาก’ กินต่างหาก อีกทั้งอาหารขยะส่วนใหญ่นั้นเต็มไปด้วยน้ำตาล เกลือ ไขมัน และส่วนผสมอื่นๆ ที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกายนัก ทำให้เวลาเรากินเข้าไปไม่ได้ทำให้ร่างกาย ‘อิ่ม’ เพราะว่าอาหารไม่ได้มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และนี่เป็นคำตอบว่าทำไมเราถึงกินอาหารขยะได้ในจำนวนมากและอยากกินอยู่ตลอดเวลา
อีกทั้งเมื่อเรากินอาหารขยะบ่อยๆ จนร่างกายเคยชิน ทุกครั้งที่เรารู้สึกกระหาย (ทั้งหิวจริงๆ และหิวหลอกๆ) สมองก็จะสั่งให้อยากกินอาหารขยะแบบอัตโนมัติ เปรียบเสมือนปุ่มความอยากในสมองถูกเปิดแล้ว
รู้เท่าทัน และ ‘หยุด’ ก่อนจะสายไป
เมื่อเรารู้แล้วว่าความอยากกินอาหารขยะของเราทำให้เกิดความสุขที่ไม่จริง ทั้งยังไม่ได้ทำให้อิ่มท้อง และมีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมไปถึงเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ที่จะมาทำให้ร่างกายเรามัวหมอง เมื่อรู้เช่นนั้นแล้ว ก็จงหนีไป และสำหรับคนที่อยากจะเริ่มตีตัวออกห่างจากอาหารขยะลองทำตาม ‘7 ข้อปราบมาร ออกไปจากชีวิตฉันนะเจ้าอาหารขยะ’
1. ทำงานใหญ่ใจต้องนิ่ง : ฝึกตั้งใจกิน อย่ากินขณะทำกิจกรรมอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารในรถ / ระหว่างตอบอีเมลงาน / ดูทีวี ให้โฟกัสในสิ่งที่กินและจะพบว่าตัวเรานั้นอิ่มเร็วกว่าที่คิด การทำแบบนี้นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับรสชาติอาหารอย่างแท้จริงแล้ว ยังทำให้ไม่กินเพลินจนเกินจำนวนที่ร่างกายต้องการด้วย
2. ใช้หม้อทอดไร้น้ำมัน : หม้อทอดไร้นำ้มัน หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์สรรสร้าง หากใครซื้อมาแล้วก็จงใช้ให้เป็นประโยชน์ เปลี่ยนจากการทอดในน้ำมันเยิ้มๆ มาทอดในหม้อทอดไร้น้ำมันแทน จะได้กินอาหารที่อยากกินแต่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
3. วางแผนการกิน : การวางแผนในการกิน ทำให้เรากินอาหารไม่ดีได้อย่างไม่รู้สึกผิด เพราะว่าเราวางแผนไว้แล้วว่าจะกินอะไร เรากินอาหารมีประโยชน์ 2 วันก่อน แล้วให้รางวัลตัวเองด้วยขนมในวันถัดมาก็จะทำให้ร่างกายไม่เครียดเกินไปในการตีตัวออกห่างอาหารที่ไม่ดี ค่อยๆ ห่างเดี๋ยวก็ไกลเอง
4. ให้รางวัลชีวิตด้วยอย่างอื่นที่ไม่ใช่อาหาร : เปลี่ยนจากให้รางวัลตัวเองเป็นขนม มาเป็นของอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของกิน เป็นอีกทางที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการเลิกกินอาหารขยะ
5. ดื่มน้ำเยอะๆ : เป็นหนทางที่ดีในการลดความอยากอาหารขยะ เริ่มทำง่ายๆ ด้วยการวางขวดน้ำไว้ใกล้ๆ ตัว หยิบดื่มง่ายๆ
6. นอนให้ไว นอนให้ดี : นอนให้พอดีกับที่ร่างกายต้องการ
7. จัดการความเครียด : ถ้าเรามีสุขภาพใจที่ดี ความอยากอาหารขยะก็จะหายไปด้วย เมื่อเรามีความสุข เราก็ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งอาหารขยะเวลาใจพังนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.precisionnutrition.com
https://health.clevelandclinic.org