โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ประภาคารสงคราม - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 15 พ.ย. 2563 เวลา 18.10 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจในเยอรมนี หนึ่งในภารกิจแรกของเขาคือกำจัดชาวยิวให้สิ้นซาก สร้างกระแสความเกลียดชังคนยิว ร้านค้าชาวยิวถูกทำลาย จนท้ายที่สุดก็จับชาวยิวไปเข้าค่ายกักกัน ยิวจำนวนหกล้านคนไม่ได้กลับออกมา

ในปี 1939 ชาวยิวคนหนึ่งชื่อ กุนเทอร์ โปวิตเซอร์ ถูกนาซีจับเข้าค่ายกักกัน ข้อหามีความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ไม่ใช่ยิวจนตั้งครรภ์

คืนหนึ่งเมื่อกลับที่พัก โปวิตเซอร์พบว่าห้องพักของเขาว่างเปล่า ใครคนหนึ่งบอกว่า “วันนี้พวกนาซีลองปืนกลแบบใหม่”

โปวิตเซอร์เชื่อแน่ว่าตนเองคงไม่มีชีวิตรอดจากค่ายกักกัน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาถูกเรียกตัวไปที่สำนักงานของเอสเอสในค่าย

ที่นั่นเขาเห็นชายร่างเล็กคนหนึ่ง ร่างท้วม สวมแว่น พูดภาษาอังกฤษกับเขา “ผมชื่อโฟลีย์ ผมมาจากสถานกงสุลอังกฤษในเบอร์ลิน”

ชายชื่อโฟลีย์อธิบายกับผู้คุมนาซีว่า นักโทษคนนี้ได้รับวีซาของอังกฤษแล้ว แต่เอกสารยังเดินทางไปไม่ถึงมือ ก็ถูกจับมาขังที่ค่ายกักกันก่อน

กินเวลาไม่นาน โปวิตเซอร์ก็ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ ได้เดินทางออกจากเยอรมนีไปปาเลสไตน์ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้พาทารกของเขาไปด้วย

ชายชื่อโฟลีย์ไม่ได้ช่วยเขาเพียงคนเดียว ยังช่วยเหลือคนยิวอีกมากมายออกจากค่ายกักกัน

ใครคือชายชื่อโฟลีย์ ?

ชายผู้นี้คือ พ.ต. แฟรงก์ โฟลีย์ (Frank Foley) สายลับอังกฤษในเยอรมนี

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

หากเราจินตนาการสายลับสักคนหนึ่ง เราคงนึกถึงคนที่คล่องแคล่วปราดเปรียว ยิงปืนแม่น เชี่ยวชาญวิชาการต่อสู้หาตัวจับยาก

นั่นคือ เจมส์ บอนด์ ในโลกนิยาย ! แต่ในโลกความจริง สายลับอาจไม่ใช่เช่นนั้นโดยสิ้นเชิง

พ.ต. แฟรงก์ โฟลีย์ เป็นสายลับดังกล่าว

เขาเป็นชาวอังกฤษสูงแค่ห้าฟุตกว่า ร่างเล็ก ค่อนข้างท้วม สวมแว่นกลม วัน ๆ นั่งง่วนกับงานเอกสารที่แผนกหนังสือเดินทางของสถานกงสุลอังกฤษประจำกรุงเบอร์ลิน ท่าทางหงอ ๆ ของเขาไม่เหมือนสายลับ ห่างไกลจากบุคลิก เจมส์ บอนด์ มาก

แต่ความกล้าหาญมิได้วัดที่รูปร่างหน้าตา

มันวัดกันที่ขนาดของหัวใจ

แฟรงก์ โฟลีย์ เกิดปี 1884 ที่ซอเมอร์เซ็ท ครอบครัวคนชั้นกลาง พ่อเป็นคนงานทางรถไฟ 

เขาไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะทำงานด้านสายลับ เนื่องจากตอนหนุ่มเขาคิดจะเป็นบาทหลวง แม่เคร่งศาสนามาก ส่งเขาในวัยสิบสี่ไปเรียนกับคณะเยซูอิต แต่ต่อมาเขาก็เปลี่ยนใจไปเรียนสายวิชาทหาร จบที่แซนด์เฮิร์สท์ รับยศร้อยตรี ประจำการที่ Hertfordshire Regiment ในปี 1917

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขากำลังเรียนสายปรัชญาอยู่ที่ฮัมบูร์ก เยอรมนี จึงตัดสินใจเดินทางหนีกลับบ้าน โดยสวมเครื่องแบบทหารเยอรมัน แล้วไปร่วมรบที่แนวหน้า

ณ สมรภูมิตะวันตก เขาแสดงความกล้าหาญให้ทุกคนเห็น ได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ปอด แล้วถูกส่งตัวกลับแนวหลังในปี 1918

ความกล้าหาญของเขาเข้าตาคนในหน่วยสืบราชการลับ บวกกับการที่เขาเดินทางมาก รู้จักยุโรปดี พูดภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันได้คล่องแคล่ว ทำให้เบื้องบนชวนเขาไปทำงานที่กรุงเบอร์ลิน

เขากับภรรยา เคย์ เดินทางไปเยอรมนีด้วยกัน เขาทำงานหน้าฉากเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมหนังสือเดินทาง แต่งานจริงของเขาคือสายลับ เฝ้าดูเยอรมนีรวมทั้งพวกคอมมิวนิสต์

แฟรงก์ โฟลีย์ เขาทำงานดีจน เซอร์ อเล็กซ์ ยังเกอร์ หัวหน้าองค์กร MI6 บอกว่าเขาเป็นสายลับชั้นหนึ่ง

หลังจากมีข้อตกลงยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 1918 แฟรงก์ไปทำงานที่เมืองโคโลญ เยอรมนี

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจในปี 1933 กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และเตรียมก่อสงคราม ช่วงเวลานั้น แฟรงก์ โฟลีย์ มีหน้าที่จัดหาสายลับใหม่ ๆ ในฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ส และสืบความลับเกี่ยวกับการวิจัยและการพัฒนาของกองทัพเยอรมนี

วันหนึ่งโฟลีย์กับภรรยาขับรถไปหาจุดปิกนิก แต่พบว่าตลอดทางติดป้ายห้ามจอด เขาจึงรู้ว่านาซีกำลังจะสร้างบางอย่างที่นั่น ก็คือค่ายกักกันนักโทษแห่งแรกที่ดาเคา และในเดือนต่อมาเขาก็รายงานเบื้องบนอีกว่า นาซีสร้างเพิ่มอีกสองแห่ง

ในเวลาเดียวกัน เขาแลเห็นกระแสนาซีชังยิวที่แพร่ไปทั่ว ชาวยิวตกเป็นผู้ถูกกระทำ ร้านค้าชาวยิวถูกทำลาย ยิวจำนวนมากต้องการหนีออกจากเยอรมนี 

แฟรงก์ โฟลีย์ รู้ว่าไม่ช้าก็เร็ว ยิวจำนวนมากจะหนีไม่พ้นชะตากรรมเลวร้าย เพราะฮิตเลอร์เกลียดพวกยิวเข้ากระดูกดำ ต้องการกำจัดยิวให้สิ้นไปจากแผ่นดิน

คนยิวจำนวนมากมาขอวีซาจากสถานทูตอังกฤษ และแน่นอนเอกสารหลั่งไหลมาที่โต๊ะทำงานของเขา จำนวนมากมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน

เขารู้ว่าคนยิวออกจากประเทศยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เขาก็รู้ว่าหากไม่ยื่นมือเข้าช่วย คนเหล่านี้จะไม่รอด

เขาตัดสินใจช่วยออกวีซาทั้งจริงและปลอมให้พวกยิวใช้หนีออกจากประเทศ ตราประทับของอังกฤษจะช่วยให้ยิวเหล่านั้นหนีไปประเทศอังกฤษหรือที่อื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น

ยิวรายแรกที่เขาช่วยให้รอดเป็นแม่คนหนึ่งที่กำลังจะถูกส่งเข้าค่ายกักกัน เขาเข้าแทรกแซงด้วยเอกสารของทางการอังกฤษ หญิงคนนี้จึงรอดไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นอกประเทศ

ตามกฎของสถานทูต การขอวีซาไปปาเลสไตน์ต้องใช้เงินหนึ่งพันปอนด์ ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มาก ชาวยิวส่วนมากบัญชีธนาคารถูกนาซีแช่แข็ง

เขาจึงเปลี่ยนกฎเอาเองว่า ชาวยิวสามารถจ่ายค่ามัดจำแค่สิบปอนด์ และจ่ายที่เหลือ 990 ปอนด์เมื่อเดินทางไปถึงเมืองไฮฟาในอิสราเอล

ชาวยิวบางคนบอกว่าเขาไม่มีเงินเลยสักปอนด์เดียว โฟลีย์ก็แอบกระซิบว่า “คุณก็หาใครสักคนเขียนจดหมายว่าสัญญาจะจ่ายเงินหนึ่งพันปอนด์นี้ให้คุณ”

แล้วเขาก็จะยอมรับจดหมายเก๊นั้น !

ไม่ทุกคนในประเทศอังกฤษยินดีที่จะช่วยยิว ส.ส. คนหนึ่งแถลงในสภาในปี 1933 ว่า “เราพร้อมรับชาวต่างชาติจากทุกที่เข้ามาในประเทศนี้หรือ ในเมื่อเรามีคนว่างงานถึงสามล้านคน ?”

รัฐบาลไม่อยากได้ยิวเพิ่มไปจากที่มีอยู่

ทว่าโฟลีย์ทำการสวนทางกับนโยบายเบื้องบน การช่วยชีวิตคนสำคัญกว่า เขาเสี่ยงต่อทั้งการสูญเสียหน้าที่การงานของตนเอง และอันตรายจากพวกนาซี นาซีไร้ความปรานีต่อสายลับศัตรู

แต่เขาก็ตัดสินใจทำสิ่งที่เขาเห็นว่าถูกต้อง 

เขาซ่อนเอกสารหลายอย่างในอพาร์ตเมนต์ของเขาเองที่เบอร์ลิน หลายค่ำคืนมีเสียงเคาะประตูตอนตีสองตีสาม เมื่อยิวมาขอความช่วยเหลือ

สถานการณ์ในครอบครัวของเขาก็ย่ำแย่ลง เพราะความเครียดสะสม เขากำลังทำการใหญ่เกินตัว เขาอาจทำให้ครอบครัวตายได้

ครั้นถึงปี 1939 คิวขอวีซาอังกฤษยาวขึ้นกว่าเดิมมาก ประมาณ 250-300 คิวต่อวัน พวกยิวมาหาเขาจากทุกที่ ทั้งในเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี

อาจเป็นนิสัยพลิกแพลงที่เกิดจากการเป็นสายลับ เขาไม่ทำตามกฎระเบียบอย่างตรงไปตรงมา เขาประทับตราวีซาบนหนังสือเดินทางปลอมให้พวกยิวที่กำลังหนีตาย

เมื่อยิวถูกจับไปที่สำนักงานเกสตาโป เขาก็เข้าไปชี้แจงว่าคนผู้นี้ได้รับวีซาอังกฤษแล้ว

บางครั้งเขาก็ทำงานเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต เข้าไปในค่ายกักกันยิว ช่วยนักโทษยิวออกมา ดังกรณีของชาวยิวชื่อ กุนเทอร์ โปวิตเซอร์ บางครั้งก็ซ่อนตัวนักโทษในบ้านของเขาเอง แล้วทำหนังสือเดินทางปลอมให้

ประเมินว่าเขาน่าจะช่วยยิวหนีออกมาได้นับหมื่นคนจากการถูกสังหารหมู่

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ก่อนนาซีบุกโปแลนด์ในเดือนสิงหาคม 1939 ไม่นาน แฟรงก์ โฟลีย์ ก็ต้องออกจากเยอรมนี แต่เขาก็ยังช่วยยิวจนนาทีสุดท้ายของวันนั้น

ชาวยิวกลุ่มสุดท้ายที่เขาช่วยก่อนออกจากเยอรมนีมีจำนวนสามร้อยคน สี่วันหลังจากนั้น ฮิตเลอร์ก็บุกโปแลนด์ สงครามโลกครั้งที่สองอุบัติอย่างเป็นทางการ

แฟรงก์ โฟลีย์ ไปทำงานต้านนาซีต่อที่ประเทศนอร์เวย์ หน้าฉากเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมหนังสือเดินทาง เขาทำงานกับผู้ช่วยชื่อ มาร์กาเร็ต รีด มีบทบาทเชื่อมผู้บัญชาการทหารนอร์เวย์กับอังกฤษ นอร์เวย์ต้องการความช่วยเหลือในการต่อต้านทัพนาซี โดยใช้วิทยุสื่อสารของเขาเอง

มาร์กาเร็ตเป็นนักถอดรหัสชั้นเยี่ยม ส่งสารซ่อนในรหัสไปอังกฤษ ตลอดเวลานั้นเขาเป็นตัวแทนอังกฤษที่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลนอร์เวย์

วันที่ 9 เมษายน 1940 นาซีรุกเข้านอร์เวย์ โฟลีย์กับ มาร์กาเร็ต รีด ก็หนีออกจากออสโล เดินทางไปที่เมืองอื่นของนอร์เวย์ ก่อนหนีออกจากออสโล ทั้งสองเผาเอกสารทั้งหมด

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

แฟรงก์ โฟลีย์ เกษียณจากหน่วยสืบราชการลับในปี 1949 อาศัยอยู่กับภรรยาและบุตรสาว เป็นพลเมืองธรรมดาที่ใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ

น้อยคนรู้เรื่องวีรกรรมของเขา ‘งานนอกหน้าที่’ ของ แฟรงก์ โฟลีย์ ทำให้หน่วยสืบราชการลับ MI6 ไม่อาจประกาศยกย่องเขาอย่างเป็นทางการ 

แม้ไม่มีคนรู้ว่าเขาทำวีรกรรมอะไร แต่ชาวยิวที่เขาช่วยชีวิตไม่เคยลืม เขาได้รับจดหมายจากคนเหล่านั้น ทุกคริสต์มาสเขาได้รับของขวัญจากต่างแดน บางครั้งเป็นไก่งวงกระป๋อง 

ในบั้นปลายชีวิต แฟรงก์ โฟลีย์ บอกคนใกล้ตัวว่า เขากลัวว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม

เขาบอกว่า “ผมเป็นพวกต่อต้านสงคราม (Pacifist) นอกเสียจากว่าพวกทรราชพยายามจะปล้นประชาชนจากเสรีภาพทางจิตใจและทางกาย”

“ผมเกลียดสงคราม และความทุกข์ทั้งหลายที่สงครามก่อขึ้นกับคนอ่อนแลและบริสุทธิ์”

แฟรงก์ โฟลีย์ ตายเมื่ออายุเจ็ดสิบสาม ในเดือนพฤษภาคม 1958 มันเป็นเพียงข่าวเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครสนใจ งานศพเล็ก ๆ ที่มีคนน้อยคนไปร่วม

จนกระทั่งหลายสิบกว่าปีให้หลัง สาธารณชนจึงเพิ่งรู้ขอบข่ายงานที่เขากระทำในช่วงสงคราม

หกสิบปีหลังจากเขาตาย โฟลีย์เพิ่งได้รับการประกาศเป็นทางการจากหน่วยสืบราชการลับอังกฤษ MI6 ข้อความท่อนหนึ่งว่า “เขาต่อต้านความชั่วร้าย เขารู้ผลร้ายแรงที่ตามมาหากเขาถูกจับ เขาช่วยชีวิตชาวยิวยุโรปหลายพันคน และทำให้แน่ใจว่าพวกนั้นเดินทางพ้นเงื้อมมือของนักฆ่าของฮิตเลอร์”

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2004 วันครบรอบ 120 ปีวันเกิดของเขา สถานทูตอังกฤษในเบอร์ลินติดป้ายยกย่องเขา ในวันนั้นผู้หญิงหนึ่งในผู้รอดชีวิตเพราะเขาในวัย 91 บอกว่า “ชื่อของเขาถูกจารึกในหัวใจของฉัน ฉันเป็นหนี้ชีวิตของฉันต่อผู้ชายคนที่ฉันไม่เคยพบคนนี้ คนแห่งมนุษยธรรมในห้วงเวลาที่ปราศจากมนุษยธรรม”

แฟรงก์ โฟลีย์ ไม่ได้เดินเข้าสู่สายศาสนา ไม่ได้เป็นบาทหลวงอย่างที่เคยคิด แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ต่างจากบาทหลวง อาจถึงขั้นนักบุญด้วย

ชาวยิวจำนวนมากที่เขาช่วยชีวิตบอกว่า :

“โฟลีย์เป็นคนที่ซ่อนแสงสว่างภายใน”

“ตลอดเวลาเขาช่วยคนออกจากเยอรมนี และมันไม่ใช่งานง่าย เขาเป็นคนยิ่งใหญ่”

“ถ้าไม่ใช่เพราะโฟลีย์ ฉันและครอบครัวก็คงเป็นแค่ตัวเลขสถิติของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

“เขาเป็นคนที่ในความเห็นของฉัน เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ของชาติต่าง ๆ ในโลก”

“เขาเป็นคนที่ยืนสูงกว่าคนอื่น เหมือนประภาคาร”

ครอบครัวยิวครอบครัวหนึ่งรอดไปที่ปาเลสไตน์ ผู้เป็นแม่บอกลูกชายอายุเจ็ดขวบว่า ให้ใช้โฟลีย์เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต

เพราะการช่วยชีวิตคนก็คือประภาคารแห่งแสงสว่างที่ไม่มีวันดับ

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

หมายเหตุ แฟรงก์ โฟลีย์ ได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษอังกฤษ และได้รับตำแหน่ง Righteous Among the Nations จากอิสราเอล

ผู้คนเรียกเขาว่า ‘British Schindler’

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 9

  • KDS
    เป็นบทความที่ดีและทรงคุณค่ามากๆครับ คนดีๆมีอยู่ในโลกใบนี้จริงๆ ทำงานโดยไม่คำนึงถึงชีวิตตัวเอง สุดยอดมากๆครับ👍
    16 พ.ย. 2563 เวลา 11.51 น.
  • ช่วยคน ได้บุญยิ่งกว่าสร้างเจดีย์ 7 วัด 😘😘😘😘
    16 พ.ย. 2563 เวลา 11.35 น.
  • Demon
    เมตตาธรรมค้ำจุนโลก..ผลของการทำความดีงดงามเสมอ
    15 พ.ย. 2563 เวลา 23.00 น.
  • ช.พิพัฒน์
    ขอบคุณกับบทความดีๆครับ
    16 พ.ย. 2563 เวลา 11.40 น.
  • waraporn👉林玉莲
    👍👍👍❤️❤️❤️
    16 พ.ย. 2563 เวลา 09.47 น.
ดูทั้งหมด