โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เวรีฟาย - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 04 ต.ค. 2563 เวลา 17.13 น. • วินทร์ เลียววาริณ

ไม่กี่ปีก่อน สำนักข่าวหลายแห่งในโลกเสนอข่าวนักโบราณคดีค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณยักษ์ในหลายมุมโลก มันเป็นโครงกระดูกมนุษย์ที่ใหญ่มาก กะโหลกใหญ่กว่าศีรษะมนุษย์นับสิบเท่า กระดูกแขนขาแต่ละท่อนยาวเป็นเมตร

มันย่อมเป็นข่าวที่น่าตื่นตะลึง สมควรเผยแพร่ และในเมื่อเป็นข่าวจากสำนักข่าว ยิ่งน่าเชื่อถือ 

หลายคนก็เชื่อ และเช่นเคย แชร์ต่อทันที

มันเป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จ ?

แน่นอนมันเป็นข่าวเท็จ

เรื่องนี้ถือกำเนิดมาจากใครคนหนึ่งใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างภาพแปลก ๆ เพื่อส่งประกวด แต่มีคนนำไปใช้เป็นข่าวปลอม ทันใดนั้นก็มีคนเลียนแบบ ทำภาพแบบนี้อีกมากมายทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ก็มีโครงกระดูกยักษ์อีกเวอร์ชั่นหนึ่งเป็นโครงกระดูกยักษ์จริง คำว่าจริงหมายถึงมีกระดูกใหญ่จริง จับต้องได้ แต่ไม่ใช่ของจริง ศิลปินไต้หวันกลุ่มหนึ่งสร้างงานประติมากรรมโครงกระดูกยักษ์ ด้วยวัสดุประเภทพลาสติก แล้วจัดฉากถ่ายรูป เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนองาน แต่มีคนนำภาพนี้ไปแต่งเรื่องใหม่ว่า มันเป็นการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์หรือยักษ์โบราณ และปรากฏเป็นข่าวโทรทัศน์

ข่าวปลอมแบบ ‘แหกตาทื่อ ๆ’ อย่างนี้ไม่ใช่ของใหม่ในบ้านเรา มีเรื่องเล่าว่าหลายสิบปีก่อน หนังสือพิมพ์ไม่ค่อยมีข่าวเด่น ๆ ให้ตีพิมพ์ นักเขียนใหญ่ มนัส จรรยงค์ จึงเสนอข่าวปลอมเรื่องพระธุดงค์ที่อีสานถูกงูเหลือมกิน มันกลายเป็นข่าวที่ฮือฮามาก แน่นอน คนเชื่อ !

ปัจจุบันนี้ งูเหลือมกินพระธุดงค์คงไม่ใช่ข่าวน่าตื่นเต้นแล้ว เรามาถึงยุคที่ข่าวปลอมไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือ แต่มีภาพถ่าย และคลิป การปลอมรูปและวิดีโอทำได้เนียนขึ้นมาก และผู้ปลอมลงทุนมากขึ้น บางครั้งสร้างเป็นหนังที่สมจริง

เราคงไม่ถามว่าทำไมคนเหล่านี้ว่างงานมากขนาดลงทุนทำข่าวปลอม มันกลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งไปแล้ว ยิ่งหลอกคนได้มาก ยิ่งสนุก

ข่าวลวงที่ได้ผลที่สุดคือการเสนอความจริงครึ่งเดียว นำรูปหรือภาพเหตุการณ์จริงมาเล่าใหม่ หรือ ‘พากย์’ ใหม่ หรือตัดต่อใหม่ ทำให้น่าเชื่อมากขึ้น

ในยุคที่ข่าวปลอมท่วมโลกยิ่งกว่าน้ำท่วมโลกและไวรัสข้อมูลระบาดหนักทุกหย่อมหญ้า การตรวจสอบว่าข่าวหนึ่งข่าวใดจริงหรือเท็จนั้นทำได้ยากขึ้นทุกที

แต่ข่าวปลอมก็เหมือนอาหารที่มีเชื้อโรค เป็นหน้าที่ของคนกินที่ต้องดูแลตัวเอง ต่อให้พ่อครัวสะอาดเพียงไร คนกินก็ต้องตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่มันจะไม่สะอาด

สำนักข่าวระดับโลกจะมีแผนกตรวจสอบหรือ ‘Verify’ (เวรีฟาย) ข่าวทุกข่าวที่จะเสนอต้องตรวจสอบก่อนเสมอ ต้องรู้ชัดว่าเป็นเรื่องจริงไหม ต้นข่าวมาจากไหน ต่อให้มันเป็นเรื่องน่าเชื่อถือและสมจริงมากเพียงใด ก็ต้องรู้ต้นข่าว และยืนยันได้ว่ามันเป็นจริงก่อน

ยอมตกข่าวดีกว่าส่งข่าวปลอม

สำหรับข่าวทุกข่าว ข้อมูลทุกข้อมูลที่ได้รับ พึงคิดไว้ก่อนว่ามันอาจไม่จริง ไม่ว่าคนให้ข่าวหรือข้อมูลน่าเชื่อถือเพียงใด เราควรใช้หลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์ อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ จนกว่าจะพิสูจน์ ตั้งคำถามทุกเรื่อง

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ในการตรวจสอบคลิป สิ่งหนึ่งที่ผมมักดูเสมอคือมุมกล้อง ถ้ามุมกล้องตั้งใจเกินไป ก็อาจเป็นคลิปปลอม ยกตัวอย่างเช่น เกิดเหตุพิสดารในจุดที่เปลี่ยวร้างซึ่งไม่มีเหตุผลไปวางกล้องไว้ แต่กล้องกลับอยู่รอเหตุการณ์ตรงนั้นพอดี ก็มีโอกาสสูงที่มันเป็นการจัดฉาก

ครั้งหนึ่งมีคลิปพายุหมุนทอร์นาโดที่ดูน่ากลัว ถ่ายทำอย่างสวยงาม คำบรรยายบอกว่า นี่เป็นภาพถ่ายหายากที่ National Geographic ขอซื้อด้วยเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ ก็แชร์กันไป ทว่ามันเป็นคลิปที่จับผิดไม่ยากจากการดูแค่มุมกล้อง ภาพ ‘ประณีต’ เกินไป ! ทุกอย่างลงตัวพอดี คนที่ถ่ายคลิปนี้ต้องมีเครื่องมือทันสมัย อีกทั้งอยู่ถูกที่ถูกเวลา จับภาพสวยงามลงตัวหมดจดทุกอย่าง เช่น กล้องจับภาพรถยนต์ที่ถูกพายุพลัดปลิวอย่างพอดี ฯลฯ นอกจากนี้ผู้ถ่ายทำยังต้องเป็นคนดวงดีเพราะถ่ายคลิปพายุในระยะใกล้ชิดได้หลายช็อตยาวหลายนาทีโดยไม่ถูกพายุกลืน

โอกาสที่ใครคนหนึ่งถ่ายทำภาพโดยไม่เตรียมการไว้ล่วงหน้าได้อย่างประณีตขนาดนี้ ย่อมเป็นไปได้ยาก

แน่นอนไม่มีใครโชคดีฝีมือดีขนาดนั้น มันก็คือท่อนหนึ่งของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Into the Storm (2014) ที่สร้างพายุด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก

อีกคลิปหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นคลิปวิดีโอมหาสมุทร ผืนน้ำแบ่งออกเป็นสองสี สีอ่อนกับสีทะเลปกติ คำบรรยายบอกว่านี่เป็นรอยต่อของมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่น้ำของสองมหาสมุทรไม่ปนเปกัน มันแบ่งเป็นเส้น คล้ายเส้นพรมแดนของแผ่นดิน

นี่ย่อมเป็นภาพน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่หากศึกษาประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราก็คงรู้ว่าเส้นพรมแดนทั้งหลายเป็นเส้นสมมุติ โลกนี้มีเพียงมหาสมุทรเดียว น้ำที่คลุมโลกทั้งใบเป็นน้ำเดียวกัน มนุษย์ในยุคหนึ่งตั้งชื่อแยกเป็นมหาสมุทรต่าง ๆ เพื่อความสะดวก แปซิฟิก แอตแลนติก อินเดีย อาร์กติก แอนตาร์กติก เหล่านี้เป็นชื่อสมมุติขึ้นมา ดังนั้นโดยหลักการ มันจะมีรอยต่อของมหาสมุทรต่าง ๆ ไม่ได้

เมื่อเวรีฟายหาข้อมูลเพิ่ม ก็จะรู้ต้นกำเนิดของคลิป มันเป็นภาพถ่ายจุดที่แม่น้ำเฟรเซอร์ใน บริติช โคลัมเบีย แคนาดาไหลลงมหาสมุทรแปซิฟิก มันเป็นภาพจริง คำบรรยายปลอม

อีกคลิปหนึ่งที่น่าตื่นตาคือวิดีโอหญิงสาว ‘แอนดรอยด์’ คนหนึ่งสวมกอดคน คลิปชี้ว่าเราสร้างมนุษย์เทียมสำเร็จแล้ว สรีระของเธอเหมือนคนจริงทุกประการ แต่กิริยาท่าทางของเธอแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์ ทำให้น่าสงสัยทันที เพราะแอนดรอยด์ไม่ใช่หุ่นยนต์เหล็ก แอนดรอยด์มีโครงสร้างมีกล้ามเนื้อเหมือนคนจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยหลักการจึงควรเคลื่อนขยับตัวเหมือนคนจริง ไม่ใช่ขยับตัวแบบติด ๆ ขัด ๆ เหมือนภายในตัวเป็นเครื่องจักรรุ่นเก่า

หากตรวจสอบต่อในด้านวิชาการ ก็จะพบว่าวิทยาการสร้างแอนดรอยด์ระดับนี้ยังไม่เกิดขึ้นบนโลก หุ่นยนต์ดีที่สุดในโลกตอนนี้ยังห่างไกลจาก ‘แอนดรอยด์’ ในคลิป ดังนั้นก็สามารถอนุมานได้ว่า หญิงสาวคือนักแสดงที่แสดงบทแอนดรอยด์ และต้นฉบับอาจไม่ใช่คลิปปลอม ทว่าคนส่งข่าวจัดการแปลงเรื่อง

บางครั้งข่าวที่แชร์กันในโลกออนไลน์ก็ตรวจได้ยากมาก ในเดือนสิงหาคม 2563 ช่วงที่ข่าวอัยการไม่ฟ้องคดีทายาทอภิมหาเศรษฐีขับรถชนตำรวจคนหนึ่งเสียชีวิต หลายคนรวมทั้งสำนักข่าวแชร์เรื่องศาลจีนลงโทษประหารชีวิตชายคนหนึ่งที่เมาแล้วขับรถชนคนตาย

รถยนต์ที่เขาขับคือแลมโบร์กินีสีแดง ข่าวที่แชร์ดูเป็นทางการ มีรูปประกอบชัดเจน ดูเผิน ๆ เป็นข่าวจริงแน่นอน

ทว่าเมื่อตรวจสอบ พบว่าไม่มีสำนักข่าวใดในโลกที่ลงข่าวนี้ แม้แต่ในประเทศจีน มีแต่ในประเทศไทย การเวรีฟายทำได้ยากมาก เพราะไม่มีแหล่งให้ตรวจสอบ จนกระทั่งเมื่อไปค้นรูปซากรถ แลมโบร์กินีสีแดง ก็พบว่ารูปรถดังกล่าวเป็นซากรถที่เกิดอุบัติเหตุรถเมล์ชนจนพังในเมืองจีนเมื่อหลายปีก่อนหน้าข่าวรถชนคนตาย

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ย่อมมีคำถามว่า เราซีเรียสเกินไปไหม มันก็แค่คลิปดูสนุก ๆ ไม่จริงก็ไม่เป็นไร ดูเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวไม่ได้หรือ

แน่นอน เราสามารถทำอย่างนั้นได้ แต่ไม่ทุกข่าวหรือข้อมูลเป็นเรื่องบันเทิง หลายเรื่องเป็นวิชาการด้านสุขภาพ สมุนไพรชนิดนี้รักษาโรคนี้ สมุนไพรชนิดนั้นรักษาโรคนั้น เราจะเสี่ยงกิน ‘ยาเน็ตบอก’ เลยโดยไม่เวรีฟายหรือ ?

เมื่อเราแชร์ข่าวปลอมและเชื่อข่าวปลอมง่าย ๆ มันฝึกให้เราเป็นมนุษย์ที่เชื่อง่าย ปั่นหัวง่าย ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นอย่างนี้ ท้ายที่สุดเราก็ได้สังคมที่มิได้หล่อเลี้ยงด้วยความรู้ แต่ด้วยความเชื่อล้วน ๆ มันเป็นสังคมที่ยากจะก้าวหน้า นี่ย่อมไม่ใช่สังคมที่เราอยากให้ลูกหลานของเราอยู่ 

เราทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า ‘หน้าที่พลเมือง’ เราไม่ทิ้งขยะบนถนนหนทาง เพราะขยะทำให้คนอื่นเดือดร้อน

ข่าวปลอมก็คือขยะชนิดหนึ่ง

ดังนั้นหากไม่แน่ใจหรือไม่รู้ว่า ข่าวที่ได้รับมาจริงหรือไม่ ก็ควรให้จบที่ตัวเราแค่นั้น จะดูเพื่อความบันเทิงก็ดูได้ แต่ให้จบที่เรา

อะไรที่ไม่รู้จริง อย่าแชร์

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 7

  • .Mala '
    ขอบคุณมากค่ะ
    05 ต.ค. 2563 เวลา 13.11 น.
  • Parkin
    ครับเราต้องเวริฟายหาข้อมูลก่อนเชื่อ แต่ถ้าเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง​จะกลายเป็น Veryฟายให้ข่าวแลอมๆพวกนี้จูงจมูกได้ง่ายๆ
    05 ต.ค. 2563 เวลา 12.52 น.
  • Pichai
    เดี๋ยวนี้มีคำศัพท์ใหม่ที่วงการโซเชียลใช้กัน FOMO: fear of missing out. โรคกลัวตกขบวน! เห็นอะไร เจออะไรต้องรีบบอกต่อ ส่งต่อ. ให้ทุกคนรู้ว่าข้าพเจ้ารู้ข่าวนี้ก่อนใคร!
    05 ต.ค. 2563 เวลา 11.11 น.
  • BThee
    ขยะเยอะมากจริงๆ คนบางคนก็ชอบที่สร้างเรื่องลวงโลกขึ้นมา บางคนก็พร้อมจะเชื่อในเรื่องที่เขาอยากให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว แก้ยาก คนพวกนี้จะผิดซ้ำๆ ไม่ค่อยเรียนรู้ แรกก็พยายามอธิบายให้เขาฟัง หลังๆรู้แล้วว่าพูดไปก็ไลฟ์บอย 555 คอนเวอร์สออลสตาร์ดีกว่า
    05 ต.ค. 2563 เวลา 10.41 น.
  • ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ในการคิดพิจารณาถึงในหลักของความเป็นจริงให้ดีแล้ว ก็ย่อมที่จะช่วยทำให้รู้ถึงในสิ่งที่ถูกต้องได้อยู่เสมอ.
    06 ต.ค. 2563 เวลา 09.35 น.
ดูทั้งหมด