เดือนตุลาคมของทุกปีมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์ในปฏิทินการเมืองไทย
เหตุการณ์หนึ่ง คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือที่เรียกขานกันสั้นๆ ว่า “14 ตุลา” ซึ่งหมายถึงการเดินขบวนของประชาชนที่นำโดยนิสิตนักศึกษาราว 5 แสนคนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและโค่นล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ปกครองประเทศยาวนานกว่า 10 ปี เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
มองในแง่นี้ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จึงเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่มีคนเข้าร่วมมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และที่สำคัญการเดินขบวนประท้วงที่นำโดยคนหนุ่มสาวได้รับชัยชนะ ทำให้ระบอบเผด็จการสิ้นสุดลง และเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ฟื้นคืนสิทธิเสรีภาพ กระบวนการเลือกตั้ง และก่อเกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสูง (ฉบับ 2517) ที่สำคัญทำให้การเมืองแบบชนชั้นนำ (elite politics) ที่อำนาจผูกขาดในมือคนกลุ่มเล็กๆ เปลี่ยนมาเป็นการเมืองแบบมวลชน (mass politics) ที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ช่วงหลัง 14 ตุลาฯ กระแสสิทธิเสรีภาพแพร่ขยายออกไปถึงชนบทที่ห่างไกล ชาวนาชาวไร่รวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพ กระทั่งนักเรียนมัธยมก็ตื่นตัวไปพร้อมกับบรรยากาศของยุคสมัย ตั้งกลุ่มและชมรมเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา และประเด็นต่างๆ อีกมากมาย
บางคนจึงเรียกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ว่า “การปฏิวัติ” เพราะมันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนรัฐบาล แต่มีความสำคัญถึงขั้นเป็นการเปลี่ยนระบอบการเมืองเลยทีเดียว
ในยุคนั้นตรงกับยุคแห่งการปฏิวัติของคนหนุ่มสาวทั่วโลก เป็นยุคสมัยแห่งตื่นรู้ของคนรุ่นใหม่ (youth awakening) คนหนุ่มสาวทั่วโลกหันมาตั้งคำถามกับสภาพสังคมของตนเอง ทั้งปัญหาสงคราม ความเหลื่อมล้ำ การขาดสิทธิเสรีภาพ ความไม่เท่าเทียม ไล่ตั้งแต่ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ค โตเกียว นิวเดลี มะนิลา จาร์กาตา มาถึงเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
14 ตุลาฯ ได้รับการบันทึกไว้ให้มีความสำคัญในระดับโลก เพราะมีแค่ไม่กี่ประเทศที่พลังของคนหนุ่มสาวโค่นล้มระบอบเผด็จการลงได้สำเร็จแบบที่เกิดขึ้นใน 14 ตุลาฯ เรื่องราวการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวในไทยสร้างแรงบันดาลใจให้กับขบวนการคนหนุ่มสาวหลายประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน
เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้รับการถ่ายทอดเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อยู่บ้างพอสมควร ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมหรือถูกทำให้เงียบหาย ในหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีการพูดถึง 14 ตุลาฯ ในตำราเรียน โดยมีความละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละเล่ม แต่อย่างน้อยก็มีการให้ข้อเท็จจริงพื้นฐาน มีลำดับความเป็นมา พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และคำอธิบายๆ ว่าเหตุการณ์นี้คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญของนักศึกษาและประชาชน
แต่ประวัติศาสตร์เดือนตุลา ฯ อีกเหตุการณ์ ตกอยู่ในสถานะที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพราะไม่ได้รับการเอ่ยถึงในแบบเรียน แบบเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเกือบจะทุกเล่มไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้แม้แต่บรรทัดเดียว แบบเรียนหลายเล่มพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้วก็ข้ามไปที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 โดยตัดทิ้งเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ออกไป ราวกับ 6 ตุลาฯ ไม่เคยเกิดขึ้น ในขณะที่มีแค่ 1-2 เล่มเท่านั้นในบรรดาแบบเรียนทั้งหมดที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ แต่ก็สั้นเพียง 2-3 บรรทัด โดยไม่ได้อธิบายที่มาที่ไป และนักศึกษาถูกบรรยายให้กลายเป็นผู้ร้ายที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง
ทำให้นึกถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอุดมการณ์ในแบบเรียนของไทยที่สรุปไว้อย่างคมคายว่า หน้าที่ของแบบเรียนของไทยคือ “จำกัดเพดานการรับรู้ของผู้เรียน” แบบเรียนเลือกสรร ตัดทอน และขจัดเรื่องราวที่รัฐไม่ต้องการให้เยาวชนรับรู้ออกไป (นฤมล นิ่มนวล, การเมืองในแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาของไทย ระหว่างปีพ.ศ. 2503-2551, วิทยานิพนธ์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2559) ดังนั้นต่อให้คุณเป็นเด็กเก่งและตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากที่สุด ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยของคุณก็จะไม่ได้ดีกว่าเพื่อนเท่าไหร่ เพราะคุณรู้เท่าที่แบบเรียนตีกรอบให้คุณรู้ เผลอๆ ยิ่งตั้งใจเรียนในระบบมาก ยิ่งถูกกล่อมเกลามากเป็นพิเศษ
ฉะนั้นประเด็นคำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าอะไรอยู่ในแบบเรียนบ้าง? ประเด็นสำคัญที่เราต้องถามคือ อะไรบ้างที่ไม่อยู่ในแบบเรียน? และเพราะอะไร?
6 ตุลาคมปีนี้ ครบรอบ 43 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักวิชาการบางท่านเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ประวัติศาสตร์บาดแผล” บางท่านเรียกว่า “โศกนาฏกรรมของชาติ” อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำนักศึกษาที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า 6 ตุลาฯ คือ ประวัติศาสตร์อิหลักอิเหลื่อของสังคมไทย เพราะลืมก็ไม่ได้ จำก็ไม่ลง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือ เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทารุณโหดร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง
นักศึกษาที่เคลื่อนไหวร่วมกับชาวนาและกรรมกรอย่างต่อเนื่องหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เรียกร้องให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และมีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ขจัดความเหลื่อมล้ำและทุนผูกขาด ต่อสู้เรื่องการปฏิรูปที่ดิน สวัสดิภาพของแรงงานและค่าแรงที่เป็นธรรม ฯลฯ โดนผู้มีอำนาจรัฐ หน่วยงานความมั่นคง และกลุ่มอนุรักษ์นิยมกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ผู้คิดร้ายทำลายชาติ มีการปลุกระดมผ่านสื่อของรัฐ สร้างข่าวเท็จมากมาย เช่น นักศึกษาไม่ใช่คนไทย เป็นสปายต่างชาติ มีการซ่องสุมอาวุธและอุโมงค์ลับในธรรมศาสตร์ (ถ้าใช้ภาษาปัจจุบันก็คือ รัฐเป็นผู้ผลิต fake news อย่างจงใจ) และมีการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (hate speech) ให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเกลียดชังนักศึกษา กระทั่งมีพระสงฆ์บางรูปกล่าวว่า *“ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” *เพราะคนที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์นั้นไม่มีความเป็นมนุษย์
ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เพียงถูกปราบปรามโดยรัฐ แต่ถูกปราบปรามด้วยอาวุธสงครามเต็มรูปแบบราวกับเป็นข้าศึกศัตรูของชาติ และยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากมวลชนจัดตั้งของรัฐ เช่น กลุ่มกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้าน ที่กระทำทารุณนักศึกษาในรูปแบบที่โหดร้ายแบบที่ไม่เคยพบเห็นในเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ
จนถึงวันนี้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังเป็นโศกนาฏกรรมและประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทยที่ไม่ได้รับเยียวยา ทั้งความจริงและความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ
ผู้มีอำนาจในสังคมไทยใช้กลวิธีมากมายในการจัดการกับเหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 วิธีการหลักคือ ความเงียบและการหลงลืม ทำให้เหตุการณ์นี้ถูกลบเลือนจากความทรงจำของสังคม ไม่ถูกพูดถึง ไม่ถูกจดจำ
ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาเกือบทุกเล่ม ไม่มีพื้นที่ให้ 6 ตุลาฯ ในขณะที่ 14 ตุลาฯ ยังพอมีพื้นที่อยู่บ้าง เพราะเป็นประวัติศาสตร์ของชัยชนะและการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ เพื่อยุติความขัดแย้งและต่อสู้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยโดยไม่ได้ท้าทายอุดมการณ์หลักของความเป็นไทย (ผู้ร้ายมีกลุ่มเดียวคือ จอมพลถนอมและจอมพลประภาส จารุเสถียร) ในขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เปิดเผยให้เห็นด้านที่อัปลักษณ์ของสังคมไทยที่ชนชั้นนำทุกกลุ่มร่วมมือกันใช้ความรุนแรงกับพลเมืองและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติอย่างทารุณโหดร้าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ “สยามเมืองยิ้ม” “สังคมไทยรักสามัคคี” และ “รัฐไทยมีเมตตาโอบอ้อมอารี” ที่ชนชั้นนำพยายามสร้างขึ้นมากล่อมเกลาประชาชนมาตลอดตั้งแต่เด็กในรั้วโรงเรียน
ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ ดำเนินต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงอย่างเปิดเผยใจกลางพระนคร โดยที่มิได้มีบทจบสวยงามแบบในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่มีใครยื่นมือช่วยเหลือนักศึกษาประชาชนในเช้าวันนั้น ทั้งที่มีประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุจำนวนมากมาย แต่หลายคนกลับยิ้ม ปรบมือ และหัวเราะไปพร้อมกับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นตรงหน้า แทนที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยยุติความขัดแย้ง
6 ตุลาฯ จึงยากแก่การจดจำ เพราะการจดจำ 6 ตุลาฯ มีผลต่อการท้าทายอุดมการณ์ของรัฐไทย และอัตลักษณ์ของสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไม 6 ตุลาฯ จึงไม่สามารถมีพื้นที่อยู่ในแบบเรียนและความทรงจำอย่างเป็นทางการในสังคมไทย.
ความเห็น 7
[NUt]
ไม่ต้องหรอกเพราะเมื่อประเทศไทยเศรฐกิจพังจนเงินไทยไม่มีค่าเมื่อไหร่เมื่อนั้นไอ้พวกที่ปากดีว่ารักนักหนาน่ะละจะมากราบตีนกูขอให้ช่วย
20 พ.ย. 2562 เวลา 07.20 น.
Chumroen..
ก็คนที่อยู่ในเหตุการณ์14 ตุลา 6 ตุลาที่ยังมีชีวิตอยู่และรับหน้าที่นักวิชาการ นักเขียนตำราเรียนให้กับชนรุ่นหลัง ไหนเลยจะกล้าเขียนความไม่ดีในตนให้คนรุ่นใหม่รับรู้ว่าทำอะไรไว้ให้กับบ้านเมืองบ้างที่นั่งในสภา ในมหาวิทยาลัย นักวิชาการ อาจารย์สอนมีออกเต็ม รู้อยู่แก่ใจ
14 ต.ค. 2562 เวลา 09.07 น.
Lavanaporn
บทความที่เขียนเหมือน จะโทษแต่ ฝั่งทีสังฆ่า ขอถามว่า การเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น ใครร่วมมือกันปล้น อำนาจของ สถาบันฯ และร่วมมือกับชาวต่างชาติละ ทีทำการบ้มสถาบันได้สำเร็จ อย่าเขียนเอามันเพื่อดูดีในการเป็น นักเรียน มันไม่แฟร์
10 ต.ค. 2562 เวลา 02.00 น.
สำราญ
ไม่มีผลดีทุกอย่างที่คนไทยมาฆ่ากันเองโดยตกเป็นเครื่องมือต่างชาติที่สนับสนุนและให้คนไทยมาทำร้ายประเทศชาติกันเองผมเกิดมาเห็นทุกอย่างว่าคนที่ฆ่ากันเองเพื่อสนองตัณหาของคนที่แย่งชิงอำนาจจนต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปแต่คนอีกกลุ่มยังเสวยสุขกันรวยกันมากขึ้นทั้งที่ไม่มีสมบัติเก่าแก่มากมาย
08 ต.ค. 2562 เวลา 12.23 น.
Direk J
กูรำคาญ
08 ต.ค. 2562 เวลา 12.15 น.
ดูทั้งหมด