โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไถ่ชีวิตโค! ช่องทาง “ทำบุญ” หรือช่องทาง “ทำกิน”

Another View

เผยแพร่ 03 ธ.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

ไถ่ชีวิตโค! ช่องทาง ทำบุญหรือช่องทาง ทำกิน”

เงินจากศรัทธาแห่ซื้อชะตาวัวคนหัวใสหมุนเวียนสต๊อกนำกลับมาในระบบวัดกระโดดร่วมทีมสร้างเงินสะพัดบนสะพานบุญโรงฆ่าสัตว์ให้ไถ่ออกไปก็หาตัวใหม่เข้ามาแทน

ไถ่ชีวิตรับปีใหม่ บนความเชื่อศาสนา ประกอบกับคำแนะนำจากหลายสำนักหมอดู ผู้คนแบ่งเงินออมที่หวงแหน มาซื้อชีวิตวัวตัวสวย  หวังให้มันอยู่ได้ยืนยาวสมค่าไถ่ราคาแสนแพง โดยไม่ทราบว่าชีวิตหลังความตายของมัน จะสวยหรูเหมือนที่คาดหรือไม่

หน่วยงาน องค์กร บริษัท ก็นิยมไถ่ชีวิตโคกระบือในช่วงปีใหม่ เนื่องจากมักจะมีเงินปลายปีคงเหลือ ที่เอามาใช้ทำกิจกรรมบำเพ็ญกุศล แถมสามารถเก็บประมวลภาพในแฟ้มผลงานขององค์กรได้เป็นอย่างดี ใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ และวัดประเมินกิจกรรมของบริษัทได้ 

ทำไมต้องวัว  สืบเนื่องจากความเชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ใหญ่ กินแต่พืช และมักมีน้ำตาไหลให้เห็นก่อนเข้าโรงเชือด วัวและควาย จึงเป็นสัตว์ยอดนิยมที่ผู้คนสรรหาหนทางในการยื้อชีวิต  ในบางความเชื่อ วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และมีคุณค่าต่อวงการเกษตรกรรมไทย   การปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า แม้จะใช้เงินน้อยกว่าแถมได้จำนวนชีวิตมากขึ้น กระนั้นก็ไม่สามารถทดแทนคุณค่าในใจที่มีต่อการไถ่ชีวิตวัวควายได้เลย 

วัวที่นิยมไถ่ชีวิต จะเป็นวัวเพศเมีย อายุ 1-4 ปี  หรือถ้าราคาย่อมลงมา จะเป็นลูกวัวหย่านมแล้ว วัย 5-8เดือน สายพันธุ์ผสมบราห์มัน ชโลเรีย หรือ พันธุ์พื้นเมือง ตาก กำแพงแสน และ กบินทร์บุรี

ปล่อยแล้วไปไหน  หากไม่เลี้ยงเอง ก็มักจะถูกส่งต่อไปยังวัด สถานที่ซึ่งน่าจะทำให้วัวอยู่รอดปลอดภัย แต่เนื่องจากผู้มีจิตศรัทธามีจำนวนมากขึ้น วัวจึงกลายเป็นภาระให้วัด การบริโภคอาหารของสัตว์ประเภทนี้มีปริมาณต่อเดือนมากโข จนวัดต้องถึงขึ้นป้ายขอบริจาคอาหาร   วัดในจังหวัดทางภาคอีสานซึ่งมีการทำเกษตรกรรม อาจมีการให้ชาวไร่ชาวนา ได้เช่ายืมวัวควาย ไปใช้ในฤดูเกษตร สวนมะพร้าวทางใต้ นิยมยืมวัวมากินหญ้าในสวนเพื่อประหยัดกำลังคน  

แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่เป็นข่าวใหญ่ ว่าวัดบางวัดก็มีส่วนร่วมมือในการขอบริจาควัวควาย แต่แล้วกลับส่งต่อไปให้นายทุนขาย และเวียนสต๊อกสัตว์กลับมาให้บริจาคกันได้อีกครั้ง จนกระทั่งสัตว์ตัวนั้นมีอายุเกินกว่าเกณฑ์ที่จะบริจาค ก็จะถูกขายไปยังโรงฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารต่อไป เพราะอยู่ก็จะเป็นภาระค่าเลี้ยงดูและค่าอาหาร

โรงฆ่าสัตว์ขายไปก็หาใหม่เข้ามาแทน  ธุรกิจของโรงฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ มักจะมีใบสั่งวัวตามปริมาณการจองไว้อยู่แล้ว ดังนั้นการไถ่วัวออกจากโรงเชือดไป ก็ยังคงต้องจัดหาซื้อวัวตัวใหม่เข้ามาเพื่อส่งมอบไปยังลูกค้าให้ได้ครบตามจำนวนที่มีการตกลงไว้แล้ว ในแต่ละวัน วัวที่ถูกเชือดฆ่า รวมถึงการขายซาก มีปริมาณเท่าเดิม ลดลงบ้างในช่วงเทศกาลกินเจ แต่กระนั้นการไถ่ชีวิตโคกระบือเป็นการเพิ่มตัวเลขหมุนเวียนสัตว์ในระบบให้มากขึ้นไป ในขณะจำนวนชีวิตที่ต้องโดนสังหาร ก็ยังคงมีปริมาณเท่าเดิม 

ราคาสินไถ่ แบ่งเป็น ราคาหน้าโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งจะคิดจากน้ำหนักตัว คูณด้วยราคาเนื้อวัวต่อกิโลกรัมตามราคาปัจจุบันในตลาด ตัวผู้จะมีราคาถูกกว่าตัวเมีย ยิ่งถ้าเป็นวัวสาวชั้นดี พร้อมเป็นสัด ขยายพันธุ์ได้ง่าย จะมีราคาสูงขึ้นไป ราคาของ ลูกวัวตัวผู้หย่านม อายุ 5-8 เดือน จะอยู่ที่ ประมาณ 10,000-15,000 บาท  ในขณะที่วัวสาวที่พร้อมเป็นแม่พันธุ์อายุ 1-3 ปี จะอยู่ที่ตัวละ 20,000-30,000 บาท   วัวสาวจะตกลูกประมาณปีละ 1 ตัว สร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยงมากกว่าตัวผู้ ในขณะที่ โคขุน หรือ โคที่ขุนด้วยอาหารอย่างดี จนเนื้อแน่น ตัวใหญ่ มักจะได้รับความนิยมในการส่งออกไปยังประเทศเวียดนามในราคาที่สูงขึ้นไปอีก  กระนั้น ถ้าเป็นวัวที่บริจาคผ่าน ธนาคารโค-กระบือ ตั้งราคาไถ่ชีวิตวัวไว้ที่ ตัวละ 27,000 บาท และ ควาย 30,000 บาท

หลวงพี่ขี่วัวรวย พบข่าวมากกว่า 3 ครั้งในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา ว่ามีองค์กรการกุศลฉาบหน้าหลายแห่ง ระดมเรียกเงินทุนบริจาคในการไถ่ชีวิตโค-กระบือ บางวัดและสำนักธรรม มีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กได้อย่างมีประสิทธิผล ถ่ายรูปและออกใบอนุโมทนาบุญให้ผู้บริจาคได้รู้สึกอิ่มบุญกับปัจจัยที่สละไป แต่แล้วก็พบว่า วัดนั้นทำการเวียนโคกลับมาใช้ใหม่ คล้ายกับ สังฆทานเวียน หรือโรงศพเวียน แบบที่มักพบเห็นได้ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ราคาวัว สูงกว่าความเป็นจริง และไม่ได้เพิ่มปริมาณจำนวนวัวที่ไถ่ชีวิตตามยอดบริจาคนั้น 

การลดอุปสงค์ คงเป็นเรื่องยากในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว บุญบาปเป็นสิ่งที่ท้าทายสำนึก แต่มักถูกหยิบยกมาใช้ในการต่อสู้กันเสมอระหว่างความศรัทธาและความเจริญทางวัตถุ น้ำตาของวัวแต่ละหยดก่อนเดินเข้าโรงฆ่าสัตว์ โดนหยิบนำมาใช้เป็นโปรไฟล์โฆษณาเชิญชวนบริจาคอย่างมีประสิทธิผล บนความอ่อนโยนขี้สงสารของมนุษย์ ก็มักผุดโอกาสทางธุรกิจมารองรับได้อยู่เสมอ 

กรณีศึกษา : โครงการ ฟาร์มแห่งศรัทธา ของศิลปิน “บิณฑ์ บันลือฤทธิ์” ได้นำวัวที่ได้รับการไถ่ชีวิตจากโรงฆ่าสัตว์ มาเลี้ยงไว้เอง และดูแลจนวัวเหล่านั้นจนหมดลมหายใจ ไม่ต้องส่งคืนใคร หรือ ระแวดระวังว่าเกษตรกรจะนำวัวตัวที่ได้รับการไถ่ชีวิตแล้ว กลับไปขายยังโรงฆ่าสัตว์อีกครั้ง  หากโครงการแบบนี้ มีขึ้นในทุกจังหวัด ก็จะสร้างความอุ่นใจให้ผู้บริจาคได้

ส่งท้าย วัวท้องไม่มีอยู่จริง  เมื่อความสงสาร ถูกกระแทกใจขึ้นเป็นสองเท่าด้วยคำโฆษณาเชิญชวนให้ไถ่วัวท้องจากโรงฆ่าสัตว์ “ได้บุญเป็นสองเท่า” ใช้สายสัมพันธ์แม่ลูกในการเพิ่มมูลค่าและยอดบริจาค ทั้งนี้ในทางปฏิบัตินั้นเป็นไปได้ยาก เพราะว่าวัวที่ท้อง จะขายได้ราคาสูง ยิ่งถ้ารอให้คลอดก็ได้เงินเพิ่ม ผิดจากหลักเหตุและผล ตลอดจนที่พบประจำคือการ เป็น “ท้องลม” เสียมากกว่า มันก็คงจะคล้ายกับเหล่าศรัทธาที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ

----------------------------------------------------------

Picture Credit :  Vegetarian-Vegan.com

Reference  : ศูนย์ไถ่ชีวิตโค-กระบือ โรงฆ่าสัตว์วัฒนามีทโปรดัก 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 60

  • HYENAS
    ไม่จำเป็นต้อง เกี่ยวกับ โค กระบือ หรอกนะ ทำบุญทุกอย่าง ต้องมีสติ จะเห็นได้ว่า ทุกวงการ พบช่องโหว่หมดเลย ทั้งที เป็นโครงการที่ดี
    03 ธ.ค. 2561 เวลา 05.11 น.
  • ทำบุญทุกอย่างต้องมีสติ
    03 ธ.ค. 2561 เวลา 05.02 น.
  • ❤ Sandy ❤
    เป็นคนนึงที่ไม่กินเนื้อวัว วัวคือแม่คนที่สอง ที่ให้น้ำนมกินต่อจากน้ำนมแม่ สงสารเขามาก
    03 ธ.ค. 2561 เวลา 05.41 น.
  • Aor
    สัตว๊ทุกชนิดมันก็รักชีวิตทุกตัวแนะเรื่องพวกนี้มันอยู่ที่คนแล้วละที่จะแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิดอะไรสมควรจะทำหรือไม่ทำ
    03 ธ.ค. 2561 เวลา 05.53 น.
  • ตลกนะ เอาวัวมาโชว์แล้วก็เอาเงินไปให้พระ บอกไถ่ชีวิต พระพุทธเจ้าสอนแบบนี้หรือ?! หลายวัดชักจูงโยมให้เมาบุญ แต่ผลประโยชน์รับเต็มๆ
    03 ธ.ค. 2561 เวลา 05.40 น.
ดูทั้งหมด