โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไมเด็กไทยมีสิทธิ์เลือกแค่ “วิทย์” กับ “ศิลป์” อนาคตมีให้เลือกแค่นี้จริงหรือ?

Another View

เผยแพร่ 17 ธ.ค. 2561 เวลา 01.00 น.

ทำไมเด็กไทยมีสิทธิ์เลือกแค่“วิทย์กับศิลป์อนาคตมีให้เลือกแค่นี้จริงหรือ?

เด็กต่างจังหวัดVS เด็กในเมือง

เป็นที่รู้กันดีถึงความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะเด็กในต่างจังหวัดที่มักถูกปลูกฝังว่าถ้าเรียนเก่งให้เลือกสายวิทย์-คณิต แหล่งรวมของเด็กที่เรียนไม่เก่งนักจึงกลายเป็นสายศิลป์ไปโดยปริยาย ทั้งสายศิลป์-ภาษา และศิลป์-คำนวณ ทั้งที่จริงแล้วในระบบการศึกษาของไทยมีการแบ่งสายไว้หลากหลายอยู่ประมาณหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น วิทย์-คณิต, วิทย์-คอมฯ, คณิต-อังกฤษ หรือ ศิลป์–คำนวณ, คณิต-ภาษา, ศิลป์-ภาษา, ศิลป์ – ทั่วไป (ศิลป์-สังคม / ศิลป์-คหกรรม / ศิลป์-คอมฯ / ศิลป์-ธุรกิจ) ศิลปกรรม, สหศิลป์ แต่ด้วยทรัพยากรและบุคลากรที่มีจำกัด เด็กต่างจังหวัดจึงไม่มีตัวเลือกมากนักที่จะได้เล่าเรียนในสายวิชาที่ตนถนัด ต่างจากเด็กในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีความหลากหลายของสายวิชาให้ได้เลือกมากกว่า

ม.ปลายเมืองนอกเขาเรียนกันอย่างไร

การเรียนในระดับม.ปลาย หรือไฮสคูล ในสหรัฐอเมริกา เด็กๆ จะได้เรียนวิชาพื้นฐานเหมือนๆ กัน แต่จะมีโอกาสเลือกวิชาเฉพาะทางตามที่ตนถนัดหรือเน้นหนักในวิชาที่ตนสนใจ ซึ่งแต่ละคนมักตั้งเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสาขาใด ก็จะเลือกเรียนวิชาที่จะช่วยส่งเสริมให้ตนเองได้เรียนต่อหรือก้าวไปในในเส้นทางอาชีพที่คาดหวัง ขณะที่ระบบการศึกษาไทยกลับเป็นระบบที่ค่อนข้างสำเร็จรูป มีการกำหนดที่ตายตัวว่าเมื่อเลือกเรียนสายใดสายหนึ่ง ก็จะต้องเรียนตามวิชาที่ถูกกำหนดไว้ให้ครบตามหลักสูตร ซึ่งแม้จะดูเหมือนจัดการได้ง่าย ทว่ากลับกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสของเด็กที่อาจจะกำลังค้นหาตัวเอง หรือมีความสนใจแตกต่างจากที่หลักสูตรวางไว้

ฟินแลนด์ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

ที่ฟินแลนด์กำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ที่ 9 ปี หรือเทียบเท่ากับวุฒิ ม.3 ในเมืองไทย เมื่อเด็กๆ ก้าวสู่ระดับ ม.ปลาย ก็จะแยกเรียนเป็นสายวิชาการ (สายสามัญ) กับสายวิชาชีพ (อาชีวะ) ซึ่งไม่ต่างจากไทยนัก ดังนั้นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในด้านการศึกษาของประเทศฟินแลนด์จึงไม่ใช่การแบ่งสายการเรียน เมื่อศึกษาให้ลึกลงไปก็จะพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้การศึกษาในฟินแลนด์มีคุณภาพ คือการเรียนการสอนที่มุ่งเอาปัญหาต่างๆ มาเป็นจุดศูนย์กลาง ให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้าหาทางแก้ปัญหา ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการพยายามแก้ปัญหา ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ความรู้ แต่เด็กจะสามารถนำความรู้ไปใช้จริงได้ด้วย ต่างจากการศึกษาไทยซึ่งตั้งต้นที่การได้ความรู้ แล้วจึงกำหนดแบบทดสอบหรือการทดลองเพื่อพิสูจน์ความรู้เหล่านั้น

ถึงเวลาเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยหรือยัง?

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็คงจะเจ็บปวดจากระบบการศึกษาของไทยอยู่ไม่น้อย หลายคนอาจคิดว่าเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต บางคนอาจมองว่าเรียนไปตั้งมากมายแต่กลับไม่ได้ใช้ความรู้ และยังมีอีกไม่น้อยที่ไม่ได้ทำงานตรงกับสายที่เรียน ซ้ำร้ายยิ่งกว่าที่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชอบในสิ่งที่เรียนอยู่หรือเปล่า การกำหนดสายการเรียนที่ตายตัวของระบบการศึกษาไทย อาจเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม ทว่ากลับเป็นจุดสำคัญที่เป็นตัวจำกัดในการเรียนรู้ของนักเรียน และไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นพบตนเอง ค้นพบสิ่งที่ตนเองรักและความปรารถนาในอาชีพ จะดีกว่าใหม? หากนักเรียนจะได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบอย่างอิสระ โดยมีครูแนะแนวคอยให้คำปรึกษา เพื่อนำพาเด็กแต่ละคนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ แทนการกำหนดเส้นทางที่ตายตัวให้เด็กๆ ไปแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเรียน ด้วยการแบ่งแผนการเรียนให้กับเด็กๆ ไปแล้ว

ความสำเร็จของระบบการศึกษาในประเทศอื่นๆไม่ใช่เพราะมีตัวเลือกหลากหลาย แต่สำคัญที่เด็กจะได้เลือกตัวเลือกต่างๆได้ตามใจต่างหาก

https://www.voicetv.co.th/read/491194

https://alittleparfait.com/2013/02/13/highschool/

https://thestandard.co/finland-education-lessons-learned/

https://www.dek-d.com/education/49342/ 

https://www.scholarship.in.th/7-reason-why-finland-designing-perfect-schools/

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%8

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0