โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดกรุคำด่า!! 4 'คำด่า' ยอดนิยมกับที่มาที่ไปของมัน - เรื่องใกล้ใกล้ตัว

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 25 มี.ค. 2565 เวลา 17.00 น. • เรื่องใกล้ใกล้ตัว

'เรื่องใกล้ใกล้ตัว' ประจำสัปดาห์นี้ขอหยิบเอาประเด็นที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (โดยเฉพาะในสถานการณ์ชวนหัวร้อน!) หัวข้อที่ว่าก็คือเรื่องของ 'คำด่า' ซึ่งในภาษาไทยก็ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีให้เลือกอยู่หลากหลายสำหรับการนำไปใช้ในกรณีต่าง ๆ ตามความเหมาะสม และแน่นอนว่าก็มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่วันนี้เราจะขอยกเอา 4 คำด่ายอดนิยมที่เป็นอมตะมาพูดถึงพร้อมเรื่องที่มาที่ไปของมัน จะมีคำไหนที่เคยใช้กันติดปากบ้าง ตามมาดูกัน!

**คำเตือน: บทความนี้อาจมีคำพูดที่ไม่สุภาพประกอบอยู่บ้าง แต่จุดประสงค์ของบทความเพื่อให้ความรู้เท่านั้น**

'เหี้ย'

คำที่บางครั้งถูกใช้เป็นคำอุทานเวลาตกใจ บางครั้งก็ถูกใช้เป็นคำวิเศษณ์ขยายความคำวิเศษณ์อีกที (ยกตัวอย่างเช่น สวยเหี้ย ๆ) และหลาย ๆ ครั้งก็เอาไว้ใช้เรียกแทนบุคคลที่มีคุณสมบัติเลวเกินพรรณา 

ความอัปมงคลของคำว่า 'เหี้ย' นั้นถูกใช้และบันทึกลงในประวัติศาสตร์ครั้งแรก ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ในเอกสาร “วชิรญาณวิเศษ” เล่ม 7 แผนที่ 40 วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก 111 ได้มีกลอนที่เขียนถึง 'ตัวเหี้ย' เอาไว้ว่ามีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ชอบเข้าไปลักขโมยอาหารจากบ้านคน เข้าไปอยู่ที่บ้านไหนก็นำพาแต่ความฉิบหายไปให้บ้านนั้น รวมถึงมีท่อนที่เขียนเปรียบเทียบเอาไว้ว่าหากมนุษย์คนไหนที่ชอบสร้างความวิบัติให้กับผู้อื่น ก็สมควรถูกเรียกให้เป็นเหี้ยเช่นกัน นี่เลยเป็นข้อสันนิษฐานว่าตั้งแต่เวลานั้นมา คำว่าเหี้ยที่ความเดิมหมายถึงตัวเงินตัวทอง ถูกหยิบมาใช้ให้เป็นคำด่าไปโดยปริยาย

'ห่า'

จากชื่อโบราณของโรคอหิวาตักโรคที่ปรากฏครั้งแรกในพงศาวดารเหนือครั้งกรุงศรีอยุธยา สู่คำด่าที่สามารถนำไปประสมคำจากภาษาถิ่นทั้งภาษาเหนือและใต้ ออกมาเป็นหลากหลายความหมายของคำว่า 'ห่า' ได้อย่างจัดจ้าน การถือกำเนิดของคำนี้ก็คล้ายคลึงกับคำว่า 'เหี้ย' ที่นำเอาคุณสมบัติความฉิบหายของโรคห่าที่เกิดขึ้นมาใช้บรรยายตัวบุคคล 

หากเรียกใครว่า 'ไอ้ห่า' ก็หมายความได้ว่าคนนั้นคือความฉิบหาย หรือในภาษาถิ่นเหนือที่นิยมเอาไปผสมกับคำอื่น ๆ เพื่อเพิ่มอรรถรส เช่น 'ห่ากิ๋นตั๊บ' (ไอ้ห่ากินตับ) หรือ 'บ่าห้าวอก' (พวกชอบโกหกเหมือนลิงหลอกเจ้า) ก็ทำให้คำนี้สามารถนำไปใช้พลิกแพลงได้ในหลาย ๆ สถานการณ์

'ดอกทอง'

พลั้งคำนี้ออกไปเมื่อไร อาจถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทได้ ซึ่งคำว่า 'ดอกทอง' ก็ถูกตราไว้ในกฎหมายพระไอยการลักษณวิวาท ตั้งแต่ปีพ.ศ. 1990 เช่นกันว่าเป็นคำประทุษร้ายที่มีบทลงโทษหากเกิดการฟ้องร้อง

'ดอกทอง' เป็นคำด่าที่ค่อนข้างจำกัดเพศและใช้จู่โจมเพศหญิงโดยเฉพาะ เพราะความหมายของมันสามารถแปลได้ว่า หญิงแพศยาหรือผู้หญิงชั้นต่ำ ที่มาของมันมีหลายข้อสันนิษฐาน บ้างว่ามาจาก นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ที่พูดถึง 'อีดอกทอง'ผู้เสพสังวาสไม่เว้นวัน ทำให้เป็นกามโรค ดอกดวงขึ้นเต็มตัว แต่อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจ บอกว่าต้นกำเนิดของคำด่าคำนี้มาจากดอกไม้ที่มีชื่อว่า 'ว่านดอกทอง'  โบราณเชื่อกันว่าเมื่อต้นนี้ออกดอกและส่งกลิ่นโชยเมื่อไร จะทำให้หญิงในหมู่บ้านเสียคน ทนกำหนัดตัวเองไม่ไหว ต้องคบชู้สู่ชาย จึงนำคำว่าดอกทองมาใช้เรียก/ด่าหญิงที่มีพฤติกรรมไม่อยู่กับขนบ เสมือนโดนฤทธิ์ของว่านดอกทองในเวลาต่อมา

'พ่อมึงตาย'

ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ว่าคนที่นำประโยคนี้มาใช้คนแรกคือใคร แต่เป็นประโยคที่งัดมาใช้เมื่อใด ความยาวเมื่อนั้น ต่างจากคำด่าเจ็บ ๆ อย่างเช่นคำว่า 'เ-็ดแม่' ที่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัวได้ว่า 'Mother*ucker' ประโยคด่าที่หลาย ๆ คนอาจจะเผลอหลุดปากไปในหลายสถานการณ์ที่ฉุนเฉียวอย่างการสาปแช่งบุพการีกลับไม่สามารถ Apply ได้กับภาษาอื่น ๆ หากเราโกรธเพื่อนฝรั่งแล้วยกนิ้วชี้หน้าไปด่าพ่อมันว่า 'Your father die' อาจจะทำให้เกิดความงุนงงขึ้นได้ว่าหากพ่อตายแล้วอย่างไร 

เหตุผลก็เป็นเพราะว่าการนำบุพการีมาใช้เป็นประกอบในประโยคด่าอยู่เป็นการด่าในเชิงวัฒนธรรม ในบ้านเรา พ่อแม่เปรียบเสมือนพระในบ้าน คือบุคคลที่ลูก ๆ เคารพนับถือ ฉะนั้นการนำบุคคลที่เป็นที่รักมาใช้รองรับอารมณ์เดือดดาลจึงกลายเป็นเชื้อเพลิงที่จุดน้ำโหได้เป็นชั้นดี 

อ้างอิง

เว็บไซต์ a day magazine

เว็บไซต์ Voice Online

เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

เว็บไซต์ becommon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0