โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ด่ามา เชิดกลับ! 8 วิธีรับมือกับ 'คำด่า' อย่างมืออาชีพ

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 05 พ.ค. 2564 เวลา 17.45 น. • AJ.
Photo by Icons8 Team on Unsplash
Photo by Icons8 Team on Unsplash

เคยไหม? ต่อให้ตื่นเช้ามาสดชื่นแค่ไหน เปิด IG มาโดนคนคอมเมนต์แง่ลบหน่อย ก็ทำให้วันดีๆ กลายเป็นวันที่อึมครึมไปทันที

ไม่ว่าจะมั่นมาจากไหน คำวิจารณ์หรือคำด่าต่างก็มีผลกระทบกับหัวใจ และความเคารพตัวเอง (Self-Esteem) ทั้งนั้น แต่หากเรามีวิธีรับมือกับ 'คำด่า' อย่างมืออาชีพ เหล่าคำด่าก็อาจกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ช่วยผลักดันให้เราได้เป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่เท่ขึ้นได้หลายเท่า 

LINE TODAY รวบรวมกระบวนท่ารับมือกับคำด่าให้ทุกคนได้จำไปเลือกใช้ เผื่อต้องประสบกับสถานการณ์ 'ชาวเน็ตจวก' 'ทัวร์ลง' 'เจ้านายด่า' 'เพื่อนนินทา' จะได้ไม่ต้องอมทุกข์กลับไปคิดมากคนเดียวอีกต่อไป

พูดงี้ ก็สวยดิ!

เบื้องหลังบางคำวิจารณ์หรือคำด่า ก็มีเหตุผลเป็นความรักและความห่วงใยของผู้พูดอยู่ อาจฟังดูเชื่อยาก แต่ให้ลองนึกสถานการณ์ตอนคุณพ่อคุณแม่ดุด่า เพราะเราไม่ค่อยโทรหาท่าน หรือเวลาเรากลับบ้านดึก เหล่านี้คือการด่าที่เกิดจากความรู้สึกรักและผูกพัน

นอกจากนี้ก็มีหลายเหตุผล ทั้งด่าเพราะอคติ และความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งโดยมาก การด่ามักเกิดจากการที่อีกฝ่ายมองว่าสิ่งที่เราเป็นหรือทำ ไม่เทียบเท่ากับมาตรฐานที่เขากำหนดไว้ โดยเฉพาะเมื่อถูกวิจารณ์จากหัวหน้างานหรือผู้ใหญ่ที่เคารพ เช่น คุณครู หรือรุ่นพี่

อย่างไรก็ตาม การด่าหรือวิจารณ์แต่แง่ลบไม่ก่อให้เกิดผลดีใดๆ นอกจากจะทำลายล้างความสัมพันธ์ทั้ง 2 ฝ่าย ยังมีผลวิจัยมากมายบ่งบอกว่า การด่ากันในสถานที่ทำงานมีแต่ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานลดลงอีกด้วย

รับมือการโดนด่าอย่างไร ไม่ให้เสียสุขภาพจิต

1.ให้มันรู้! เจตนาคนด่า

หลายคนน่าจะไม่ชอบ และออกอาการหัวร้อนทันทีเมื่อเห็นคำวิจารณ์ในแง่ลบ แต่ในเมื่อมนุษย์ทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเราลองเปิดใจแล้วรับคำวิจารณ์เหล่านั้นอย่างถี่ถ้วนดู ว่าที่เขาพูด เพื่อให้เราปรับปรุง หรือแค่ให้ตัวเองสะใจ

ลองคิดว่าเรากำลังสร้างผลงานชิ้นหนึ่ง แล้วมีคนมาวิจารณ์ว่า ผลงานของเราแย่มาก โดยไม่บอกว่าแย่เพราะอะไร เพียงแต่ให้เหตุผลว่า "ก็ฉันว่าแย่อะ" นั่นแปลว่าเขาแค่กำลังด่าเอาสะใจ ดังนั้นเราไม่ควรต่อความสาวความยืด

แต่หากอีกฝ่ายวิจารณ์ด้วยเจตนาให้ผลงานของเราพัฒนา การวิจารณ์จะกลายเป็นการพุดคุย เพราะผู้พูดหวังให้เราปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น แม้ว่าการได้ยินว่าสิ่งที่เราทำนั้นแย่หรือไม่มีคุณภาพจะทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจอยู่บ้าง แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าผู้พูดมีเจตนาดีกับเรา

2.พักก่อน พักความหัวร้อนไว้ก่อน

แซแนกา นักปรัชญาชาวโรมัน (Seneca the Younger) เคยกล่าวเปรียบเทียบความโกรธว่าเป็น "ก้อนหินที่ตกลงมาแตกกระจายเมื่อชนพื้น" แม้คำด่านั้นช่างฟังดูใจร้าย แต่การตอบโต้การด่าด้วยความหัวร้อนจะยิ่งทำให้เราเสียใจในภายหลัง

แต่แทนที่จะก้มหัวรับฟังคำด่าเงียบๆ อยู่ฝ่ายเดียว เมื่อได้ยินคำด่าสุดเจ็บ ให้สูดหายใจลึกๆ และพยายามไม่ใช้อารมณ์ตอบโต้ จงเปลี่ยนคำด่าเหล่านั้นให้กลายเป็น "ก้อนหิน" ที่กำลังจะแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะแพ้ความใจเย็นและความเป็นเหตุเป็นผลของคุณแทน

3.หลีกเลี่ยงเหล่า "เครื่องด่า"

คนบางคนวิจารณ์ผู้อื่นจนติดเป็นนิสัย หากคุณรู้สึกว่าคนใกล้ตัว เพื่อน หรือคนรัก มักด่าผู้อื่นอย่างไร้เหตุผลอยู่บ่อยๆ ให้ลองถอยหลังมาคิดวิเคราะห์สักนิดว่า "มันคุ้มแล้วเหรอที่มีคนแบบนี้อยู่ในชีวีตเรา?" 

อย่าไปสนใจเหล่า "เครื่องด่า" ใกล้ตัวคุณให้มาก การตัดคนพวกนี้ออกจากชีวิตจะช่วยให้จิตใจของคุณสงบขึ้น มีเวลาพัฒนาตัวเองแบบไม่ต้องรอให้ใครมาชี้นิ้วด่า

4.ขอโทษก่อน…เปิดทีหลัง

คำขอโทษทำให้หลายๆ สถานการณ์ในชีวิตดีขึ้น ในการโดนด่าก็เช่นกัน เมื่อถูกวิจารณ์ ลองตอบโต้ด้วยการพูด "ขอโทษ" หากสิ่งที่อีกฝ่ายวิจารณ์มาจากการกระทำของคุณ การขอโทษจะทำให้สถานการณ์คลายความตึงเครียดลง ทำให้อีกฝ่ายได้มีเวลาคิดถึงสิ่งที่จะพูด จากนั้นก็ได้เวลาที่เราจะเปิด…ใจคุยกันอย่างมีเหตุผล

5.ตัดบท ลดความขัดแย้ง

อย่ารู้สึกผิดกับการตัดบทสนทนาเมื่อรู้สึกเครียดเกินไปแล้ว แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าหมดเวลากับการด่าเรื่อยไปแบบนี้แล้ว พยายามบอกให้ผู้ด่ารู้ว่าคุณยินดีรับฟังคำวิจารณ์ของเขาต่อ แต่ไม่ใช่เวลานี้ พร้อมนัดแนะการประลองฝีปากในคราวหน้า การทำแบบนี้ยังทำให้ผู้ด่ามีเวลาคิดคำนึงถึงเรื่องที่จะพูด

6.บอกให้เงียบ! และฟังฉันบ้าง

การเงียบและปล่อยให้อีกฝ่ายวิจารณ์เราจากเรื่องราวฝั่งเดียวไม่ใช่ทางออกของการทะเลาะเบาะแว้ง เมื่อฟังสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะพูดแล้ว เราก็ต้องเล่าเรื่องจากฝั่งตัวเอง รวมถึงเหตุผลของการกระทำต้นเหตุของการโดนด่า เพราะบางครั้งในความขัดแย้ง การได้รู้เรื่องราวทุกมิติก็อาจทำให้ทุกฝ่ายเปิดใจให้กันได้ในภายหลัง

7.ยิ้มสู้คำด่า

ไม่ว่าจะเป็นยิ้มจ๋อย ยิ้มฝืน หรือยิ้มทั้งน้ำตา การยิ้มจะช่วยให้สถานการณ์ผ่อนคลายขึ้น ในทางจิตวิทยา การยิ้มของเราจะช่วยให้ผู้ด่ามีท่าทีอ่อนลง และทำให้ผู้ด่าได้ครุ่นคิดถึงคำพูดตัวเองไปด้วย

8.ใจดีกับตัวเองหน่อย :)

อย่าหมกมุ่นกับคำด่าและคำวิจารณ์มากเกินไป พักใจและหาสิ่งบันเทิงผ่อนคลายหัวสมองบ้าง จงจำให้ขึ้นใจว่าคำด่าทั้งหลายแหล่แม้จะทำให้ใจเจ็บ แต่ความคิดของผู้อื่นไม่อาจเปลี่ยนตัวตนของเราได้

โค้ชบาสเก็ตบอลชื่อดัง จอห์น วู้ดเดน (John Wooden) เคยกล่าวไว้ว่า การฟังคำเยินยอและคำวิจารณ์มากเกินไปเป็นความผิดมหันต์ กลับกันเราต้องหัดรับมือและปรับใช้ทุกคำวิจารณ์ที่ได้ฟัง จะได้มีชีวิตที่ดีและเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้มากขึ้น

อ้างอิง

greatist.com

startup.info

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 15

  • NokkraJib
    สรุปคือให้ใจเย็นๆ
    06 พ.ค. 2564 เวลา 00.05 น.
  • 🇹🇭ChaN-NuaN🇹🇭
    โพสต์​ขำขันสิ รับรองคนอ่านสดชื่นแต่เช้า
    06 พ.ค. 2564 เวลา 00.28 น.
  • P'Noyy🌸🌸
    หนีไปให้ไกลๆไม่ต้องเจอกันทั้งชาติ
    06 พ.ค. 2564 เวลา 03.18 น.
  • はら 高橋ー日本
    ด่ากลับสิ
    06 พ.ค. 2564 เวลา 13.34 น.
  • Ratchayut_p
    โบราณบอกไว้เรื่องในครอบครัวอย่าเอาออกไปนอกบ้าน
    06 พ.ค. 2564 เวลา 00.36 น.
ดูทั้งหมด