“เมื่อผมพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ผมกลับรู้สึกภาคภูมิใจในเยาวชนของหมู่บ้านไทยเจริญเรา แทนที่จะรู้สึกหมั่นไส้… ผมเห็นใจเยาวชนที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพวกเรา ให้รักหลักประชาธรรม (ซึ่งก็ถูกต้อง) ให้รักและนิยมเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และการสมาคม… และเขานำเอาคำสั่งสอนของพวกเรานั่นเองไปประทับหัวใจของเขา พอหมู่บ้านมีกติกาขึ้น เขาก็ดีใจ เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของเขาซึ่งตรงกับคำสั่งสอนของพวกเรา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน และไม่มีอะไรให้ความหวังได้แน่นอนว่าจะคืนชีพกลับมากำหนดเมื่อใด ใครเล่าจะไม่เสียดาย ใครเล่าจะไม่ผิดหวัง เพราะเขาคาดหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ไทยเจริญ ตามกติกาของหมู่บ้าน”
“สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญ ของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา”
“ทุกวันนี้อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันก็พบโดยทั่วไป ภัยจากภายนอกหมู่บ้านไทยเจริญนั้น ผมเห็นด้วยกับพี่ทำนุว่าต้องขจัดให้สิ้นไป แต่ถ้าหมู่บ้านของเรามีแต่การใช้อำนาจ ไม่ใช่สมองไปในทางที่ควรเช่นที่บรรพบุรุษไทยเราเคยใช้มา จนสามารถรักษาเอกราชได้มาช้านาน เมื่ออำนาจทำให้กลัว ทางชีววิทยาท่านว่าไว้ ว่าเส้นประสาทบังคับให้หลับตาเสีย และเวลาหลับตานั้นแหละ เป็นเวลาแห่งความหายนะ”
“ข้อสำคัญที่สุดก็คือการจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการ ปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญ ได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชน และในฐานส่วนรวมด้วย”
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับประวัติศาสตร์ที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งใช้นามปากกาว่านายเข้ม เย็นยิ่ง (ชื่อรหัสเมื่อครั้งทำงานอยู่ในขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) เขียนถึง “นายทำนุ เกียรติก้อง” ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ ซึ่งหมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2515 อาจารย์ป๋วยเขียนจดหมายฉบับนี้ในลักษณะจดหมายเปิดผนึกให้สาธารณชนทั่วไปได้อ่าน หลังจากส่งไปถึงจอมพลถนอมแล้วไม่ได้รับตอบกลับ ดังที่ชี้แจงว่า “ผมเขียนด้วยความหวังดีต่อท่าน และได้จ่าหน้าซองมีหนังสือนำถึงท่านโดยตรงแจ้งให้ทราบแน่ชัดว่า จดหมายนี้มา จากผม ต่อเมื่อท่านไม่มี ปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างใดผมจึงนำเอาจดหมายนี้ออกตีพิมพ์เป็นจดหมายเปิดผนึก”
ในวาระ 14 ตุลา เวียนมาบรรจบ ผมนึกถึงจดหมายฉบับนี้เป็นพิเศษและกลับไปอ่านมันอีกครั้งหนึ่ง พบว่าเนื้อหาหลายอย่างยังคงทันสมัยและควรที่คนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบันควรจะได้อ่าน
จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นภายหลังที่จอมพลถนอม และคณะตัดสินใจทำ“รัฐประหารตัวเอง” ในเดือนพฤศจิกายน 2514 หลังจากที่เพิ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้ง 2 ปีก่อนหน้านั้น แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมและในสภา กองทัพที่นำโดยจอมพลถนอมและจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็ตัดสินใจปิดฉากประชาธิปไตยลงอีกครั้ง หันกลับไปปกครองแบบเผด็จการโดยไม่มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา
การรัฐประหารตนเองครั้งนั้นทำให้เกิดความอึดอัดและความไม่พอใจของคนจำนวนมากในสังคม เพราะรู้สึกว่ากองทัพไม่มีเจตนาที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยตามคำมั่นสัญญา ทั้งยังใช้อำนาจตามอำเภอใจ อยากจะให้มีการเลือกตั้งเมื่อใดก็มี อยากจะล้มเลิกเมื่อใด ก็ล้มเลิกเสียดื้อๆ แต่แม้จะมีความไม่พอใจในหมู่ประชาชน แต่ก็ไม่มีใครกล้าแสดงออกคัดค้านโดยเปิดเผยในทันที เพราะเกรงกลัวการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งมีมาตรา 17 ที่สามารถจับกุมคุมขัง กระทั่งตัดสินประหารชีวิตคนได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม
จดหมายฉบับนี้ของอาจารย์ป๋วยจึงออกมาให้ห้วงจังหวะสำคัญ เพราะเป็นเสมือนเสียงแห่งมโนธรรมในยุคสมัยของความมืด
อาจารย์ป๋วยใช้สถานะทางสังคมของตนเองที่พอจะมีอยู่บ้างในฐานะคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สื่อสารถึงคณะรัฐประหารว่าตนไม่พอใจกับการรัฐประหาร เพราะมันคือการหยุดพัฒนาการทางการเมืองของประเทศที่กำลังดูเหมือนจะพอมีแนวโน้มที่เปิดกว้างขึ้นก่อนหน้านั้น อาจารย์ป๋วยมองว่าการยึดอำนาจทำให้อำนาจกลับไปกระจุกผูกขาดอยู่ในการตัดสินใจของคนจำนวนน้อยไม่กี่คน ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศแก้ปัญหายากๆ ที่รุมเร้าอยู่ไม่ได้
ผมชอบประเด็นที่อาจารย์ป๋วยกล่าวว่าการปกครองด้วยความหวาดกลัวและการขู่เข็ญประชาชนนั้นทำให้รัฐบาลไม่มีวันล่วงรู้ความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชนได้ และที่สำคัญยังเท่ากับการปิดกั้นการพัฒนาสติปัญญาของสังคมโดยรวม ที่ประชาชนทุกคนจะมาร่วมกันคิด ร่วมแรงลงมือพัฒนาประเทศ แทนที่จะต้องรอการตัดสินใจของผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจากเบื้องบนไม่กี่คน ที่บ่อยครั้งก็ใช้อำนาจตามอำเภอใจและไม่ฟังเสียงลูกบ้าน
ผู้ใหญ่อย่างอาจารย์ป๋วยยังใจกว้างและทันสมัย เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาเปิดใจรับฟังเสียงของเยาวชนของชาติ เพราะคนรุ่นหนุ่มสาวมีทั้งความรักและความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง อยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติให้เจริญขึ้น อาจารย์ป๋วยย้อนถามว่าก็บรรดาผู้ใหญ่มิใช่หรือที่พยายามปลูกฝังให้เยาวชนสนใจและใส่ใจในปัญหาของบ้านเมืองและรักในสิทธิเสรีภาพ และเยาวชนก็รับคำสอนเหล่านี้ไปอย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่จึงควรมองเยาวชนในด้านดี แทนที่จะคอยจับผิด หวาดระแวง และดูถูกดูแคลนสติปัญญาความสามารถของอนาคตของชาติ
อาจารย์ป๋วยทิ้งท้ายจดหมาย เรียกร้องให้จอมพลถนอมรีบจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเร็ววัน เพื่อที่ประเทศจะได้มีกติกาหมู่บ้านอีกครั้ง แต่เราก็ทราบแล้วว่ารัฐบาลมิได้สนใจรับฟัง จนในที่สุด 1 ปีกับอีก 8 เดือนหลังจดหมายฉบับนี้ตีพิมพ์ ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 โดยมีชนวนสำคัญมาจากประเด็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
หากประเทศชาติคือหมู่บ้าน อาจารย์ป๋วยกำลังบอกว่าหมู่บ้านจะพัฒนาได้นั้น ประชาชนรวมทั้งเยาวชนต้องมีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วม ผู้ใหญ่บ้านและคณะไม่ใช่เจ้าของหมู่บ้าน เป็นเพียงตัวแทนที่ถูกเลือกให้มาช่วยบริหารจัดการหมู่บ้านร่วมกับลูกบ้านทั้งมวลที่เป็นเจ้าของบ้านตัวจริง
ผมเรียกจดหมายฉบับนี้ของอาจารย์ป๋วยว่า “จดหมายรัก” เพราะท่านเขียนขึ้นด้วยความรักที่มีต่อชาติบ้านเมือง ด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความห่วงใย ในยามที่ท่านเห็นว่าบ้านเมืองกำลังดำเนินไปผิดทิศผิดทาง แม้จะรู้ว่าการเขียนวิจารณ์ตักเตือนผู้มีอำนาจอย่างเปิดเผย (ต่อให้เขียนอย่างสุภาพและหวังดี) ในยุคนั้นอาจนำมาซึ่งอันตรายแก่ตนเอง (หลังจากจดหมายฉบับนี้ตีพิมพ์ อาจารย์ป๋วยทั้งโดนขู่ทำร้ายและเผชิญแรงกดดันในหน้าที่การงาน) แต่ท่านก็เลือกที่จะทำ เลือกที่จะออกมาให้สติกับผู้มีอำนาจ
นับว่าเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรมที่หาได้ยาก
น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยึดมั่นในหลักการและกล้าหาญอย่างอาจารย์ป๋วยอีกแล้ว.
ความเห็น 14
หมู่บ้านไทยเจริญทุกวันนี้
อยู่ด้วยผลประโยชน์ล้วนๆ
ใครไม่มีอำนาจก็แสวงหาอำนาจ
เพื่อผลประโยชน์
คนที่อยากมีผลประโยชน์
ก็วิ่งเข้าหาคนมีอำนาจ
ผิดชอบชั่วดีก็หาพรรคพวก
และข้อกฎหมายเข้าข้างตัวเอง
ตั้งกฎกติกาขึ้นเองแอบอ้างประชาชน
สารเลวทั้งนั้นคนพวกนี้
สูบเลือดกินเนื้อคนจนประชาชน
15 ต.ค. 2562 เวลา 22.20 น.
Viriyanop
เสียดายคนธรรมศาสตร์บางคนลืมผู้ประศานติ์มหา
วิทยาลัย..และมีคนจัดทิ้งคำท้ายมหา'ลัยฯ.."และการ
เมือง"ทิ้ง แต่เล่นการเมืองนอกสภา...
หา"ท่าน"ไฝ่คอมฯ(อดีตฑูตญี่ปุ่นในประเทศเรา24
75บอกNO)
15 ต.ค. 2562 เวลา 09.55 น.
Tickety-Boo!!!🐈
นึกถึงคำพูดนึงของ ดร.ป๋วย ที่ไม่ว่าจะกี่สิบปี ก็ยังทันสมัย ไม่ตกยุค.
" ผู้ที่ปลอมตัวว่าเป็นคนดี จะมีผู้ค้นพบในไม่ช้า " 55555.....
14 ต.ค. 2562 เวลา 20.08 น.
ถ้า อจ ป๋วยยังอยู่ ท่านอาจต้อง "อกหัก" เป็นทวีคูณ ที่รู้ว่า ไม่ว่าจะหมู่บ้านไทยเจริญ หรือ กรมกองทหารข้าราชการ เอกชน ทุกภาคส่วน "โกงกิน เอาแต่เงินทั้งนั้น"
อจ ป๋วยจะได้ซึ้งถึงอำนาจเงินที่มันยิ่งทรงพลัง ไม่มีที่สิ้นสุด ทหาร เจ้าสัว สถาบัน แปะมือกันรังแกคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ก้มหน้าทำงานส่งภาษีไปเลี้ยงพวกมัน
15 ต.ค. 2562 เวลา 23.37 น.
วัฒน์
อ.ป๋วย.ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่.เห็นการกระทำคนรุ่นใหม่ลูกศิษย์ มหาลัย.ท่านบ้างกลุ่มตอนนี้.ท่านจะสนับสนุนดีใจคนรุ่นใหม่.หรือเสียใจ กับคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มั๊ยน๊า..
15 ต.ค. 2562 เวลา 22.42 น.
ดูทั้งหมด