โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เดินห้างฯเพื่อชีวิต - ปราบดา หยุ่น

THINK TODAY

เผยแพร่ 02 ส.ค. 2561 เวลา 04.33 น. • ปราบดา หยุ่น

คอลัมน์ สัญญาณรบกวน

ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ การมีห้างสรรพสินค้าขนาดน้อยใหญ่ผุดขึ้นตามขอบตามมุมเหมือนไม่มีวันจบสิ้น เป็นสถานการณ์ที่นำมาซึ่งความย้อนแย้งของความน่าเป็นห่วงและน่ายินดีในปริมาณเกือบเทียบเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนคนเมืองจะให้ความสำคัญกับเรื่องไหน ให้น้ำหนักกับมิติใดของการใช้ชีวิตมากกว่า

การสร้างห้างสรรพสินค้าไม่ใช่กิจกรรมที่จะได้รับคำสรรเสริญบ่อยนัก ตรงกันข้าม ความเห็นที่คุ้นหูคุ้นตาตามสื่อมักเป็นไปในเชิงตำหนิ เหน็บแนม และตั้งคำถามทำนองว่า “เมืองนี้ยังมีห้างฯไม่พออีกหรือ” แต่ขณะเดียวกัน เมื่อห้างฯสร้างเสร็จ กลุ่มคนที่วิจารณ์หรืออ้างว่ารังเกียจห้างสรรพสินค้าก็ยากจะหลีกเลี่ยงการเข้าห้างฯ คนจำนวนมากหมดเวลาไปกับการ “เดินห้างฯ” ไม่มากก็น้อยเกือบทุกวัน ไม่ว่าจะด้วยฝืนใจจำยอมหรือชื่นชอบการเดินห้างฯอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเพียงเข้าไปนั่งเอ้อระเหยให้แอร์ซับเหงื่อ ซื้อของใช้ที่จำเป็น เสพความบันเทิงกับครอบครัว กินข้าวกับเพื่อนฝูง ทำธุรกรรมที่ธนาคาร หรือถลุงเงินกับสินค้าราคาแพงตามกระแสแฟชั่นก็ตามที

ที่ห้างสรรพสินค้าเกือบมีสถานะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนในเมืองอย่างกรุงเทพฯและกลายเป็นศูนย์รวมทุกอย่าง เหตุหนึ่งก็เพราะอากาศและสภาพแวดล้อมภายในห้างฯมักน่าพิสมัยกว่าภายนอก ทั้งในแง่อุณหภูมิ สุขอนามัย ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความเพลิดเพลินใจ ไม่แปลกที่ร่างกายของเราจะเรียกหาความเย็นฉ่ำจากเครื่องปรับอากาศมากกว่าความร้อนแผดเผาจากดวงอาทิตย์ หลงใหลกลิ่นหอมจากผลิตภัณฑ์สังเคราะห์มากกว่ากลิ่นเหม็นจากน้ำเน่า ไอเสีย และฝุ่นควัน สบายใจกับการเดินทอดน่องผ่านร้านแบรนด์เนมซ้ำซากมากกว่าการกระโดดข้ามท่อไร้ฝาปิด หลบสายไฟที่ห้อยโตงเตงจากเสา เลี่ยงรถเฉี่ยวหรือมอเตอร์ไซค์พุ่งชน ในแง่นี้ ไม่ว่าจะมองอย่างไร ภาพโดยรวมของการใช้เวลาในห้างสรรพสินค้าก็ยัง “รื่นรมย์” กว่า แม้ว่าในอีกด้านหนึ่งมันจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ห่างเหิน “ธรรมชาติ” เป็นกับดักของบริโภคนิยม และไม่ต้องสงสัยว่าการมุ่งสร้างแต่ห้างฯไม่ใช่หนทางสู่การพัฒนา “คุณภาพชีวิต” ของคนในเมืองนั้นให้ดีขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองอย่างกรุงเทพฯตกอยู่ในสภาพเช่นนี้คือแต่ไหนแต่ไรอำนาจปกครองไม่เคยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่เท่ากับความมั่นคงอย่างต่อเนื่องทั้งทางฐานะและสถานะของชนชั้นสูง (รวมทั้งชนชั้นพิสดารที่ได้รับการเปิดทางให้มีอิทธิพลมืด) หรือพูดง่ายๆว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองที่ไม่ได้ถูกออกแบบด้วยการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและคุณภาพชีวิตของสามัญชนเป็นตัวตั้ง ความนิยมอย่างไร้ทางเลือกของการเดินห้างฯเป็นตัวอย่างและหลักฐานชัดเจนของระบบที่หากินกับความเหลื่อมล้ำเพื่อรักษาความเหลื่อมล้ำนั้นไว้ กลไกของทุนนิยม (ซึ่งอยู่ในมือของชนชั้นสูง) ที่มาพร้อมกับห้างสรรพสินค้า นำเสนอมิติของการ “สร้างอาชีพ” และ “กระจายโอกาส” ให้ผู้คน แต่ทั้งอาชีพและโอกาสที่คนเหล่านั้นได้รับก็จะย้อนกลับไปเป็นผลประโยชน์ของผู้มอบอาชีพและโอกาสให้พวกเขาอีกครั้ง นั่นคือความเป็นจริงของกลไกเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

นักผังเมือง (city planner) ชาวอเมริกัน เจฟฟ์ สเป็ก (Jeff Speck) เสนอว่าคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้เมืองยุคนี้น่าอยู่คือความเอื้อต่อการ “เดินได้” (walkability) ของเมือง ความเอื้อต่อการเดินเป็นทั้งคุณสมบัติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพของผู้คน วิกฤติโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่วิกฤติด้านสุขภาพ (โดยเฉพาะโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคอื่นๆที่เกิดจากการขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ) ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาสำหรับสังคม “พัฒนาแล้ว” ซึ่งผู้คนใช้เวลาส่วนมากในชีวิตไปกับการนั่งๆนอนๆและนั่งๆกินๆ เมืองที่เอื้อต่อการเดินคือเมืองที่ลดการพึ่งพารถยนต์ (ซึ่งเป็นทั้งตัวการใหญ่ในวิกฤติโลกร้อนและเป็นทั้งสาเหตุการตายอันดับต้นๆของประชากรโลกในแต่ละปี) และเพิ่มการเคลื่อนไหวให้ร่างกาย สเป็กบอกว่าวิกฤติใหญ่ระดับโลกทั้งสองเรื่องมีที่มาจากความล้มเหลวในการออกแบบเมือง ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (“ถ้าคุณรักธรรมชาติก็ควรอยู่ให้ห่างๆธรรมชาติ แล้วย้ายเข้าเมืองซะ”) เขาเสนอว่าการออกแบบเมืองที่เอื้อต่อการเดินจะเป็นหนทางบรรเทาวิกฤติทั้งหลายได้อย่างตรงจุด

ประเด็นของสเป็กเน้นการวิพากษ์สถานการณ์ในอเมริกาเป็นหลัก แต่วิกฤติสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องระดับสากล และเมืองอย่างกรุงเทพฯก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธคือกรุงเทพฯไม่ใช่เมืองที่เอื้อต่อการเดินแม้แต่น้อย นับวันปริมาณรถยนต์จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สภาพถนนหนทางและมาตรการรักษาความปลอดภัยที่แย่มาแต่ไหนแต่ไรก็ไม่ได้รับการปรับปรุงดูแลอย่างมีคุณภาพตามไปด้วย ความสบายกายเจริญใจสำหรับชีวิตคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่จึงเป็นการหลีกหนีโลกภายนอก หลบความร้อนและควันพิษ ขังตัวเองอยู่ในความสบายของกรงติดแอร์ จากบ้านสู่รถ จากรถสู่ตึก ทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของผู้คน แต่เป็นไปเพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า คนไม่ได้รังเกียจการเดินโดยธรรมชาติ แต่คนขยาดความโหดร้ายของอากาศและอันตรายจากโครงสร้างเละเทะสะเปะสะปะ

การออกแบบเมืองก็เหมือนเรื่องอื่นๆที่ไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ในหลายจุด ด้วยเหตุผลชวนหดหู่เช่นนี้เองที่ทำให้การมีห้างสรรพสินค้าเรียกได้ว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเมืองอย่างกรุงเทพฯ แม้อาจเป็นความย้อนแย้งและเป็นคุณสมบัติที่สุดท้ายแล้วไม่อาจเรียกว่า “ดี” ได้เต็มปากก็ตาม แต่อย่างน้อยการมีห้างฯก็เพิ่มพื้นที่ให้กับการเดินในเมืองที่เดินไม่ได้ และเป็นพื้นที่สำหรับเดินที่ปลอดภัยมากทีเดียวเมื่อเทียบกับการเดินบนท้องถนน คนมีห้างฯอยู่ใกล้บ้านก็มีแนวโน้มจะใช้รถน้อยลง หรือใช้รถในระยะทางสั้นลง ส่งผลด้านบวกทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม

โดยอุดมคติ เมืองที่ดีไม่ควรเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า และการเดินที่ดีก็ไม่ควรเป็นการเดินตากแอร์ในห้างฯ แต่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ บ่อยครั้งผู้คนไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการเดินเข้ากรงที่กว้างขวาง เย็นสบาย และเป็นภัยต่อตัวเองน้อยกว่ากรงอื่นเท่านั้นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 24

  • Poon
    คนยุคนี้น่าสงสารมาก วันหยุดไปเที่ยวคือการเข้าห้าง แทนที่จะไปเที่ยวหาธรรมชาติ เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ
    03 ส.ค. 2561 เวลา 15.59 น.
  • PunnavitW 159
    ห้างไม่ใช้ปัญหาเปล่า ปัญหาคือการไม่มีการว่างผังเมือง เอาตอนนี้แค่ทำให้ถนนเรียบยังทำไม่ได้เลย
    02 ส.ค. 2561 เวลา 14.44 น.
  • ทางเดิน(ทางเท้า) ก็เป็นทางขายของ ทางด่วนของรถจักรยานยนต์ ทางจอดรถ...
    05 ส.ค. 2561 เวลา 10.08 น.
  • @...
    อย่างน้อยก็สามารถทำให้ได้รู้ว่าห้างก็คืออีกทางเลือกหนึ่งเพื่อในความสดวก.
    02 ส.ค. 2561 เวลา 13.08 น.
  • amnaj
    เมืองต้นแบบของไทย...เมืองใหญ่ๆเลยเลียนแบบตาม..และหาเมืองที่มีคุณภาพความปลอดภัยไม่มีเลย
    02 ส.ค. 2561 เวลา 12.01 น.
ดูทั้งหมด