โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ทุกคนก็เท่าเทียมกันหมดนั่นแหละ’ –คำสอนเสี่ยงๆ ที่อาจทำลูกกลายเป็นคนเมินเฉย - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 11 ส.ค. 2563 เวลา 11.02 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

 

 

‘I wish they didn’t teach you, I don’t see color.’ Because with that, you don’t see me.’

ย้อนกลับไปสมัยอยู่โรงเรียน ฉันอยากให้คุณครูเลิกสอนทุกคนให้ ‘ไม่มองกันที่สีผิว เพราะทุกคนเป็นคนเหมือนกัน’ เพราะด้วยคำพูดแบบนั้น มันทำให้คนอย่างคุณ มองไม่เห็นคนอย่างฉัน

 

 

เป็นคำพูดจากหญิงผิวดำคนหนึ่ง

ในวงสนทนาด้วยหัวข้อที่ว่า

‘คุณอยากให้คนที่ไม่ใช่คนผิวดำ เรียกคุณว่าอะไร? คนผิวดำหรือ Black People? แอฟริกัน-อเมริกัน? ชาวผิวสี? หรือไม่ต้องเน้นว่าเป็นคนผิวดำเลย?’

 

 

นี่เราไม่ได้ชวนพูดถึงความเหยียดที่เห็นกันอย่างโจ่งแจ้ง

เช่นครอบครัวคนผิวขาว พูดกรอกหูลูกหลานตัวเองว่า

คนผิวดำไม่ดีอย่างนั้น น่ากลัวอย่างนี้

เพื่อให้ลูกหลานไม่คบหาสมาคม และหลีกหนีให้ไกลจากคนผิวดำ

โดยคิดว่าชนชั้นของตัวเองเหนือกว่าชนชั้นอื่นหลายเท่านัก

แบบนี้เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่ไม่น่ารัก

และบ่มเพาะความเกลียดชังมาตั้งแต่เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะ

 

 

แต่นี่เรากำลังชวนพูดถึง

ความน่าสนใจที่ว่า

บางครั้งเจตนาที่ดีและบริสุทธิ์ของผู้ใหญ่

ในการพร่ำสอนลูกหลานของตัวเองว่า

‘คนทุกคน มีค่าความเป็นคน เท่าเทียมกันหมดนั่นแหละ’

เพื่อหวังจะให้ลูกหลานให้เกียรติและเคารพเพื่อนมนุษย์ซึ่งกันและกัน

แต่นั่นอาจเป็นจุดปิดกั้นการต่อยอดกลไกทางความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย

ที่อาจนำไปสู่การช่างสังเกต คอยตั้งคำถาม ไม่นิ่งเฉย และพร้อมช่วยเหลือผู้คนมากมายที่ขาดแคลนและขัดสนในหลายอย่างที่เขาควรจะต้องมีได้

 

 

 

Colorblind หรือภาวะตาบอดสี

เป็นแสลงในภาษาอังกฤษ ที่มักกล่าวถึงกลุ่มคนผิวดำ หรือกลุ่มคนผิวสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผิวขาวว่า ‘ฉันไม่เห็นความแตกต่างของสีผิวเลย เพราะทุกคนก็คือคนเหมือนกัน’

คำพูดที่ฟังดูนุ่มนวลอ่อนโยนนี้ จริงๆ แล้วมันได้ฉาบทับความละเอียดและเปราะบางจากปัญหาของคนผิวสีอื่นๆ เอาไว้ แทนที่จะช่วยกันเจาะเข้าไปที่ปัญหาความไม่เท่าเทียมอันเน่าเฟะที่หยั่งรากลึกมานานร้อยๆ ปี กลับกลายเป็นปิดตาและเมินเฉยผ่านเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ โดยไม่ศึกษาอย่างตั้งใจถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดความไม่เท่าเทียมนี้ และใช้วิธีโบ้ยไปที่ตัวตนของแต่ละคนแทน ทุกครั้งที่เกิดปัญหา

 

‘ถ้าคุณไม่ทำผิดกฎ ก็ไม่มีใครเล่นงานคุณหรอก’

  • ซึ่งเห็นมาหลายครั้งแล้วว่าตำรวจในอเมริกา เล่นงานคนผิวดำอย่างไม่เป็นธรรมบ่อยครั้ง เช่น อยู่ดีๆ ก็บุกเข้าบ้านบรีออนน่า เทเลอร์ หญิงผิวดำที่กำลังหลับอยู่และโดนยิงตาย เพียงเพราะตำรวจจับคนร้ายผิดคน

 

‘ก็อย่าทำตัวน่าสงสัยนักสิ’

  • เช่น อไลจ์ย่า แม็คเคลน เด็กหนุ่มผิวดำวัย 23 ที่ต้องตายเพราะตำรวจสงสัยว่าเป็นคนร้าย ระหว่างเดินกลับบ้านจากร้านสะดวกซื้อในตอนกลางคืนและใส่หน้ากากสกี เพราะร่างกายของเขาทนสภาวะหนาวมากไม่ไหว ซึ่งมันเป็นความผิดของเด็กคนนี้หรือไม่ที่มีลักษณะ ‘น่าสงสัย’ เพียงเพราะข้อจำกัดทางสุขภาพของเขา

 

‘คนอื่นก็ตายกันทุกวัน ทำไมต้องเศร้านักหนากับการจากไปของคนดำด้วย’

  • เพราะหลายครั้ง เหตุการณ์การจากไปและการถูกกดขี่ของคนผิวดำ เกิดจากความลำเอียงที่หยั่งรากลึกในใจของคนผิวสีอื่นๆ จนไม่มีใครกล้าที่จะยอมรับมันนั่นแหละ

 

 

และภาวะตาบอดสี ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างนี้

เกิดขึ้นในหลายสังคม ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม

เรารู้ว่า หลายคนไม่ได้คุยกับลูกแล้วชี้ไปที่คนไร้บ้าน แล้วบอกว่าอี๋ๆๆๆ แบบนั้นหรอก

แต่คุณมีบทสนทนาที่น่ากระอักกระอ่วนใจนี้กับลูกบ่อยแค่ไหน –หัวข้อเรื่องที่มันไม่น่าอภิรมย์นัก

เมื่อขับรถผ่านคนไร้บ้าน คนฐานะยากจน คนเมา ผัวเมียตีกันทิ้งลูกเล็กยืนร้องไห้อยู่ข้างทาง ฯลฯ

ก็ไม่ถึงกับสนับสนุนให้ลงไปห้าม ทำตัวเป็นฮีโร่อะไรขนาดนั้น

แต่ได้มีการถกกับลูกถึงต้นตอของมัน มากกว่าผลลัพธ์ที่เห็นอยู่รึเปล่า?

‘ทำไมค่าของคนที่มันเท่าๆ กัน แต่สิ่งที่เขาเป็น กลับไม่เหมือนสิ่งที่เรามี’

มีอะไรบ้างที่ทำให้เรากับเขาแตกต่างกัน

ทำไม?

มาจากไหน?

แล้วเราอยากทำอะไรเพื่อเปลี่ยนปัญหานี้ไหม?

เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

ลองฝึกคุยกับลูกให้เป็นคำถามปลายเปิด แทนที่จะเป็นประโยคคำสั่งเพื่อตัดบทสนทนา

 

 

 

เพราะความเป็นจริงแล้ว

การเข้าสู่โหมดภาวะเมินเฉย ‘ไม่ใช่เรื่องของเรา เราไม่ต้องไปยุ่งก็ได้’

อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนไม่มีความคิดลึกซึ้งเป็นของตัวเองได้

โดยไม่รู้ตัว

ติดตามบทความใหม่จาก เพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันอังคาร บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0