คอลัมน์ สัญญาณรบกวน
24 มิถุนายน ค.ศ. 2018 คงจะถูกบันทึกและจดจำโดยชาวซาอุดีอาระเบียว่าเป็นวันแรกที่ผู้หญิงชาวซาอุฯสามารถขับรถยนต์ได้อย่างเป็นทางการ แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นข่าวใหญ่ระดับสากล เป็นที่ชื่นชมของนักเคลื่อนไหวและองค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ภาพใบหน้ายิ้มแย้มและการแสดงทีท่าเฉลิมฉลอง “สิทธิเสรีภาพ” ของผู้หญิงซาอุฯปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายตามสื่อ
ไม่ผิดแปลกที่การได้รับสิทธิ์ของผู้หญิงซาอุฯจะชวนให้ชาวโลกยินดี ในทางกลับกัน อาจต้องบอกว่าเป็นเรื่องประหลาดอัศจรรย์อย่างลึกซึ้งต่างหากที่ผู้หญิงซาอุฯเพิ่งได้รับเสรีภาพในการขับรถ และก่อนหน้านี้ไม่นาน การออกมาประท้วงคำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถถือเป็นกิจกรรมท้าทายอำนาจปกครองซึ่งยังอยู่ภายใต้ความเคร่งครัดทางศาสนาและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี 1990 ผู้หญิงซาอุฯ 47 คนถูกจับขังหลังจากที่พวกเธอพากันออกมาขับรถเรียกร้องสิทธิ์ในกรุงรียาด ส่งผลให้สถาบันสูงสุดทางศาสนาประกาศให้การขับรถโดยผู้หญิงเป็นเรื่องขัดหลักปฏิบัติของอิสลามอย่างรุนแรง ด้วยเหตุผลว่าหากผู้หญิงขับรถได้อย่างเสรี พวกเธอจะมีโอกาสพบเจอผู้ชายหลากหน้าหลายตา และนำมาซึ่งความวุ่นวายในสังคม
หลังการจับกุมครั้งใหญ่ในปี 1990 การขับรถกลายเป็นวิธีแสดงออกเพื่อประท้วงและรณรงค์เรียกร้องสิทธิ์โดยผู้หญิงซาอุฯหัวก้าวหน้า ในปี 2011 นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี มานาล อัล-ชารีฟ เผยแพร่คลิปตัวเองขับรถลงยูทูบและเฟซบุ๊ก เธอถูกจับและคุมขังนาน 10 วัน ในปีเดียวกัน เชมา จาสเตนา ถูกศาลตัดสินให้รับโทษด้วยการโบย 10 ครั้งจากการถูกจับเพราะขับรถ แต่แล้วสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด กษัตริย์ซาอุฯ ก็มีคำสั่งให้การตัดสินเป็นโมฆะ
คำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมซาอุฯ กระแสต่อต้านดูเหมือนจะสร้างแรงกดดันให้ฝ่ายปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพจนสิทธิสตรีกลายเป็นวาระสำคัญระดับชาติ ถูกรวมอยู่ในนโยบาย “ซาอุดีวิชั่น 2030” ซึ่งเป็นแผนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียให้ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมัน เปิดตลาดการค้าเสรีระหว่างประเทศ ยกระดับการศึกษา และพัฒนาการท่องเที่ยว เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ทรงแถลงโครงการนี้ด้วยพระองค์เองในเดือนเมษายน ปี 2016 และการประกาศเตรียมออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกคำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถก็มีขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน
การเปลี่ยนแปลงในทางบวกของสิทธิสตรีในซาอุดีอาระเบีย (ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งและลงสมัครชิงตำแหน่งทางการเมืองในปี 2015 ทำให้ซัลมา บินท์ ฮิซาบ อัล-โอเทบี ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลหญิงคนแรก และในปี 2017 ชายหญิงชาวซาอุฯได้รับอนุญาตให้เข้าชมการแข่งขันกีฬาต่างๆร่วมกัน) ถูกนำเสนออย่างกว้างขวางว่ามาจากวิสัยทัศน์เปิดกว้างและทันสมัยของกษัตริย์และมกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ กระทั่งข่าวยกเลิกคำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถก็ถูกเผยแพร่ในลักษณะสรรเสริญผู้มีอำนาจ โดยละข้อมูลที่ว่าการกดขี่ลิดรอนสิทธิสตรีก่อนหน้านั้นล้วนเป็นผลงานของอำนาจเดียวกัน เมื่อครั้งผู้หญิง 47 คนถูกจับในปี 1990 กษัตริย์ซัลมานดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงรียาด ซึ่งรับผิดชอบการจับกุมคุมขังโดยตรง และแม้จะมีการลดหย่อนความเข้มงวดและปลดข้อบังคับสำหรับผู้หญิง ขณะเดียวกันก็ยังมีการจับกุมนักเคลื่อนไหว และมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกกักขังอยู่เป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับทิศทางการปรับตัวในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดของประเทศอำนาจนิยมและสังคมชายเป็นใหญ่อย่างจีน พม่า (และล่าสุด เกาหลีเหนือ) การ “เปลี่ยนภาพลักษณ์” ให้ดูดีในสายตาชาวโลกเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ เพื่อเพิ่มบุคลากรในกลไกตลาดและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ดูจะเป็นเหตุผลสำคัญต่อการตัดสินใจเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้สตรี มากกว่าแนวโน้มที่จะเป็นความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติในโครงสร้างอำนาจของซาอุดีอาระเบีย
การรณรงค์ให้ผู้หญิงขับรถเป็นเพียงหนึ่งในการต่อสู้ทางสัญลักษณ์กับสังคมและแนวคิดที่ยังไม่เห็นว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์เท่าผู้ชาย และการได้รับสิทธิ์นั้นก็ยังน่ากังขาว่านับเป็นความสำเร็จของการต่อสู้หรือไม่ ทุกวันนี้ผู้หญิงชาวซาอุฯยังตกอยู่ภายใต้กรอบชีวิตที่ไม่อาจหลุดพ้นจากอำนาจปกครองและตัดสินใจโดยพ่อ สามี พี่น้องเพศชาย หรือกระทั่งลูกชาย ถ้าต้องการเดินทาง แต่งงาน หรือหากติดคุก จะได้รับการปล่อยตัวก็ต่อเมื่อมีผู้ปกครองชายเซ็นรับรอง สถานะของผู้หญิงซาอุฯจึงคือทาสของผู้ชายโดยแท้
อาจเป็นเรื่องปกติที่การเปลี่ยนแปลงสำคัญๆทางการเมืองและสังคมมักเกิดจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมากกว่าชัยชนะทางอุดมการณ์หรือสำนึกทางมนุษยธรรม แต่นั่นยิ่งเป็นเหตุผลที่ประชาชน (ผู้ไม่ฝักใฝ่ในสถานะทาส) ไม่ควรชะล่าใจว่านโยบายสร้างภาพลักษณ์ของฝ่ายอำนาจปกครองจะนำมาซึ่งทัศนคติเปิดกว้างและสิทธิเสรีภาพที่แท้จริงยั่งยืน ผู้คนจำนวนมากเห็นด้วยว่าชีวิตผู้หญิงซาอุฯถูกกดขี่และลิดรอนสิทธิ์อย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลอันพิลึกพิลั่นผิดสามัญสำนึก แต่ขณะเดียวกัน ในคนจำนวนมากนั้น ก็มีไม่น้อยเลยที่เฉยชาต่อความไม่ธรรมและการกดขี่ที่เกิดจากเหตุผลพิลึกพิลั่นผิดสามัญสำนึกไม่แพ้กันในสังคมของตัวเอง
ความเห็น 11
thanom
สตรีไทย ที่เป็นมุสลิม คิดได้ไหม? เป็นคนไทย อยู่ในประเทศไทย สบายกว่าอยู่ที่ใดๆในโลก แม้จะถูกผู้ชายบังคับโดยอ้างหลักอะไรก็ตาม พวกเธอเป็นคนไทยนะ
13 ก.ค. 2561 เวลา 02.08 น.
ความคิดบ้าๆแบบมุสลิม
12 ก.ค. 2561 เวลา 13.02 น.
Naruebet Sirlakaew😎☺
😉😉😉
21 ส.ค. 2561 เวลา 05.58 น.
ภภภภภภภภภภภภภภภภภ--------------------ภภภภภภ---ภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภภ-ภภภภภภภ------------
02 ต.ค. 2561 เวลา 02.26 น.
Kongake
มันไม่ใช่เรื่องคิดควายๆสมองควายๆแบบที่คนควายๆคิด หลักการนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่มันเกี่ยวกับลักษณะการปกครองของราชวงศ์ซาอุ เป็นพวกอิสลามฟุ้งเฟ้อที่โดนคนยิวหลอกให้ขึ้นมาเป็นนอมินี สร้างอำนาจ ไปอ่านประวัติศาสตร์เยอะ จะเข้าใจหลักการที่มา ประเทศนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่ทำไมไม่เคยมีปัญหากับอเมริกา ไปคิดดู
20 ก.ค. 2561 เวลา 07.30 น.
ดูทั้งหมด