เวลาที่เราบำบัดคนไข้
หนึ่งสิ่งที่เรายึดไว้เป็นหลักคือ
‘เราจะช่วยคนไข้ให้มองตัวเองออกมานอกเหนือจาก ‘ปัญหา’ ที่เขามีได้ยังไง?’
เรารู้สึกว่า มันโรแมนติคและชโลมใจมากกว่าการจ้องแต่จะวินิจฉัยโรคและจ่ายยาอย่างเดียว
วันนี้ เราได้เข้าร่วมสัมมนา โดยผู้บรรยายชื่อ Claire Cooley เธอเป็นจิตแพทย์ที่ส่วนใหญ่ทำงานกับเด็กและวัยรุ่น
เธอมาพูดถึงการรับมือกับสภาพจิตใจในฐานะผู้ปกครอง เมื่อลูกที่เรารักกำลังจะจากเราไปในเวลาอันใกล้ (ด้วยโรคภัยอันโหดร้าย)
เราจะดูแลหัวใจทั้งของเราและลูกไปพร้อมๆ กันได้ยังไง
- ‘สิ่งที่สวยงามที่สุดในตัวลูกของคุณคืออะไร?’
คุณพ่อคุณแม่ หรือคนดูแลใกล้ชิดลูก ลองถามคำถามนี้กับตัวเอง
ค่อยๆ นั่งคิด
ว่าในตัวลูกคนนี้ มีอะไรที่น่าชื่นชม ที่มีค่าต่อจิตใจบ้าง? เช่น
- ลูกมักทำให้คนรอบข้างขำเสมอ
- ลูกมีจินตนาการที่เยี่ยมยอด ลูกเป็นคนที่เล่านิทานได้สนุกมากกก
- ลูกเป็นเด็กมีน้ำใจ ชอบแบ่งของเล่นให้เด็กคนอื่นที่อยู่ในโรงพยาบาลด้วยกันเสมอ
ให้เราได้ค่อยๆ เริ่มเรียนรู้ความพิเศษของลูก ที่มหัศจรรย์ต่อหัวใจของเรา มากกว่าการมองเขาด้วยโรคที่ต้องเผชิญตอนนี้เยอะเลย
- ‘เกิดอะไรขึ้น ‘อีก’ บ้างในวันนี้?’
ต่อจากข้อที่แล้ว ทุกวันที่อยู่โรงพยาบาล ลูกจะเจอคำถามจากคุณหมอ จากพยาบาล หรือคำถามจากคุณพ่อคุณแม่เองว่า ‘อาการวันนี้เป็นยังไงบ้าง?’
ลองหาบทสนทนาอย่างอื่นคุยกับลูก ให้เราทั้งคู่ได้รู้สึกว่า ลูกมีอะไรในชีวิตมากกว่า ‘สิ่งที่หมอวินิจฉัย’
- อะไรที่ทำให้หนูยิ้มบ้างในวันนี้?
- อยากเล่นของเล่นอะไรเป็นพิเศษไหม?
- รู้สึกยังไงกับการ์ตูนที่หนูเพิ่งดูจบไปบ้าง?
เป็นต้น
- ความจริงแล้ว เด็กมีความหวาดกลัวน้อยกว่าผู้ใหญ่เยอะเลย
ความใสและบริสุทธิ์ของเด็กยังมีอยู่มาก แต่หลายครั้งผู้ใหญ่จะรู้สึกผวาไปกว่าเด็กอยู่แล้วด้วยความเป็นห่วงหนักในหัวใจ
พาเด็กเดินทัวร์ในโรงพยาบาลเลย ทำความรู้จักกับพี่พยาบาลที่ไม่เขายังไม่เคยเจอ ให้เขาได้ตื่นเต้นกับเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ
และหลายครั้ง สำหรับเด็กแล้ว โรงพยาบาลคือบ้านหลังที่สอง ตกแต่งห้องในโรงพยาบาลให้มีความอบอุ่นเหมือนบ้านเลย อาจเอารูปที่บ้านมาวางไว้ มีตุ๊กตาตัวโปรด หรือมุมหนังสือเล็กๆ
- ไม่ต้องรู้สึกผิดหรอก ที่ยังมีความหวัง
หลายคนรู้สึกแย่ที่ยังมีความหวัง เพราะนั่นเหมือนแสดงว่า เราไม่ยอมรับความจริง หรือกำลังปฎิเสธสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่จริงๆ แล้ว เราแค่กำลังเลือกที่จะคิดถึงสิ่งที่มันต่างออกไปจากความตายที่กำลังจะมาถึง เท่านั้นเอง
มันโอเค ที่เราเลือกจะหัวเราะไปกับมุขตลกของลูก ยิ้มกว้างๆ ไปกับรูปวาดที่ลูกตั้งใจระบายสี
จดจำช่วงเวลาอันอ่อนโยน กับความหวังที่แสนหวาน ให้ลูกได้มีความสุขกับสิ่งที่กำลังอยู่ตรงหน้า
- เราหยุดสถานการณ์อันโหดร้ายนี้ไม่ได้ แต่เราเลือกการจบของมันได้
ข้อสุดท้าย ถึงแม้เราจะเลือกให้ลูกไม่จากไป ไม่ได้
แต่เราเลือกได้ว่าเราอยากสร้างบรรยากาศสุดท้ายให้ออกมาเป็นแบบไหน
‘เลือกให้มันจบลงด้วยความรัก’
- สมาชิกครอบครัวทุกคน ปู่ ย่า ตา ยาย มากันพร้อมหน้าล้อมเตียง
- ลูกอยากอยู่ในอ้อมกอดของแม่ระหว่างจากไปไหม?
- อยากร้องเพลงอะไรให้ลูกฟังเป็นครั้งสุดท้ายรึเปล่า
ลูกอาจอยากรู้ถึงชีวิตของเรา ‘เมื่อไม่มีเขา’
คุยกับลูกไปเลย และทำให้เขามั่นใจว่า เราจะทำอะไรเพื่อให้จดจำเขาได้ตลอดไป
ห้องนอนของเขา ลูกอยากให้จัดการยังไงต่อ?
เลโก้ชุดโปรด ลูกอยากให้เอาไปมอบให้ใครเป็นพิเศษไหม?
ให้เขาได้มีสิทธิสร้างความทรงจำสุดท้าย และต่อจากนี้ไปพร้อมกับเรา
คุณหมอเล่าให้ฟังว่า
วันหนึ่ง มีเด็ก 5 ขวบคนหนึ่งดึงคุณหมอไปคุยด้วยเงียบๆ
เด็กบอกว่า ‘หนูมีความลับจะบอก อีกไม่นานหนูก็จะไม่อยู่ที่นี่แล้วนะ’
หมอก็ถามว่า แล้วหนูจะไปไหน?
‘หนูจะไปเล่นตุ๊กตากับนางฟ้าคนอื่นๆ ที่มีปีกแล้ว’
เด็กคนนั้น คงหมายถึง เด็กๆ ที่อยู่ในโรงพยาบาลด้วยกัน ที่พวกเขาได้จากไปแล้ว
เด็กรับรู้แหละ เรื่องแบบนี้ แต่เขารับรู้ในแบบของเขา
ไม่ต้องกลัวที่จะพูดคุยกับเด็กในเรื่องที่น่าเศร้าแบบนี้
เพราะบางที ในจิตใจของเขา มันอาจเป็นอะไรที่สว่างมากๆ ก็ได้
ติดตามบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร
ความเห็น 6
ตัวเล็ก ตัวเล็ก
😊😊😊😊😊
26 ส.ค. 2563 เวลา 14.21 น.
NAPHAT
อ่านไปก็มองลูกที่กำลังหลับอยู่ข้างๆเลย
22 ก.ค. 2563 เวลา 18.54 น.
ENICIDEM
ขนาดไม่มีลูกเอง ยังรู้สึกว่า ตนเป็นพ่อแม่ หากเจอสถานการณ์แบบนี้คงรับมือยาก แค่อ่าน ติดตามยังน้ำตาไหลเลย ToT
22 ก.ค. 2563 เวลา 05.02 น.
การทำใจยอมรับกับในความเป็นจริงให้ได้ ย่อมที่จะช่วยทำให้จิตใจของเรานั้นเป็นทุกข์น้อยลง.
22 ก.ค. 2563 เวลา 01.20 น.
ไพโรจน์
เอาจริงๆ พระพุทธเจ้าได้บอกไว้ว่าความทุกข์เริ่มมีขึ้นตั้งแต่เริ่มเกิดแล้วหล่ะ
21 ก.ค. 2563 เวลา 18.11 น.
ดูทั้งหมด