เป็นข้อถกเถียงที่เราได้ยินมาจากหลายคน และจากหลายรุ่น
‘วัฒนธรรม’ (ระเบียบแบบแผน กระบวนการที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามในหมู่คณะ) มีส่วนสำคัญในเรื่องสร้างแรงจูงใจ
ที่ก่อให้เกิดค่านิยม (เอื้อให้เกิดการตัดสินใจกระทำการใดๆ โดยอิงจากหลักของวัฒธรรมที่เชื่อมาว่าสิ่งไหนถูก-ผิด สำคัญหรือไม่) ในรุ่นนั้นๆ
และ ‘วัฒนธรรม’ ก็ก่อเกิดความผูกพัน
ทำให้ หลายครั้ง สิ่งที่เราเห็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำ
เราก็อยากทำสิ่งนั้น ให้ลูกๆ ของเราอีกที
อาจารย์ที่อเมริกา เคยเล่าให้ฟังถึงคนไข้ของเขาคนหนึ่ง (ข้อมูลอยู่ในหนังสือ เปิดเผยได้เพราะขออนุญาตคนไข้แบ่งปันเรื่องราวโดยไม่บอกชื่อแล้วนะคะ)
คนไข้เป็นผู้ชาย วัยกลางคน
มาบ่นเรื่องชีวิตทั่วไป แล้วก็เล่าถึงการเลี้ยงลูกของเขา ว่าเขาน่ะต้อง ‘จัดระเบียบลูกอยู่บ่อยๆ’
อาจารย์ของเราไม่ได้คิดอะไรมาก ก็ถามไปว่า ยูหมายถึงอะไรเหรอ จัดระเบียบลูก
คนไข้บอกด้วยความซื่อว่า ‘คือการที่ตบหัวลูกแรงๆ เพื่อให้ลูกมีสติและเป็นเด็กดีอย่างที่ตนต้องการ’ คนไข้คนนี้ยังบอกอีกว่า พ่อของผมก็ทำกับผมแบบนี้ ผมเลยกลายเป็นคนดีได้อย่างทุกวันนี้นี่ไง
เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่อาจตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น คุณตาคงทำกับคุณพ่อมาแบบนี้ คุณพ่อก็เลยมาทำกับลูกคนนี้อีกที บางครั้งวัฒนธรรมก็สร้างความคุ้นชิน ปฏิบัติต่อกันไป โดยไม่ได้เอะใจตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ งานนี้อาจารย์ของเราก็เลยต้องแจ้งศูนย์ดูแลเด็ก ว่าเด็กได้รับการทำร้ายจากครอบครัว แล้วก็ต้องอธิบายให้คนไข้ฟังอีกที ว่าเรื่องนี้มันไม่ถูกต้องอย่างไร…
แต่ถ้าไม่ดี แล้วเลี้ยงลูกให้เหมือนเป็นเพื่อน ตามใจสุดๆ เฮไหนเฮนั้นไปเลยดีไหม?
เชื่อว่า วิธีการเลี้ยงลูกแบบนี้ เป็นวิธีในอุดมคติที่หลายคนอยากมอบให้ลูก (หรือไม่ก็หวังว่าตอนเด็กๆ อยากให้พ่อแม่มอบให้เรา)
แต่ในความเป็นจริงแล้ว
การเลี้ยงลูกเหมือนเป็นเพื่อน ในกรณีที่ ไม่สร้างขอบเขตให้ลูก ปล่อยเลยตามเลย ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรในการใช้ชีวิต เพราะหวังอยากให้ลูกเปิดใจกับตัวเองทุกอย่าง
นั่นอาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กไม่ยอมอยู่ใต้กฎระเบียบใดๆ ในสังคม เพราะเชื่ออยู่แล้วว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พ่อแม่จะคอยหนุนหลังตนเอาไว้เสมอ
หรืออีกนัยหนึ่ง ลูกก็จะมีความคิดต่อผู้คนที่ขัดใจตนว่า ‘พ่อแม่ฉันยังไม่เคยสั่งฉันให้ทำแบบนี้เลย ทำไมฉันจะต้องทำตามเธอ’
นั่นอาจทำให้ลูกสุดที่รักของพ่อแม่คนนี้ กลายเป็นเด็กที่ไม่น่ารักในสายตาผู้ใหญ่ และอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ยากขึ้น
สิ่งสำคัญ คือต้องหาความสมดุลในการสร้างขอบเขต และปรับความเข้าใจต่อลูก ให้ดี
แล้วถ้าไม่ตีลูก –ลงโทษอย่างอื่นแทนได้ไหม?
‘Positive Reinforcement’ หรือการให้รางวัลเมื่อทำถูก (แทนที่จะทำโทษเมื่อทำผิด)
จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากทำตัวดีต่อไปเรื่อยๆ
เพราะเข้าใจแล้วว่า การทำตัวน่ารัก สามารถเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ได้ มากกว่าการเรียกร้องความสนใจโดยใช้อารมณ์หรือโวยวายเล่นใหญ่ (หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กเริ่มแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดหรือพูดจาหยาบคาย หวังให้พ่อแม่หันมาสนใจ การทำตัว ‘เมินเฉย’ ทุกครั้งที่ลูกทำตัวไม่น่ารัก ได้ผลดีในระยะยาวกว่าการรีบตีลูกอย่างรุนแรงมากนัก)
การสร้างความเข้าใจที่กระจ่างให้กับเด็ก สำคัญกว่าการทำโทษ ‘ให้เด็กกลัว’
เพราะถึงแม้จะได้เรื่องการเชื่อฟังอยู่ในโอวาท แต่มันไม่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจ
และการยอมเพราะ ‘กลัว’ ของเด็ก มันไม่ได้นำไปสู่การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ในระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น
‘เด็กมักเรียนรู้และซึมซับสิ่งที่พ่อแม่ทำกับตนเสมอ’
ในเมื่อเด็กเกิดมากับความเข้าใจว่า พ่อแม่เป็นคนที่รักเราที่สุด
แต่หากพ่อแม่ตีเรา เราเจ็บ แต่นั่นคงเป็นหนึ่งในกระบวนการและความหมายของคำว่ารักล่ะมั้ง
มีบางคน ที่โตมา ‘ไม่ได้มีความรู้สึกผิดมากนัก’ เมื่อเผลอทำร้ายร่างกายคนรักของตน
เพราะอาจเชื่อในความคิดผิดๆ ว่า ‘นั่นแปลว่าเรารักเขามาก’
หรือในทางกลับกัน อาจมีใครสักคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทำโทษด้วยการตี
เมื่อแฟนของเธอทำร้ายร่างกายเธอ
เธออาจให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธได้ง่าย ‘เพราะเผลอเอาการใช้กำลังมาปะปนกับความรัก’
ปล: ไม่ใช่เด็กที่ถูกพ่อแม่ตี จะโตขึ้นมาเป็นแบบนี้ทุกคนนะ มันเกี่ยวกับอีกปัจจัย แต่มันมีความเป็นไปได้เฉยๆ
‘หลังเด็กโดนตี อีกไม่ถึงสิบนาที เดี๋ยวเด็กก็จะกลับไปทำสิ่งที่ทำให้โดนตีอีกแล้วแหละ การตีเด็กมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย และสามารถส่งผลแย่กว่าเดิมในอนาคต เด็กมีความเสี่ยงจะโตมาเป็นคนก้าวร้าว และเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางสภาวะอารมณ์และจิตใจ’
คุณหมอโรเบิร์ต ซีจ (Dr. Robert Sege) จากบอสตัน อเมริกากล่าวไว้
การตีลูก… ถูกหรือผิด
เราว่า แล้วแต่หลักศีลธรรมและคุณค่าพิเศษของแต่ละคนที่ยึดไว้
แต่สำหรับเรา
การอธิบายให้เขาเข้าใจ ถกเถียง ต่อรอง ด้วยเหตุผลและตรรกะ
มอบความอบอุ่นและอ่อนโยนให้ลูก
มันช้า และต้องใช้ความอดทนในการสั่งสอนนี้ก็จริง
แต่ความสัมพันธ์ที่ได้กับลูก
มันช่างพิเศษและคุ้มค่า
กว่าการเติบโตมาจากความกลัว เยอะเลย
อ้างอิง
ติดตามบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY
ความเห็น 35
👀YBangsaen🏖✌✌
BEST
ตีเพื่อสั่งสอนไม่ผิดหรอกค่า
26 ส.ค. 2563 เวลา 04.10 น.
Arthur Grille
BEST
ตีพอแค่ให้จำ และสอนไปด้วยว่าที่ตีเพราะอะไร แล้วควรแก้ไขให้ถูกอย่างไร
26 ส.ค. 2563 เวลา 07.11 น.
บางครั้งคนเราที่จะดีขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่การอบรมสั่งสอนและก็พื้นฐานของครอบครัวด้วยเหมือนกันนะครับ.
26 ส.ค. 2563 เวลา 07.36 น.
@หนู@
คนที่เลือกตีเพราะไม่อยากสอน ไม่อยากอธิบาย
เด็กได้แค่ความกลัวแต่ไม่เข้าใจ
26 ส.ค. 2563 เวลา 06.12 น.
เผลอตีลูกไป แต่ตัวเองกลับเสียใจสงสารลูกมาก
26 ส.ค. 2563 เวลา 04.23 น.
ดูทั้งหมด