ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในสังคมการเมืองไทยในห้วงยามนี้ คงไม่มีเรื่องไหนร้อนเกินไปกว่าประเด็นที่นายกฯ และคณะรัฐมนตรีถูกร้องเรียนว่า “ถวายสัตย์” ไม่ครบ
เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการที่ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในพิธีถวายสัตย์ปฎิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน นายกฯ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีกล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามถ้อยคำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161
ที่มีถ้อยคำสมบูรณ์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฎิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
โดยประโยคที่ขาดหายไปในการกล่าวคำถวายสัตย์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ประโยคสำคัญที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” นอกจากนั้นยังมีการเติมคำว่า “ตลอดไป” เข้าไปในช่วงท้ายหลังคำว่าประชาชน
พิธีกรรมทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญซึ่งควรจะเรียบง่ายและราบรื่น กลายมาเป็นปมเงื่อนปัญหาที่ตึงเครียดแก่รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กระทั่งกระทบต่อเสถียรภาพและความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะอาจมีผลทำให้การกระทำของรัฐบาลตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะรัฐมนตรี การแถลงนโยบาย และการโยกย้ายข้าราชการมีผลเป็นโมฆะ ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่
ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าปมปัญหานี้จะกลายมาเป็นจุดสะดุดของรัฐบาล ผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนกว่าปมปัญหานี้ก็ยังคงเป็นปมที่คลี่คลายไม่สิ้นสุด ล่าสุด ในวันที่ 27 ส.ค.ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าการที่นายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ปฎิญาณตนไม่ครบถ้วนนั้นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ
เรื่องจึงยังไม่จบ และต้องลุ้นกันต่อไป
ทั้งนี้ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินอย่างไร ปมปัญหานี้จะกลายเป็นประเด็นศึกษาในประวัติศาสตร์ในภายภาคหน้า ถึงจุดเริ่มต้นของรัฐบาลชุดนี้ และที่สำคัญ จากผลสำรวจความเห็นของประชาชนโดยสวนดุสิตโพล ประชาชนถึง 77.20% เห็นว่าฝ่ายค้านมีเหตุผลเพียงพอในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปนายกฯ กรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว
สะท้อนว่าประชาชนติดตามและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ฉะนั้นเรื่องนี้อาจยุติลงในทางกฎหมายหลังคำตัดสิน แต่อาจไม่ยุติในทางอารมณ์ความรู้สึกและความรับรู้ในใจประชาชน
จนถึงวันนี้มีความพยายามอธิบายปัญหานี้จากหลายทฤษฎี ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านรัฐบาลต่างออกมาให้ความเห็นกันอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ทฤษฎีที่บอกว่า เป็นความตั้งใจของนายกฯ ที่จะกล่าวไม่ครบ
บางคนบอกว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ ในขณะที่บางคนเชื่อว่ามีการ “วางยา” รัฐบาลชุดนี้ รวมถึงทฤษฎีแบบสมคบคิดอีกมากมาย (conspiracy theory) สืบเนื่องมาจากคำพูดปริศนาของดร.วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของรัฐบาลซึ่งถูกตีความกันอย่างกว้างขวางพิสดาร
สำหรับผู้เขียน คำอธิบายแรกว่ารัฐบาลจงใจถวายสัตย์ไม่ครบนั้นยังฟังดูมีน้ำหนักน้อย เพราะแลไม่เห็นประโยชน์เท่าใดนักที่จะจงใจไม่กล่าว เพราะคำอธิบายที่บอกว่ารัฐบาลอาจจะเตรียมการทำผิดรัฐธรรมนูญหรือมีการรัฐประหารล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในอนาคต จึงละเว้นไม่กล่าว
แต่หากเราย้อนกลับไปดูในอดีต การรัฐประหารทุกครั้งที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีคณะรัฐประหารชุดใดมานั่งกังวลว่าตนเองทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว ยิ่งพิจารณาจากผลสืบเนื่องที่ตามมาจนถึงตอนนี้ ยิ่งเห็นว่าการถวายสัตย์ไม่ครบก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าได้
คำอธิบายที่ว่าเป็นความผิดพลาดตกหล่นโดยไม่ได้ตั้งใจ คืออ่านพลาดหรือสคริปต์ตกหล่นในขั้นเตรียมการ ก็ยากที่จะเป้นไปได้ เพราะเอกสารและพิธีการที่มีความสำคัญระดับนี้ย่อมต้องผ่านการตรวจตราจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน
เรื่องนี้จึงยังคงเป็นปริศนาแก่ชนรุ่นหลังต่อไป
กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณนี้สะท้อนความจริงข้อหนึ่งในการเมืองไทย คือ เป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ พิธีกรรมพิธีการต่างๆ นั้นมีการเมืองและการแสดงออกของความสัมพันธ์เชิงอำนาจซ่อนอยู่เสมอ โดยการเมืองเชิงสัญลักษณ์นี้เป็นสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าอย่างเดียวอาจจะไม่เห็น
ยิ่งมองการเมืองแบบลายลักษณ์อักษรแบบตรงไปตรงมา ยิ่งมองไม่เห็น เพราะความหมายมักจะถูกใส่รหัสและใส่ความหมายซ่อนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และในทางการเมืองวัฒนธรรมมา “ถอดรหัส” ที่ซ่อนอยู่
หากอยากเข้าใจการเมืองไทยโดย จึงต้องเข้าใจการเมืองเชิงสัญลักษณ์และการเมืองเชิงพิธีกรรม
โดยเฉพาะการเข้าใจรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ในสังคมไทยไม่ได้มีฐานะเป็นแค่กฎกติกาลายลักษณ์อักษรที่กำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบที่นักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์อธิบายเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญมีฐานะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในตัวมันเองด้วย ซึ่งในความหมายนี้ เราไม่ได้พูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่พูดถึงรัฐธรรมนูญในฐานะคุณค่านามธรรม)
บังเอิญผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง “ราษฎรธิปไตย: การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร” ที่เขียนโดยอาจารย์ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักวิชาการประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานน่าจับตา ยิ่งทำให้เข้าใจการเมืองเชิงสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น
หนังสือเล่มดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสถาบันการปกครองสมัยใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นหลังจากการปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎรนั้น เป็นสถาบันที่มีชะตาชีวิตที่ผันผวน เนื่องจากฝ่ายต่างๆ ต่างแย่งชิงให้ความหมาย
แรกเริ่มของการสถาปนาหลักการปกครองรัฐธรรมนูญหลัง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรต้องพยายามวางรากฐานความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรู้จักธรรมเนียมการปกครองในระบอบใหม่และยุคสมัยใหม่ ที่นับจากนี้ประเทศสยามจะถูกปกครองโดยหลักกฎหมาย มิใช่การปกครองโดยตัวบุคคล และทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคกันหมด มิสามารถมีใครใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายสูงสุดซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้
รัฐธรรมนูญจึงมิใช่แค่เศษกระดาษที่ปราศจากคุณค่า แต่คือหลักการปกครอง และคือสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สะท้อนคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายที่พลเมืองมีส่วนร่วมสร้างและเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา มันคือสัญญาประชาคมของคนทั้งสังคมร่วมกัน ที่ต้องการสร้างหลักประกันไม่ให้ใครใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจเหมือนการปกครองช่วงก่อนการปฏิวัติ 2475
การปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญที่ดีจะสร้างหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง (ที่ไม่ใช่ราษฎรที่ไร้อำนาจอีกต่อไป) จำกัดอำนาจของผู้ปกครอง และเป็นแหล่งที่มาของอำนาจที่ชอบธรรม
สำหรับคณะราษฎร รัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าเหนือชีวิตตนเอง ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และความหมายเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ถูกสื่อสารผ่านประดิษฐ์กรรมและพิธีกรรมต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่การจัดให้มีวันรัฐธรรมนูญ งานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ
การประกวดคำขวัญและเรียงความ และการแต่งเพลง กระทั่งกลอนหมอลำเพื่อแพร่กระจายความสำคัญของการปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง ให้หวงแหนอำนาจและสิทธิเสรีภาพที่จะกำหนดชีวิตตนเองและประเทศชาติ มิใช่การปกครองที่ปราศจากกฎเกณฑ์ ที่ผู้ปกครองสามารถใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล
การถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะธำรงรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่ง เพราะมันไม่ได้หมายความถึงการเคารพและรักษากติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่หมายถึงการเคารพและยอมรับต่อหลักการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ (constitutional rules) ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและทุกคนต้องเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ซึ่งเป็นหลักการหัวใจของการปกครองในยุคสมัยใหม่
การตกหล่นขาดหายไปของถ้อยคำจึงสื่อนัยถึงสภาวะที่คุณค่าหลักการดังกล่าวกำลังตกหล่นขาดหายไป และถูกท้าทายอย่างมีนัยสำคัญ
ความเห็น 40
หลุยส์
น.ป.ช. คือ แนวร่วมปกป้องคนชั่ว
อ.น.ค. คือ พรรคอนาคตไหม้
พ.ท. คือ พรรคเพื่อแม้ว
14 ต.ค. 2562 เวลา 22.11 น.
wirat
เขาตั้งใจกล่าวไม่ครบ
17 ก.ย 2562 เวลา 11.44 น.
CHOMBHU 4289 6395
นักวิชาการท่านนี้...หวังอะไร???
เค้าเล่นกันใกล้จะจบอยู่แล้ว
11 ก.ย 2562 เวลา 03.40 น.
🔭🌏
😁
05 ก.ย 2562 เวลา 04.20 น.
หนุ่ม 🌎
เพราะมีความคิดชั่วในสมองเผื่อว่าอนาคตต้องฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญโดยการทำรัฐประหารหรือไม่ก็คิดว่าตัวเองอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
ถึงไม่เห็นความสำคัญกับประโยคสุดท้าย
05 ก.ย 2562 เวลา 01.47 น.
ดูทั้งหมด