หนึ่งในไอเทมติดตู้กับข้าวทุกบ้าน ที่ไม่ว่าจะเป็นห้องครัวของบ้านผู้เขียนเอง บ้านญาติ ๆ เพื่อน ๆ ที่ไปมาหาสู่กัน จะต้องหยิบจับสิ่งของชิ้นนี้ขึ้นมาใช้ทุกครั้งที่มีการล้อมวงทานอาหารกันก็คือ 'ชามตราไก่' ทางผู้เขียนเห็นบ่อยจนเกิดเป็นความสงสัยว่าทำไมชามลายนี้ถึงกลายเป็นไอเทมไฟลต์บังคับที่ทุกบ้านจะต้องมี และจุดเริ่มต้นของมันคืออะไร ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นที่มาของคอลัมน์ 'เรื่องใกล้ใกล้ตัว' ประจำสัปดาห์นี้ที่เราอยากชวนทุกคนไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน!
จากจีนสู่แผ่นดินไทย และประวัติศาสตร์มากกว่า 100 ปีที่ไม่ไก่กา
ชามตราไก่ หรือที่เรียกกันในภาษาถิ่นว่า 'ถ้วยก๋าไก่' มีจุดกำเนิดที่ตำบลกอปี อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน โดยเริ่มแรกนำเอาเซรามิกมาปั้น ขึ้นรูปเป็นชามสีขาวธรรมดา แต่เมื่อมีการผลิตแล้วส่งออกไปยังเมืองแต้จิ๋ว ถึงได้มีการสร้างสรรค์ลวดลาย เขียนเป็นลายไก่ เผาสีบนแล้วเคลือบ
ภูมิปัญญาจากจีนนี้ได้ถูกส่งมายังไทยพร้อมกับการย้ายถิ่นฐานของชาวแต้จิ๋ว ประมาณ พ.ศ. 2480 มีบันทึกที่ปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดตั้งโรงงานและเตาเผาชามตราไก่ขึ้นที่แถววงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี และที่ถนนเพชรบุรี ในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2500 ถึงมีการย้ายฐานการผลิตขึ้นไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง ด้วยเหตุผลที่ว่าในลำปางมีทรัพยากรดินขาวที่นำมาใช้ผลิตชามที่อุดมสมบูรณ์และมีคุณภาพดีกว่า โรงงานชามตราไก่แห่งแรกจึงถูกก่อตั้งขึ้นโดยชาวจีน 4 คนคือ นายซิมหยู แซ่ฉิน, นายเซี่ยะหยุย แซ่อื้อ, นายซิวกิม แซ่กว็อก และนายซือเมน แซ่เทน ใช้ชื่อว่า 'โรงงานร่วมสามัคคี'
ในปี พ.ศ. 2508 หุ้นส่วนบางคนได้แยกย้ายไปทำธุรกิจของตัวเอง มีเพียงนายซิมหยู (อี้) แซ่ฉิน ที่ยังคงสืบสานการทำชามตราไก่ต่อไป และได้ตั้ง 'โรงงานธนบดีสกุล' ขึ้นมา ปัจจุบันยังคงดำเนินธุรกิจโดยทายาทรุ่นที่ 2 ภายใต้ชื่อ 'ธนบดีเซรามิค' ผลิตทั้งชามตราไก่และเครื่องเซรามิกอีกหลากหลายชนิด ส่งขายทั้งในไทยและส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ทำไมถึงต้องเป็นลายไก่?
มีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 ข้อที่อธิบายเหตุผลว่าทำไมลวดลายบนตัวชามถึงต้องเป็นลายไก่ อย่างแรกคือเรื่องของความเชื่อของชาวแต้จิ๋วที่ว่าไก่คือสัตว์มงคล ให้ความหมายที่ดีคือความขยันทำมาหากิน เมื่อต้องประดิษฐ์ลวดลายบนชาม ชาวจีนแต้จิ๋วเลยใช้ไก่มาเป็นแบบเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งก็คือ ไก่ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปางในสมัยก่อน ในตำนานพื้นเมืองเรียกลำปางว่า 'กุกกุฎนคร' ซึ่งแปลว่าเมืองไก่ จึงกลายเป็นที่มาของการออกแบบ 'ชามตราไก่' เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าความเป็นมาของเมืองลำปางนั่นเอง
'ชามตราไก่' กับการครองใจคนไทยมาเนิ่นนาน
ประวัติศาสตร์มากกว่า 100 ปี กับความนิยมที่ไม่เสื่อมคลายมีจุดแข็งมาจากฟังก์ชั่นการใช้งานที่ชามตราไก่เป็นให้ได้สำหรับทุกโอกาส อย่างแรกคือขนาดที่ใหญ่ โดยมาตรฐานมีทั้งหมด 4 ไซส์ที่สามารถจุได้ทั้งข้าว ทั้งก๋วยเตี๋ยวได้อย่างเหลือเฟือ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่คนทำงานหนัก กินข้าวมื้อหนึ่งเยอะ ชามตราไก่ก็สามารถจุอาหารได้พอสำหรับข้าวแต่ละมื้อ อย่างที่สองคือความโค้งมนด้านในที่ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับการใช้ตะเกียบพุ้ย ชามรูปแบบนี้จึงเป็นที่รักของคนไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างมากเพราะสะดวกต่อการใช้งาน
อีกหนึ่งเหตุผลใหญ่ ๆ ที่ชามตราไก่กลายมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ติดห้องครัวของทุกบ้านอยู่ทุกยุคทุกสมัยอาจจะเป็นในแง่ของคุณค่าทางจิตใจ เป็นหนึ่งในของใช้ที่หลาย ๆ คนโตมาด้วย และถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น อย่างที่คุณพนาสิน ธนบดีสกุล ผู้สืบทอดโรงงานเซรามิกและชามตราไก่ในลำปางได้กล่าวไว้ว่า "ชามตราไก่คือสินค้าที่ขายความรู้สึก ไม่ใช่สินค้าที่มีผลจากการออกแบบ" ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี รูปแบบของชามตราไก่ก็จะถูกเก็บรักษาไว้ตามแบบแผนเดิม และทุกครั้งที่หยิบมาใช้ ชามตราไก่ก็อาจช่วยเตือนความทรงจำแสนดีในวันเก่า ๆ ของใครบางคนได้เช่นกัน
อ้างอิง
ความเห็น 47
humหนิ้งหน่อง
ดีจริงๆ
30 ม.ค. 2565 เวลา 06.00 น.
Boy
สมัยก่อนยังใช่อยู่นะตอนเด็กเดี๋ยวนี่เหมือนไม่เจอเลยตามยุคสมัย
23 ม.ค. 2565 เวลา 13.13 น.
Aree
เก็บไว้อย่างดีเกิดมาเห็นเลยพ่อ-แม่มีใช้มา ที่แม้มาจากจีนหรอก่อนหรอ อ้อเคยอ่านเรื่องถ้วยกาไก่ รง. ที่ลำปาง ก็มีชื่เสียงน้อ รุ้สึกจะ้ปนชาวจีน ที่ย้ายมาถิ่นมาอยุ่ไทยสมัยโน้น มาเริ่มทำถ้วยกาไก่แวะซื้อบ่อย มีหลายๆแบบชอบมาก
12 ก.ย 2564 เวลา 06.28 น.
หมายเลข7
ผมก็ยังใช้อยู่ครับ ปู่ย่า ทุกวันนี้ท่านเสียไปแล้ว
แต่ท่าน ชอบให้ซื้อ มาใช้เป็นประจำ เวลาไปเดิน
งานวัด จะมีมาขาย ผมจะซื้อทุกปี ปีล่ะ5ใบบ้าง7ใบบ้าง
ใช้อึดใช้ทน สินค้าทางใจ คิดถึงวันนั่งกินข้าวล้อมวง
กับครอบครัว
11 ก.ย 2564 เวลา 00.01 น.
Phasupat Sangthong
ที่บมีเป็นโหลเลยค่ะ ผ่านลำปางทีไร พ่อแม่แวะซื้อทุกที ยังไม่ได้ใช้เลยก็มีเป็นเถาๆ
10 ก.ย 2564 เวลา 21.49 น.
ดูทั้งหมด