โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความเชื่อมั่นบรรจุขวด - ปราบดา หยุ่น

THINK TODAY

เผยแพร่ 09 ส.ค. 2561 เวลา 04.42 น. • ปราบดา หยุ่น

คอลัมน์ สัญญาณรบกวน

ผู้คนในหลายประเทศดื่มน้ำจากก๊อกเป็นกิจวัตร บางประเทศ (โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เช่นเดนมาร์กกับเนเธอร์แลนด์) ไม่เพียงแต่ดื่มตรงจากท่อ แต่ยังดื่มด้วยความภาคภูมิใจในความสะอาดบริสุทธิ์ตามธรรมชาติของน้ำประปา เจอก๊อกที่ไหนก็กรอกน้ำใส่ปากได้ที่นั่น ประเทศเหล่านี้ไม่นิยมเสิร์ฟน้ำเปล่าตามร้านอาหาร และการซื้อน้ำเปล่าบรรจุขวดจากซูเปอร์มาร์เก็ตมักมีราคาแพงกว่าหรือเทียบเท่าเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ (นักท่องเที่ยวจึงมักชี้แนะกันว่าให้ซื้อเบียร์หรือไวน์ดื่มแทนน้ำเปล่าไปเลยจะคุ้มกว่า) สาเหตุไม่ใช่เพราะ “น้ำเปล่าแพง” ตรงกันข้าม เพราะสำหรับพวกเขาการดื่มน้ำเปล่าสามารถทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ การซื้อน้ำเปล่าจึงเป็นความฟุ่มเฟือย เป็นการบริโภคแบบวิถีชีวิตของคนเงินเหลือใช้ ซึ่งคนมีวิจารณญาณทั่วไปไม่ทำกัน

แต่สถานการณ์ในอีกหลายประเทศไม่เป็นเช่นนั้น การซื้อน้ำเปล่าบรรจุขวดมาดื่มกลายเป็นพฤติกรรมปกติ และโดยทั่วไปน้ำเปล่ามีราคาถูกที่สุดในบรรดาสินค้าประเภทน้ำดื่มด้วยกัน ครั้งหนึ่งการซื้อขายน้ำเปล่าบรรจุขวดฟังดูเป็นเรื่องน่าขำ (ในวัยเด็ก ผู้เขียนดื่มน้ำเปล่าจากแท้งค์เก็บน้ำฝนหลังบ้าน ที่นำมาต้มและกรอกลงขวดหรือกระบอกน้ำ เก็บไว้ดื่มได้หลายวัน ไม่เคยคิดว่าต้องซื้อน้ำมาจากร้านค้า) ปัจจุบันนี้มันได้พัฒนามาเป็นธุรกิจใหญ่ที่มีการแข่งขันสูง มีน้ำเปล่าบรรจุขวดให้เลือกซื้อหลายสิบยี่ห้อ เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีการผลิตน้ำเปล่าเป็นปริมาณมากกว่าสิบพันล้านแกลลอนต่อปี นอกจากนั้นมันยังกลายเป็นกระแสนิยมสำหรับองค์กรต่างๆที่จะผลิตน้ำเปล่าบรรจุขวดแปะยี่ห้อของตัวเองไว้แจกจ่ายและจำหน่าย ยังไม่นับสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดีไซเนอร์” (designer water) ซึ่งอาจต้องจัดประเภทเป็นสินค้าไฮโซมากกว่าเครื่องดื่ม เพราะมันคือน้ำที่มักมาในขวดแก้วหรูหรา อ้างความบริสุทธิ์และสรรพคุณเลอเลิศต่อสุขภาพราวเป็นน้ำวิเศษ (ซึ่งมักมาจากแหล่งน้ำบนยอดเขาไกลโพ้นสักแห่ง) และราคาขวดละไม่ต่ำกว่า 300 บาท

ธุรกิจผลิตน้ำเปล่าบรรจุขวดถูกวิจารณ์เป็นครั้งคราวว่าเข้าข่ายธุรกิจต้มตุ๋นหลอกลวงผู้บริโภค โดยเฉพาะในกรณีที่มีคำโฆษณาประกาศสรรพคุณอย่างไม่อาจพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือน้ำเปล่าบรรจุขวดมีส่วนช่วยสร้างและส่งเสริมมายาคติที่ว่าน้ำประปาที่ผู้คนมีใช้ในบ้านเป็นน้ำสกปรกหรือมีสารพิษเจือปนจนไม่สามารถดื่มได้ ทั้งที่ความจริงน้ำประปาในเมืองใดก็ตามที่ใช้มาตรฐานสากลในการควบคุมบ่อกรองน้ำ มีระบบตรวจสอบและแก้ไขคุณภาพของน้ำอย่างสม่ำเสมอ ล้วนมีความน่าเชื่อถือกว่าคุณภาพของน้ำเปล่าบรรจุขวดขายตามร้านค้า ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางล่วงรู้ว่าเป็นน้ำที่ผ่านระบบการผลิตและผ่านการตรวจสอบมาอย่างไร ในกรณีไร้ยางอายที่สุด น้ำเปล่าในขวดอาจเป็นน้ำประปาธรรมดาที่ไม่ผ่านกรรมวิธีอื่นใดเลย แค่ถ่ายเทจากท่อสู่คอขวด เท่ากับว่าบริษัทคิดค่าผลิตขวด ค่าเสียเวลาในการกรอกน้ำบรรจุขวด และค่าขนส่งขวดมาขายให้เราเท่านั้นเอง

สำหรับกรุงเทพมหานคร การประปานครหลวงประกาศไว้อย่างชัดเจนในเอกสารที่สามารถอ่านได้บนเว็บไซต์ขององค์กรว่า “วัตถุประสงค์หลักในการทำงานของระบบผลิตน้ำประปา ได้แก่ การผลิตน้ำสะอาดและเหมาะสมสำหรับการบริโภค โดยทั่วไปแล้วจะต้องปราศจากจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคและสารพิษ รวมทั้งจะต้องไม่มีรส กลิ่น และสิ่งที่น่ารังเกียจ” การประปาฯยังรายงานว่าคุณภาพของน้ำประปาในกรุงเทพฯผ่านการฆ่าเชื้อและได้รับการตรวจสอบค่าความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รับรองโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนั้น ประชาชนก็สามารถตรวจสอบว่าน้ำประปาที่บ้านหรือที่ทำงานของตนถูกส่งมาจากสถานีสูบจ่ายน้ำเขตไหน น้ำที่ถูกส่งมามีสถานะอย่างไร

นั่นหมายความว่า น้ำประปาที่ไหลออกมาจากก๊อกและฝักบัวในกรุงเทพฯเป็นน้ำสะอาดที่ดื่มได้ เช่นเดียวกับน้ำในเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ โตเกียว นิวยอร์ก โทรอนโต ฯลฯ และชาวกรุงเทพฯก็สามารถภาคภูมิใจกับความสะอาดของน้ำประปาได้เท่ากับชาวเมืองใหญ่อื่นๆในโลก เราไม่ควรจำเป็นต้องซื้อน้ำเปล่าบรรจุขวด หรือซื้อเครื่องกรองน้ำมาติดเพิ่มให้เกะกะวุ่นวายและสิ้นเปลือง ทั้งนักวิทยาศาสตร์จากการประปานครหลวงและผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำเปล่าบรรจุขวดและการติดเครื่องกรองน้ำใช้เองอาจมีความเสี่ยงมากกว่าการดื่มน้ำประปาจากก๊อกโดยตรงด้วยซ้ำ เพราะน้ำอาจไม่ได้ผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อและควบคุมคุณภาพอย่างถูกวิธีโดยผู้มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสม

แต่คงไม่ผิดเพี้ยนจากความจริงนัก หากจะบอกว่าคนกรุงเทพฯจำนวนมากไม่กล้าดื่มน้ำประปา เชื่อว่าต่อให้ได้รับข้อมูลข้างต้นจากการประปานครหลวง จำนวนคนที่จะเลิกซื้อน้ำบรรจุขวดแล้วหันไปรองน้ำจากก๊อกในครัว ใส่แก้วยกขึ้นซดอย่างภาคภูมิใจคงไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นเรื่องน่าเศร้าแต่ยากจะปฏิเสธ ว่าหลายครั้งข้อมูลไม่มีพลังเท่าความเชื่อ (หรือมายาคติ) และในกรณีความสะอาดของนำ้ประปา อาจต้องเรียกว่าข้อมูลไม่มีพลังเท่าความเชื่อมั่น

ปัญหาใหญ่ในแก่นของเมืองอย่างกรุงเทพฯอาจไม่ใช่การจราจร มลพิษ หรือแม้แต่คอร์รัปชั่น แต่อยู่ที่ความไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ ไม่อาจพึ่งพาหรือเชื่อมั่นในระบบและโครงสร้างใดๆของมันได้ การที่ผู้คนไม่กล้าดื่มน้ำประปาเพราะคิดว่าน้ำในเมืองอย่างกรุงเทพฯต้องสกปรกและเป็นพิษ แม้ว่าความจริงจะเป็นตรงกันข้าม ย่อมสะท้อนสถานะของกรุงเทพฯที่ดูเหมือนจะเป็นความเห็นรวมหมู่ นั่นคือความเป็นเมืองภายใต้การดูแลที่สกปรกและเป็นพิษ ยากจะมอบความเชื่อถือหรือไว้วางใจ และท้ายที่สุดก็ยากที่จะอยู่กับมันด้วยความภาคภูมิใจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 8

  • Arty
    น้ำประปาสะอาดอันนี้เชื่อ แต่ท่อประปาที่ส่งน้ำเข้ามามันจะสะอาดพอให้ไว้ใจได้หรือ?
    09 ส.ค. 2561 เวลา 05.46 น.
  • ลองมาเจอการประปาบ้านนอกที่ พนง.บอกกับผู้ใช้ว่า ท่อวางมา 22 ปีแล้วยังไม่เคยเปลี่ยน ระหว่างนั้นขุดเจาะซ่อมมาไม่รู้กี่ครั้ง คุณจะกล้าดื่มจากก๊อกอยู่ไหม น้ำจากการประปาสะอาดแน่ แต่ระหว่างทางถึงบ้านล่ะ.....
    11 ส.ค. 2561 เวลา 01.34 น.
  • WV
    จุดประสงค์ของผู้เขียนคงไม่ได้หมายถึงความสะอาดหรือไม่สะอาดครับ ในส่วนลึกของจิตใต้สำนึกคงเป็นเพราะความคิดที่ว่า "ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเกิดมาต้องซื้อน้ำดื่ม" นี่คือความคิดที่ฝังใจมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็คิดคล้ายกันกับผม ภาพที่มีหม้อน้ำอยู่หน้าบ้านเพื่อเอื้อเฝื้อคนผ่านทางได้ดับกระหาย ตอนนี้ยังมีอยู่ไหม ?
    13 ส.ค. 2561 เวลา 02.33 น.
  • @...
    แต่บางครั้งกับในการฝืนทนก็เพียงแค่เพื่อในการได้อยู่รอด.
    09 ส.ค. 2561 เวลา 09.15 น.
  • P. ƃuou˙Ԁ
    ชอบครับ คิดเหมือนกัน
    16 ส.ค. 2561 เวลา 23.59 น.
ดูทั้งหมด