โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จาก 'โรคห่า' ถึง 'โควิด-19' เมื่อการ 'สวดมนต์' ถูกนำมาปัดเป่าโรคระบาด

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 12 พ.ค. 2564 เวลา 17.30 น. • AJ.
ภาพโดย Arisa Chattasa / unsplash.com
ภาพโดย Arisa Chattasa / unsplash.com

การสวดมนต์ คือการสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และมนต์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน การสวดมนต์เป็นหน้าที่สำคัญที่พึงปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธกาล เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้มีสติตั้งมั่นกับบทสวด ก่อให้เกิดสมาธิ สติ และปัญญาเป็นสำคัญ

ในทางปฏิบัติ ศาสนาพุทธมีบทสวดเฉพาะเจาะจงสำหรับหลายสถานการณ์ ทั้งสวดแผ่เมตตา สวดมนต์รับปีใหม่ สวดมนต์ก่อนนอน สวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึง'สวดมนต์เพื่อปัดเป่าโรคระบาด' หรือ 'รัตนสูตร'

'รัตนสูตร' เป็นบทสวดสำคัญที่เชื่อว่าสามารถขจัดปัดเป่าภัยพิบัติโรคระบาดได้ ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้งในช่วงการแพร่ของโรคโควิด-19 ระยะที่ 3 นี้ 

บทสวด 'รัตนสูตร' รักษาอะไร?

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า ประกาศพระสูตร 'รัตนสูตร' หรือ 'ระตะนะสุตตัง' ขึ้นเพื่อสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย เกิดเป็นอานุภาพ ขจัดภัยความอดอยาก โรคระบาด และภัยจากอมนุษย์

บทสวดนี้พระอานนท์รับการถ่ายทอดมาจากพระพุทธเจ้า ใช้สวดขจัดเป่าปัดภัยพิบัติทั้งปวง เพื่อโปรดชาวกรุงเวสาลีให้รอดพ้นจากโรคอหิวาตกโรค ภยันตรายทั้งปวง รวมถึงความอดอยากอันเนื่องมาจากฝนแล้ง จนผู้คนล้มตายจำนวนมาก

เนื้อความของ 'รัตนสูตร' ประกอบไปด้วยการแนะนำให้เหล่าภูตได้อนุโมทนาบุญกุศลที่หมู่มนุษย์อุทิศให้ จากนั้นขอให้เกิดความเมตตาทำการรักษามนุษย์ทั้งหลาย ตามด้วยการอ้างคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะคุณของพระสงฆ์ ผู้ประกอบไปด้วยศีล ไม่มีกามกิเลส ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม และมีพระนิพพานอันเป็นอมตะ ส่วนท่อนสุดท้ายเป็นคำกล่าวของท้าวสักกะ ที่ผูกขึ้นเป็นคาถาพรรณนาคุณพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสัจวาจาให้เกิดความสวัสดี

ตามตำนาน เมื่อพระอานนท์สวดบท 'รัตนสูตร' และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ภัยพิบัติร้ายแรงก็ระงับลงได้ฉับพลัน

ซึ่งภายหลัง 'รัตนสูตร' กลายมาเป็นแบบอย่างในการทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับพระสงฆ์สาวกสืบมาจนปัจจุบัน โดยสวดขณะทำน้ำพระพุทธมนต์เพื่อขจัดภัยทั้ง 3 ประการ คือ ทุพภิกขภัย (ข้าวยากหมากแพง) อมนุสภัย (ภูตผีปีศาจ) และ โรคภัยให้อันตรธานหายไป

ภาพโดย Phakphoom Srinorajan / unsplash.com
ภาพโดย Phakphoom Srinorajan / unsplash.com

จาก 'รัตนสูตร' มาถึง 'พระราชพิธีอาพาธพินาศ'

นอกจากที่กรุงเวสาลี ประเทศไทยเคยใช้การสวดมนต์เยียวยาภัยพิบัติประเภทโรคภัยมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2363 ตอน 'อหิวาตกโรค' หรือ 'โรคห่า' ระบาดที่กรุงเทพฯ

สถานการณ์อหิวาตกโรคตอนนั้นร้ายแรงที่สุด เพราะไม่เคยมีครั้งใดที่ผู้คนล้มตายมากเท่าครั้งนั้น เมืองหลวงกลายเป็นเมืองร้าง ร่างคนตายก่ายกันเหมือนกองฟืน ศพสุมกันอยู่ที่วัดสระเกศจนกลายเป็นที่มาของคำว่า'แร้งวัดสระเกศ' มีศพลอยในแม่น้ำลำคลอง ร้านรวงไม่เปิด น้ำในแม่น้ำกินไม่ได้ ผู้คนต้องกินข้าวกับปลาแห้งแกล้มพริกเกลือเท่านั้น

รัชกาลที่ 2 จึงมีรับสั่งให้ประกอบ 'พระราชพิธีอาพาธพินาศ' มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน ตามด้วยพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุแห่รอบเมือง โดยมีคณะสงฆ์ร่วมขบวนสวดพระปริตรไปด้วย

รัชกาลที่ 2 ยังทรงถือศีล ซื้อชีวิตสัตว์ ปล่อยนักโทษ และห้ามราษฎรฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขณะนั้นปรากฏพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าพระราชพิธีอาพาธพินาศได้ผลดี เพราะราว 15 วันถัดมา อหิวาตกโรคจึงเริ่มซาลงไป

แต่ในรัชกาลที่ 5 กลับทรงเห็นว่าพิธีดังกล่าวไม่ได้ผล เพราะราษฎรและพระสงฆ์ที่เข้าร่วมขบวนแห่ต่างล้มขาดใจตาย บ้างก็กลับมาตายที่บ้าน เมื่อมีโรคระบาดอีก จึงสั่งยกเลิกการกระทำพระราชพิธีดังกล่าว โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระบาดครั้งนั้นทั้งหมดกว่า 30,000 คน

อย่าเข้าใจผิด สวดมนต์ไม่ได้ไล่ 'โควิด'

หลังจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกหนังสือให้ทุกวัดเจริญพุทธมนต์ 'รัตนสูตร' ก็มีเสียงตอบรับทั้ง 2 ด้าน ทั้งจากพุทธศาสนิกชนที่เห็นด้วย และฝั่งผู้เห็นต่าง ที่ตั้งคำถามว่าในสถานการณ์แบบนี้ เหตุใดรัฐฯ จึงอนุญาตให้มีการรวมกลุ่มสวดมนต์ แทนที่จะคิดหาหนทางแก้ไขและยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์

ประเด็นนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้เหตุผลของการจัดสวดมนต์ว่าเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ประชาชน และความเป็นสิริมงคลต่อประเทศ ให้ประชาชนมีขวัญกำลังใจ และมีสติในการใช้ชีวิตประจำวันให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดมากกว่า

ใครใคร่สวด สวด ใครใคร่ รักษาระยะห่าง ก็จงรักษาต่อไป เพราะนอกจากความเชื่อและจิตใจใฝ่ธรรมะแล้ว การใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่โรคระบาดช่างทวีความรุนแรงเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้สติและคำแนะนำจากแพทย์ไม่แพ้มนต์บทใดๆ เราจึงจะอยู่รอดปลอดภัยจากโรคร้ายทั้งปวง :)

ที่มา :

bangkokbiznews.com

prachachat.net

silpa-mag.com

thairath.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0