-1-
เสื้อผ้าและเนื้อตัวที่เปรอะเปื้อน เส้นผมที่จับตัวเป็นก้อน เหงื่อไคลที่หมักหมมจนส่งกลิ่นรบกวน อีกทั้งท่วงท่าและแววตาที่ไม่น่าไว้วางใจ หากอยู่ใกล้ในระยะเห็นสีหน้าและได้ยินเสียงพูด คุณอาจพบเรื่องราวหลากอารมณ์ บ้างขบขัน บ้างโกรธเกรี้ยว บ้างโศกเศร้า หรือบ้างสลับอารมณ์ไปมา เนื้อหาไร้ความเชื่อมโยงกับชีวิตคนทั่วไป อาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวไพร่กับเจ้านายผู้สูงศักดิ์ อาจเป็นผีสาง เทวดา นางฟ้า เทพเจ้า หรืออาจพ้นไปจากจินตนาการที่คาดเดาได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นบทสนทนาเพียงลำพัง
น่ากลัว – คงเป็นความรู้สึกร่วมของคนจำนวนมาก
ไม่อยากอยู่ใกล้ – หลายคนคงเกิดความคิดนี้ตามมา
ราวกับถูกบันทึกให้เป็นการกระทำอัตโนมัติ เราค่อย ๆ เขยิบออกมาให้ห่าง เพื่อย้ายมายืนอยู่ในจุดที่เกิดความรู้สึกว่า ‘ปลอดภัย’ หรืออย่างน้อยก็ขออยู่ในระยะห่างที่ทำให้สบายใจ วินาทีนั้นต่อให้ไม่ได้หวาดกลัวอะไร คงน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ใครจะให้ความสนใจ พวกเขาค่อย ๆ ออกห่างจากการรับรู้ และบางคนถึงขั้นตัดขาดราวกับไม่ใช่สิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกัน
คนจรจัด หรือคนบ้า ถ้าสุภาพหน่อยก็คนไร้บ้าน หรือคนป่วยทางจิต (ที่เป็นคนไร้บ้านด้วย) ไม่ว่าคุณจะเรียกพวกเขาว่าอะไร ไม่ว่าคุณจะมองพวกเขาอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตของพวกเขาถูกปฏิเสธ ละเลย และเบลอพร่าจากการรับรู้ของผู้คนโดยส่วนใหญ่
ผมก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น
-2-
เมื่อหลายปีก่อน เวลาหัวค่ำของวันธรรมดาที่คนจำนวนมากกำลังเบียดแทรกเพื่อขึ้นรถเมล์กลับบ้าน
เราสองคนยืนที่ป้ายรถเมล์หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ อยู่ ๆ เธอก็หันไปมองบางอย่าง ผมหันไปมองตามทิศทางนั้น ยังไม่ทันจะเอ่ยถามอะไร เธอเดินมุ่งตรงไปที่ร้านขายน้ำแบบรถเข็น แล้วซื้อน้ำเปล่าเย็น ๆ มาหนึ่งขวด หันซ้ายหันขวา ท่าทางหวั่นใจเล็กน้อย ก่อนนำน้ำขวดนั้นไปยื่นให้ชายร่างผอมเนื้อตัวเปรอะเปื้อนที่กำลังยืนคุ้ยถังขยะ
ไม่มีรอยยิ้มตอบรับ ไม่มีคำขอบคุณตอบกลับ ชายคนนั้นยื่นมือมารับ เปิดขวด แล้วกระดกดื่มด้วยความหิวกระหาย
ทันทีที่เสร็จภารกิจ เธอเดินกลับมายืนที่ป้ายรถเมล์ และทำตัวราวกับไม่กี่นาทีนั้นเป็นเรื่องปกติในวันธรรมดา ผมไม่ได้พูดอะไรออกไป แต่เหตุการณ์สั้น ๆ นั้นได้กระทำบางอย่างกับความรู้สึกภายในอยู่พอสมควร
ผมนำเหตุการณ์วันนั้นมาครุ่นคิดอยู่เสมอ
-3-
“ทำไมถึงออกมาใช้ชีวิตแบบนี้”
“บางคนก็มีบ้านไม่ใช่เหรอ ทำไมถึงไม่อยู่บ้านล่ะ”
เป็นคำถามเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นเวลาพูดถึงปัญหา ‘คนไร้บ้าน’ สารพัดเหตุผลถูกนำมาอธิบาย (มักเป็นคำใหญ่ๆ ที่เข้าใจยาก ๆ ) ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความล้มเหลวของภาคเกษตร การพัฒนาที่กระจุกตัว ระบบสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพ สวัสดิการพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ความขัดแย้งภายในครอบครัว ไปจนถึงรสนิยมการใช้ชีวิต หรือแม้แต่การออกมาหาความหมายของการดำรงอยู่ ฯลฯ
ภายใต้ความหลากหลายของมนุษย์ ซึ่ง ‘คนไร้บ้าน’ ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ละคนย่อมมีเหตุผลในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน ซึ่งเท่าที่เคยอ่านและฟังมา คำอธิบายเหล่านั้นไม่มีอะไรผิด
หลายปีที่พบเห็น ‘คนไร้บ้าน’ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิต ผมเริ่มสนใจพวกเขามากขึ้น แต่ทุกครั้งที่นึกถึงการช่วยเหลือ นอกจากอ่านและฟังเพื่อทำความเข้าใจ แล้วนำบางเรื่องราวมาสื่อสาร ผมรู้สึกว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ตัวเองไม่มีอำนาจและศักยภาพมาช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้เลย
แต่น้ำเปล่าเย็น ๆ ขวดนั้น ทำให้ผมเปลี่ยนมุมมอง
หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ผมผ่านไปเจอ ‘คนไร้บ้าน’ หรือ ‘คนป่วยทางจิต’ (ที่เป็นคนไร้บ้านด้วย) อยู่บ้าง แต่น้อยครั้งจะอยู่ในจังหวะที่สะดวกหยิบยื่นอะไรให้กัน บางครั้งผมอยู่บนรถเมล์ ส่วนเขาเดินอยู่บนฟุตบาท หรือบางครั้งเขาเดินสวนผ่านไปด้วยความรีบร้อน
จนกระทั่งเช้าวันนั้น
ชายคนนั้นยืนคุ้ยถังขยะอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ส่วนผมกำลังมุ่งหน้าไปที่ป้ายรถเมล์ วินาทีนั้นตัดสินใจหยุดมองว่าเขาจะหยิบอะไรขึ้นมาประทังชีวิต สองมือค่อย ๆ แหวกและหยิบทีละอย่างขึ้นมาพิจารณา สุดท้ายเป็นแก้วพลาสติกที่มีน้ำแข็งละลายผสมกับซากน้ำหวาน เขาหยิบขึ้นมากระดกดื่มด้วยความหิวกระจาย ผมเขยิบมามองสีหน้าและแววตาเพื่อประเมินความเป็นมิตร แต่กลับพบเพียงความว่างเปล่าและหวาดระแวง
"เอาวะ" เป็นวลีเรียกความมั่นใจ ผมไม่ได้กลัวเขาทำร้าย แต่ลังเลว่าสิ่งที่คิดจะทำ เป็นสิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า
“กินไหมครับ เดี๋ยวเข้าไปซื้อมาให้” ผมยกมือทำท่าทางกินข้าว ใช้คำถามกว้าง ๆ โดยไม่ได้ระบุประเภทอาหาร
เขาพยักหน้า สีหน้าและแววต่างยังว่างเปล่าและหวาดระแวง
ผมเข้าไปซื้อน้ำเต้าหู้หนึ่งขวด กับขนมปังที่รสชาติกลาง ๆ มาหนึ่งชิ้น (ทั้งหมดนั้นราคาน้อยกว่ามื้อเที่ยงที่ผมเพิ่งกินด้วยซ้ำไป) แล้วเอาออกมายื่นให้
ไม่มีรอยยิ้มตอบรับ ไม่มีคำขอบคุณตอบกลับ ชายคนนั้นยื่นมือมารับ แล้วค่อย ๆ แกะห่อพลาสติกและเปิดขวด
มันอาจเป็นการแก้ปัญหา ‘คนไร้บ้าน’ ที่ปลายเหตุ อีกทั้งไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นในระยะยาวเลย แต่วินาทีนั้นผมไม่ได้สนใจว่าเขาเป็นใคร ไม่ได้สนใจว่าเขานิสัยดีไหม และไม่ได้สนใจว่าวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคืออะไร
ถ้าเขากำลังหิว แล้วเรามีกำลังพอจะแบ่งปัน ก็ให้สิ
บางทีชีวิตก็แค่นั้นเลย
.
.
ติดตามบทความของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน
ความเห็น 13
Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
ก็เป็นแง่คิดที่ดี บางครั้งถ้าเรามีความสามารถในการเอื้อเฟื้อ แบ่งปันให้เขาบ้าง
01 ต.ค. 2562 เวลา 03.55 น.
ying
อย่างน้อยก็สุขใจที่ได้แบ่งปันค่ะ
01 ต.ค. 2562 เวลา 10.02 น.
การเข้าใจและมีน้ำใจย่อมที่จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้น.
01 ต.ค. 2562 เวลา 09.26 น.
AomiiZ YK
ความรู้สึกมันไม่ต่างจากการที่เราได้ลุกให้ใครสักคนบนรถเมย์นั่ง มันไม่ได้มีความหมาย แต่มันเบ่งบานอยู่ในใจ ใครไม่เชื่อลองทำดู
01 ต.ค. 2562 เวลา 12.52 น.
ฉันทำแบบคุณบ่อยมากๆ ซื้อข้าว ซื้อน้ำ ซื้อขนม ให้กับคนไร้บ้าน ฉันดีใจมาก ที่คุณได้ช่วยเหลือคนอื่นๆและทำความดี 👍👏
01 ต.ค. 2562 เวลา 14.17 น.
ดูทั้งหมด