โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทางเท้าไทย ทางเท้าของใคร? สำรวจปัญหาชวนร้องเฮ้อของ 'ทางเท้า' ในเมือง - เรื่องใกล้ใกล้ตัว

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 11 เม.ย. 2565 เวลา 17.00 น.
<i>ภาพจากเพจ กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า</i>
ภาพจากเพจ กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า

ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 คำจำกัดความของ "ทางเท้า" หรือในศัพท์ที่เราคุ้นเคยเรียกกันว่า 'ฟุตปาธ' ระบุเอาไว้ว่า "ทางเท้า คือ ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้สำหรับคนเดิน"

หากคุณผู้อ่านเป็นคนที่สัญจรไปมาด้วยการเดินเท้าในตัวเมืองเป็นประจำอยู่แล้ว จะตงิดใจขึ้นมาทันทีด้วยความที่ทางเท้าในเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่เคยทำหน้าที่เพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์ดังกล่าวเลย แต่ดันกลายเป็นพื้นที่ที่ประลองทักษะการหลบหลุมน้ำใต้ผิวทางเดินในวันที่ฝนตกบ้าง หรือหลายต่อหลายครั้งก็กลายเป็นหน้าร้านให้กับแผงเร่ที่ปักหลักเป็นประจำ เป็นทางมอเตอร์ไซค์บ้าง หรือเป็นที่อำพรางทั้งหลุมท่อ ทั้งบ่อ ให้ได้วัดดวงกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ 'เรื่องใกล้ใกล้ตัว' ประจำสัปดาห์นี้ ทางผู้เขียนเลยขอยกเอาปัญหาเกี่ยวกับทางเดินเท้าในตัวเมืองที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย กลับมาเขียนถึงอีกหนึ่งครั้ง…

ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บางที โรยด้วยเหล็กเส้นบ้าง ทรายบ้าง

Posted by กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า on Tuesday, February 16, 2021

สารพันปัญหา 'ทางเท้าไทย'

นอกจากปัญหาพื้นผิวที่ขรุขระ อิฐตัวนอนที่วางไม่เรียบจนอาจทำให้การเดินเท้าเป็นเรื่องที่น่าท้าทาย โดยเฉพาะสำหรับผู้พิการ หรือในเรื่องของการรักษาความสะอาดที่ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ปัญหาเกี่ยวกับฟุตปาธในเมืองไทยมีอีกหลากหลายประการด้วยกัน อย่างเช่น เรื่องของขนาด อ้างอิงจากบทความในเว็บไซต์ Agenda กรมทางหลวงได้กำหนดความกว้างของฟุตปาธเอาไว้ว่าควรมีหน้ากว้าง 1.5 - 2 เมตร เพื่อการเดินเท้าได้อย่างสะดวกสบาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลาย ๆ พื้นที่ถูกตัดเพิ่มเป็นเลนสำหรับรถ หรือในหลายกรณีก็ถูกแบ่งให้เป็นพื้นที่สำหรับป้ายถนน ป้ายโฆษณา พื้นที่ปลูกต้นไม้ ที่สุมกองขยะ หรือแม้กระทั่งโซนแผงลอย ร้านค้าหาบเร่ที่มาเปิดหน้าร้าน บดบังวิถีการเดินและทำให้ทางเท้าที่แคบอยู่แล้ว แทบจะไม่มีพื้นที่เหลือให้คนได้เดิน 

ภาพจากเพจ กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า
ภาพจากเพจ กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า

อีกประการคือเรื่องความปลอดภัย บางครั้งมีการซ่อมแซมผิวทางเดินโดยไม่ได้ตั้งป้ายบอกเอาไว้ล่วงหน้า มีงานก่อสร้างข้างทางที่ไม่มีการป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นให้กับผู้เดินถนน บางครั้งเทปูนทิ้งไว้ ปูนยังเปียกแต่คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่เดินเหยียบเข้าไปแล้ว หรือฝาท่อเจ้าปัญหาที่เราอ่านเจอบ่อย ๆ ในข่าวว่ามีคนตกท่อหรือขาติดเข้าไปในท่อ ก็เป็นอีกหลาย ๆ หลักฐานที่บอกกับเราว่าในแง่ของความปลอดภัย ทางเท้าบ้านเราก็เข้าขั้นวิกฤตไม่แพ้กัน

ป่วนจนกลายเป็นคอนเทนต์ที่มีการอัปเดตรายวัน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาทางเท้าหรือการร้องทุกข์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางโดยเท้าในตัวเมือง ทำให้เกิดเป็นเพจและกลุ่มในเฟซบุ๊กจำนวนมาก เมื่อเสิร์ชคำว่า "ทางเท้า" จะพบกับเพจต่าง ๆ ที่ทำคอนเทนต์รายวันเพื่อบอกเล่าถึงปัญหาของคนเมืองและฟุตปาธที่ทั้งฮา ทั้งชวนให้อารมณ์เสีย แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ในทุก ๆ วันที่เราทุกคนต่างก็ได้พบกับปัญหานี้ เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนก็อยากทวงคืนทางเท้าสำหรับการใช้สอยตามประโยชน์ที่มันควรจะเป็น และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตทุก ๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน

กี่ปี ๆ ทางเท้าไทย ไม่เคยพัฒนาไปไหน

การแก้ปัญหาอาจจะต้องเริ่มจากการมองย้อนกลับไปที่ต้นตอของปัญหาก่อนว่าทำไมทางเท้าของไทย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ๆ เราก็ยังคงเห็นภาพเดิม ๆ คอนเทนต์ไวรัลเดิม ๆ ที่เกิดจากปัญหาของการใช้ทางเท้า 

อย่างแรก ๆ คงเป็นเรื่องของการวางผังเมืองที่จะช่วยแพลนเส้นทางให้สมูธที่สุด มีสิ่งกีดขวางการเดินน้อยที่สุด ประกอบกับคุณภาพของวัสดุที่เลือกใช้ การควบคุมงานก่อสร้างเพื่อความคงทนและได้มาตรฐาน รวมไปถึงอาจวางแผนเพิ่มดีไซน์ เช่น Warning Block หรือ Guiding Block สำหรับผู้พิการทางสายตา อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและยังไม่สายเกินไปที่จะพัฒนา

อย่างที่สองคือในเชิงนโยบาย การจัดระเบียบร้านค้าแผงลอยให้เป็นโซนที่ชัดเจน การบังคับใช้กฎที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจอดยานพาหนะ หรือการวิ่งรถทุกประเภทบนทางเท้า การจัดโซนนิ่งของที่ทิ้งขยะที่ไม่เบียดบังพื้นที่ของฟุตปาธ ก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐสามารถพิจารณาเริ่มลงมือจัดการได้

และอย่างที่สาม ในภาคของประชาชนเองที่จำเป็นจะต้องมีจิตสาธารณะ จิตสำนึกที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตนเข้าช่วยเหลือด้วย ลองเริ่มต้นจากการทบทวนการกระทำของตนเองว่าถ้าหากตั้งหน้าร้านไว้ตรงนี้ จะมีใครที่ได้รับผลกระทบบ้างไหม หรือถ้าฉันเอาขยะมาทิ้งไว้ตรงนี้ จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า 

ถ้าทุกคนตระหนักเห็นความสำคัญของที่สาธารณะว่าควรเป็นของทุกคนโดยเท่ากัน ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนสถานการณ์ในภาพด้านล่างนี้ให้กลายเป็นฉากของเมืองที่น่าอยู่ มีทางเท้าสะอาด ๆ รอให้ทุกคนได้ใช้ได้อยู่นะ : )

ภาพจากเพจ กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า
ภาพจากเพจ กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า

อ้างอิง

เว็บไซต์ The Matter

เว็บไซต์ Agenda

เพจ กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0