ต้องสูญเสียอีกเท่าไหร่! คนไทย“ไม่เคารพกฎจราจร” ผิดที่สำนึกคนหรือผิดที่อะไร?
อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นข่าวที่เราพบเห็นอยู่บ่อย ๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ซึ่งเป็นแบบนี้มานานหลายปีจนทุกวันนี้มันได้กลายเป็นสิ่งคุ้นชินเราไปเสียแล้ว ปฏิกิริยาของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อข่าวพวกนี้คือ “อ๋อ” “อืม” แปลกแต่ว่ามันเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ทุกคนรู้ดีว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เหล่านี้เป็นปัญหา และทุกคนก็อยากแก้ปัญหาแต่เมื่อเวลาผ่านไป อุบัติเหตุบนท้องถนนกลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ยิ่งข่าวล่าสุดที่มีมอเตอร์ไซค์ขับฝ่าไฟแดงแล้วไปชนเข้ากับเด็กนักเรียนที่กำลังเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น การขับขี่โดย “ไร้การเคารพกฎจราจร” ทำให้อนาคตดี ๆ ของชาติต้องขาดหายไปเพียงเพราะการกระทำที่ขาดจิตสำนึกอย่างเลวร้ายของคน ๆ หนึ่ง
สาเหตุของปัญหาจริงๆมันคืออะไร? เราควรแก้ปัญหาอย่างไรถึงจะได้ผล?
แต่ที่มั่นใจก็คือปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย ประเทศไทยเรามีกฎหมาย พ.ร.บ. จราจร 2522 ของไทยนั้นมีข้อห้ามและบริหารจัดการจราจรแทบทุกอย่าง เรียกได้ว่าทัดเทียมกับประเทศศิวิไลซ์อื่น ๆ ได้เลย มีแม้กระทั่งรถต้องหยุดให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย หากไม่ทำตามจะโดนปรับ 1,000 บาท แต่ในชีวิตจริงจะมีรถซักกี่คันที่หยุดตรงทางม้าลายให้คนข้าม! หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายแต่เป็นการบังคับใช้กฎหมายต่างหากที่มีปัญหา
ภาพจาก posttoday.com
“แก้ไขไม่ได้หรอกเพราะปัญหามันอยู่ที่นิสัยของคนไทย”
หากใครกำลังคิดว่าปัญหาเหล่านี้มันไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับแก้ไขได้หรอก เพราะมันอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยส่วนใหญ่ไปเสียแล้ว ลองไปดูสถานการณ์สมมติต่อไปนี้กันดูครับ
หลายคนคงเชื่อว่าปัญหาการไม่เคารพกฎจราจรเป็นที่ตัว “คน” พูดง่าย ๆ คือถ้าหากเอาคนที่ไม่เคารพกฎจราจรเหล่านี้ออกนอกประเทศให้หมด ประเทศไทยจะมีอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงหรือไม่มีเลย แต่มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
สมมติว่ามีคนไทยคนหนึ่งอายุ 50 ปี ชื่อว่าสมหมาย ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาแล้ว 30 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่สมหมายเป็นวินมอเตอร์ไซค์ สมหมายขี่ย้อนศรหรือขี่บนฟุตปาธมาโดยตลอด ต่อมาสมหมายสมัครล็อตโต้กรีนการ์ดของสหรัฐฯ แล้วดันได้รับเลือกให้ไปตั้งรกรากใหม่ที่สหรัฐฯ คำถามคือเมื่อสมหมายไปถึงสหรัฐฯและยังคงขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ สมหมายจะยังคงขี่ย้อนศรหรือขี่บนฟุตปาธอยู่หรือไม่ เมื่อถามคำถามนี้กับคนรอบตัวแทบจะทุกคนตอบเหมือนกันว่าสมหมายจะไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศรหรือบนฟุตปาธอีกเมื่ออยู่ในประเทศสหรัฐฯ แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ? ไหนว่าการไม่เคารพกฎจราจรมันอยู่ในดีเอ็นเอไง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงหากไปถึงสหรัฐฯ สมหมายก็ยังคงต้องขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศรหรือบนฟุตปาธสิ
คำตอบที่ชัดเจนก็คือปัญหาการไม่เคารพกฎจราจรของคนไทยที่นำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นเป็นที่ตัว “ระบบ” หรือปัญหาในเชิงโครงสร้างต่างหาก
แล้วการแก้ปัญหาที่ตัวระบบหรือโครงสร้างนั้นทำได้อย่างไรล่ะ?
ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเคารพในสิทธิและหน้าที่ของกันและกันและของตนเองด้วย โดยไม่เกี่ยงว่าใครจะยากดีมีจนอย่างไร เช่น คนขับขี่ก็ต้องเคารพสิทธิของคนเดินถนนและต้องรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยโดยใส่หมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ดื่มเหล้าก่อนขับขี่และไม่ขี่รถบนฟุตปาธ ขณะเดียวกันคนเดินถนนก็ต้องเคารพสิทธิของคนขับขี่และรู้หน้าที่ของตนเองโดยไม่ข้ามถนนในที่ห้าม เป็นต้น การเคารพในสิทธิและหน้าที่ของกันและกันนี้ได้นำมาซึ่งกลไก “การลงโทษทางสังคม” อย่างหลวม ๆ หากมีใครทำผิดแปลกจากคนหมู่มากขึ้นมา จะถูกสังคมตัดสิน ซึ่งในภาพใหญ่ทำให้คนมีความยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำผิดกฎ
การมีกฎหมายที่แรงและบังคับใช้ได้จริงกับทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนมีช่องทางที่ง่ายและแก้ปัญหาได้รวดเร็วเมื่อมีการทำผิดกฎ เช่น หากมีคนมาจอดรถหน้าบ้านเราในเวลาห้ามจอดหรือกีดขวาง ก็สามารถโทรแจ้งไปที่เจ้าหน้าที่ และเพียงไม่กี่นาทีเจ้าหน้าที่ก็มาเคลียร์ปัญหาให้ โดยประชาชนไม่ต้องมาทะเลาะกันเอง
2 ปัจจัยหลักข้างต้นนี้ จะค่อย ๆ พัฒนาจนกลายเป็น “ระบบ” ที่ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่น่าจะป้องกันได้และลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งลดทรัพยากรของรัฐในการดูแลปัญหาที่ตามมาจากการขาดระบบที่มีประสิทธิภาพได้มากโข
ถึงตรงนี้หลายคนคงบอกว่าการสร้างระบบดังกล่าวต้องเริ่มจากการปลูกฝังกันตั้งแต่เล็กๆและเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานขณะที่อีกหลายคนคงบอกว่าคงยากที่ระบบเช่นว่านี้จะเกิดขึ้นในไทยผลก็คือจากปัญหานี้และวิธีการที่ใช้แก้ปัญหากันอยู่ในปัจจุบันถ้าไม่จริงจังในการแก้ปัญหาอย่างรีบด่วนก็จะเป็นได้แค่การพายเรือในอ่างวนกันต่อไป