ความรุ่งเรืองของแพลตฟอร์ม 18+ อย่าง 'Only Fans' ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงขอบเขตการแสดงออกเรื่องเพศ เพราะในประเทศไทย การพูดถึงเซ็กซ์ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และบางหัวข้อยังอาจกระทบ 'ศีลธรรมอันดี' รวมถึงผิดกฎหมายบางมาตราด้วย (เช่น เซ็กซ์ทอย หรือสื่อลามก ฯลฯ)
ด้วยวัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ มุมมอง 'เรื่องเพศ' ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย เพศศึกษาในทัศนคติของคนไทยอาจเป็นหัวข้อชวนขวยเขินเล็กน้อยในวงสนทนาครอบครัว หรือแม้กระทั่งในโรงเรียน เมื่อมีคำวิจารณ์เรื่องเพศ หรือข่าวคราวอาชญากรรมทางเพศเกิดขึ้น ประเด็น 'บทเรียนเพศศึกษา' ในไทยก็จะถูกนำมาถกเถียงครั้งแล้วครั้งเล่า
ครั้งนี้ เราอยากชวนทุกคนสวมบทนักเรียน และออกไปสำรวจห้องเรียน 'เพศศึกษา' ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ว่าประเทศที่สอนให้เด็กรู้จักเซ็กซ์ ให้ผลลัพธ์อะไร และต่างจากประเทศที่ไม่ได้สอนบ้างไหม? ตามคุณครูมาเลย!
สหราชอาณาจักร
หลักสูตรเพศศึกษาสำหรับเด็กๆ ในประเทศอังกฤษก็ค่อนข้างเปิดกว้าง เป็นภาคบังคับว่าเด็กนักเรียนอายุ 11 ปีขึ้นไปต้องมีความรู้เรื่องเพศ มีบทเรียนที่โรงเรียนจัดขึ้นคล้าย 'การเรียนพิเศษ' คือรวมเรื่องเพศมาไว้ใน 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์ในปีการศึกษานั้น ซึ่งในช่วงเวลานั้นคุณครูก็จะชวนนักเรียนคิดวิเคราะห์และถกถามเรื่องเพศอย่างอิสระ โดยผู้ปกครองมีสิทธิ์พิจารณาว่าจะให้ลูกหลานเข้าร่วมคลาสเพศศึกษานี้หรือไม่
เนเธอร์แลนด์
ชาวดัตช์เป็นชนชาติที่มีความอิสระทางความคิดมาก ซึ่งแนวคิดเรื่องเพศในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์
เด็กตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไปได้เรียนรู้เรื่องเพศอย่างเปิดเผย ซึ่งในวิชาเพศศึกษา บทเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องเซ็กซ์ แต่ยังพูดถึงการเคารพร่างกายตัวเอง เคารพเพศวิถีตัวเอง และเคารพผู้อื่น แน่นอนว่าบทเรียนเรื่องเพศที่เด็กๆ ได้เรียนตั้งแต่วัยเยาว์คือ 'ความยินยอม' หรือ 'Consent' นั่นเอง
เรียกว่าบทเรียนเพศศึกษาของเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างครอบคลุมทุกแง่มุมเรื่องเพศ ทั้งความสัมพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไปจนถึงความสุขสมอันเกิดจากเซ็กซ์ ผลลัพธ์คืออัตราการท้องในวัยรุ่นเนเธอร์แลนด์นั้นอยู่ในระดับ 'ต่ำ' ที่สุดในทวีปยุโรป
อินเดีย
แม้อินเดียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก โดยมีหลักสูตรสุดก้าวหน้าที่สอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ ความยินยอม ซึ่งสอนโดยใช้เกม และศิลปะเป็นสื่อกลาง แต่หลักสูตรเหล่านี้จำกัดในคลาสและโรงเรียนที่น้อยมากๆ
อย่างไรก็ตามหัวข้อเรื่องเพศยังเป็นประเด็นอ่อนไหวในอินเดีย โดยในปี 2014 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นถึงกับให้ความเห็นว่าเพศศึกษาควรถูกแบน เพราะขัดต่อความเชื่อแหละกฎเกณฑ์แบบชาวอินเดีย ทั้งยังอาจทำให้เด็กวัยรุ่นมีความหมกมุ่นทางเพศ
สวนทางกับปัญหาการละเมิดทางเพศที่พบมากในเด็กอายุ 5 - 12 ปี ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่รวมปัญหาการขาดความรู้ในเด็กผู้หญิงแถบชานเมือง ที่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ยังไม่รู้จักประจำเดือนด้วยซ้ำไป
นิวซีแลนด์
เรื่องเพศเป็นหนึ่งใน 7 ประเด็นสำคัญในการศึกษานิวซีแลนด์ (อีก 6 ประเด็นคือสุขภาพจิต อาหารและโภชนาการ การดูแลร่างกายและความปลอดภัย กิจกรรมทางกาย พลศึกษา และการศึกษานอกห้องเรียน) โดยเริ่มสอนเพศศึกษาตั้งแต่ประถม จนถึงมัธยมต้น (เทียบกับการศึกษาไทย)
ซึ่งการใส่บทเรียนเพศศึกษาเป็นหนึ่งในสาระสำคัญหนังสือเรียน ทำให้อัตรา 'คุณแม่วัยใส' อายุตั้งแต่ 15-19 ปี ในปี 2019 มีเพียง 12 ใน 1,000 คนเท่านั้น
สหรัฐอเมริกา
ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกา ที่เป็นประเทศที่มี 'คุณแม่วัยใส' เยอะที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีอัตราคุณแม่วัยใสกว่า 30 ใน 1,000 คน เพราะแต่ละรัฐต่างก็มีกฎหมายและหลักสูตรเรื่องเพศศึกษาของตนเอง ซึ่งมีโรงเรียนประมาณครึ่งหนึ่งของรัฐเท่านั้นที่สอนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งยังมีโรงเรียนในรัฐที่เคร่งศาสนามากๆ อย่างรัฐเท็กซัส ที่บรรจุเรื่อง 'ควรมีเซ็กซฺหลังแต่งงาน' ในบทเรียนเพศศึกษาด้วย
'ห้องเรียนเรื่องเพศ' ในไทย
หันกลับมามองที่ประเทศไทย ซึ่งมีการพัฒนาหลักสูตรเพศศึกษามา 40 ปี โรงเรียนเกือบทุกแห่งมีการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา แต่อย่างไรก็ตามจากรายงานเรื่องความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาในประเทศไทยโดย'องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) และมหิดล' ในปี 2558 - 2559 พบว่าบทเรียนเพศศึกษาในไทยส่วนมากเน้นเรื่องการสอนสรีระ พัฒนาการทางเพศ และปลูกฝังการไม่ชิงสุกก่อนห่าม ทำให้นักเรียนไทยมีความรู้เรื่องเพศไม่รอบด้าน โดยยังขาดความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิด ความเท่าเทียมทางเพศ และเพศวิถี
บีบีซีไทย ยังสรุปประเด็นน่าสนใจอื่นๆ จากรายงานมาเพิ่มเติม เช่น
- นักเรียนหญิงส่วนหนึ่งเข้าใจว่ายาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีหลักในการคุมกำเนิด
- นักเรียนชายส่วนมากไม่ต้องการใช้ถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศ
- นักเรียนชายกว่าครึ่งเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด
- กว่า 41% ของนักเรียนชายอาชีวศึกษาเชื่อว่าสามีทุบตีภรรยาได้ หากพบว่าไม่ซื่อสัตย์
- ส่วนอัตรา 'คุณแม่วัยใส' หรือวัยรุ่นหญิงอายุ 15 - 19 ปีจำนวน 51 คน จาก 1,000 คนให้กำเนิดบุตรในปีก่อนหน้า ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในหมู่วัยรุ่นจากครอบครัวยากจนและการศึกษาไม่สูง
'ความรู้เรื่องเพศ' ที่เป็นมิตรมากขึ้น
ปัจจุบันความรู้เรื่องเพศค่อนข้างเปิดกว้าง เด็กไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สามารถมองหาข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เพจเพศศึกษาที่พูดเรื่องเพศอย่างสนุกและเป็นมิตรก็มีมากมาย อาทิเพจน้องสาว ที่มักชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางเพศสัมพันธ์ เพจ SPECTRUM ที่ชวนคุยเรื่องซีเรียสอย่างเพศวิถี ความเท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงสิทธิสตรี หลายเพจยังชวนชาวเน็ตถกเถียงถึงประเด็นร้อนในขณะนี้อย่างหัวข้อ 'Sex Worker' หรือเคส 'น้องไข่เน่า OnlyFans' ซึ่งก็มีชาวเน็ตเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันล้นหลาม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกที่หมุนไปอย่างฉับไว แนวคิดใหม่ๆ อาจเปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ที่โหมกระหน่ำโดยที่หลายคนไม่อาจตั้งตัว กลายเป็นการปะทะความคิดของคนหลายกลุ่ม ซึ่งหากเปลี่ยนจากการ 'เถียง' เป็นการ 'ถก' และหันหน้าคุยกันอย่างตรงไปตรงมา การทำความเข้าใจเรื่องชวนเขินอย่าง 'เพศศึกษา' อาจสนุกและได้ประโยชน์ขึ้นหลายเท่าตัวก็ได้นะ :)
ขอบคุณข้อมูลจาก