เพิ่งเป็นประเด็นร้อนไปหมาดๆ สำหรับ 'ขนมอาลัวพระเครื่อง' ขนมจากร้านขายขนมแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม ตัวขนมมีรูปร่างเหมือนพระเครื่องสมชื่อ เมื่อทำออกมาวางจำหน่าย ปรากฏว่ามีผู้สนใจสั่งซื้อจำนวนมาก หลายคนชื่นชมในความสร้างสรรค์ของเจ้าของร้าน กลายเป็นกระแสแชร์ต่อๆ กันโลกอินเทอร์เน็ตถึงความแปลกใหม่และโดดเด่นของขนมอาลัวเจ้านี้
แต่ไม่นานหลังจากเป็นไวรัล ก็มีกระแสตีกลับว่าขนมในลักษณะนี้ไม่เหมาะสม ชาวพุทธหลายคนบอกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบาป ที่จะเกิดกับคนทำ และคนกิน
สวัสดีค่ะ🙏😊 ขออนุญาติตอบรวมๆตรงนี้ก่อนนะคะ เดี๋ยวจะไปรับออเด้อในข้อความอีกที #อาลัวพระเครื่อง กล่องละ100.-…
Posted by มาดามชุบ on Tuesday, April 27, 2021
ขอบเขต - ของขลัง
ประเด็นความอ่อนไหวของพุทธศาสนามีมาแต่ไหนแต่ไร เพราะในหมู่ชาวพุทธ ก็ยังมีทั้งกลุ่มคนที่รู้สึก 'รับได้' เมื่อเห็น 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์' ทั้งหลายถูกนำมาแปรรูป ด้วยแนวคิดว่าคำสอนและแก่นแท้ของศาสนาสิที่สำคัญ เครื่องรางของขลังต่างๆ เป็นเพียงสิ่งสมมติไม่ใช่หรือ กลับกันในหมู่ชาวพุทธที่รู้สึก 'สะเทือนใจ' ก็ให้เหตุผลว่าศาสนาเป็นของสูง ต้องเคารพ รวมถึงจำเป็นต้องช่วยกันทำนุบำรุงสืบไป
เราจึงรวบรวมตัวอย่างกรณีที่มีความ 'หมิ่นเหม่ทางศีลธรรม' แบบที่แม้จะเป็นชาวพุทธที่ไม่เคร่งมาก (อย่างเรา) ก็ยังแอบขบคิดว่าการกระทำเหล่านี้ ทำได้ หรือ ทำไม่ได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว สังคมมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง?
ฟิลเตอร์ 'เศียรพระพุทธรูป' บนอินสตาแกรม
ย้อนไปราว 2-3 ปีที่แล้ว อินสตาแกรม (Instagram) ออกฟีเจอร์ใหม่ที่เราสามารถใช้กล้องของแอปฯ ถ่ายหน้าของเราโดยแอปฯ จะใช้ระบบ AR คำนวณนำรูปภาพต่างๆ มาแทนใบหน้าเราได้ หนึ่งในฟิลเตอร์ที่คนมากมายเอามาถ่ายภาพคือฟิลเตอร์ 'พระพุทธรูป' ที่เปลี่ยนใบหน้าเราให้กลายเป็นพระพุทธรูป โดยศิลปินที่สร้างฟิลเตอร์ดังกล่าว ปฏิเสธที่จะลบผลงานตามคำขอของชาวพุทธที่เข้าไปทักท้วง ประเด็นฟิลเตอร์นี้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์สนั่นในหมู่ชาวไทย แต่กลับได้รับความนิยมมากๆ ในกลุ่มวัยรุ่น
เสื้อ Supreme คอลเล็กชัน 'หลวงพ่อคูณ'
ซูพรีม (Supreme) แบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์จากนิวยอร์ก ออกคอลเล็กชันใหม่ประจำฤดูร้อน/ฤดูใบไม้ผลิปี 2021 เป็นเสื้อแจ็กเกตพิมพ์ 'ยันต์หลวงพ่อคูณ' อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ตรงกลางหลัง สำหรับแบรนด์ซูพรีม สายแฟชั่นต่างรู้กันว่าไม่ว่าจะผลิตสินค้าใดออกมา ก็เป็นอันฮ็อตฮิตติดตลาด หรือไม่ก็เป็นไวรัลโด่งดังในความจัดจ้านเสมอ ส่วนประเด็น 'ยันต์หลวงพ่อคูณ' ก็มีชาวพุทธจำนวนหนึ่งออกมาท้วงติง แต่ที่ยังมีข้อกังขาคือในด้านกฎหมาย เพราะทางวัดบ้านไร่ได้ออกมาชี้แจงว่าแบรนด์ซูพรีมไม่ได้มาขอลิขสิทธิ์ไปใช้ในเชิงธุรกิจแต่อย่างใด
ดรามาการ์ตูนเรื่อง 'Saint Young Men เมื่อศาสดาขอลาพักร้อน'
การ์ตูนเรื่องนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับศาสดาทั้งสองคือ พระเยซู และ พระพุทธเจ้า ที่ลงมาใช้ชีวิตธรรมดาๆ บนโลกมนุษย์ โดยสอดแทรกมุกตลก และเรื่องราวจากพระคัมภีร์ รวมถึงพุทธประวัติอย่างเนียนๆ อย่างไรก็ตามการ์ตูนเรื่องนี้ 'ไม่ใช่' การ์ตูนความรู้ แต่สร้างออกมาในเชิง 'การ์ตูนแก๊ก' มากกว่า เมื่อชาวพุทธไทย (ส่วนหนึ่ง) ทราบเรื่องก็ต่อต้านอย่างหนัก และมีการร้องเรียนไปยังกระทรวงสารสนเทศ รวมถึงกระทรวงต่างประเทศให้จัดการกับการ์ตูนเรื่องนี้ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต กรุงโตเกียว ก็ได้แจ้งกลับมาว่าการ์ตูนเรื่องดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างสูง และไม่มีกระแสต่อต้านจากชาวญี่ปุ่น
แต่ประเด็นนี้อาจจะแตกต่างจากบริบทความเป็นพุทธไทยอยู่บ้าง เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนับถือพุทธนิกายมหายาน ซึ่งพระสงฆ์จะใช้ชีวิตลักษณะเดียวกับฆราวาสในหลายด้าน และรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นเองก็ให้อิสระทางความคิดและการแสดงออกในเชิงศาสนาอย่างเต็มที่
ยังมีสินค้า และงานศิลปะ จำนวนมากที่ถูกผลิตออกมาในเชิง 'เลียนแบบ' เหล่าของขลังและมีลักษณะใกล้เคียงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งรูปปั้น รูปหล่อ ไปจนถึงรอยสัก ผ้าห่ม รองเท้า ซึ่งทุกครั้งที่เรื่องราวเหล่านี้ถูกแชร์ หรือเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต ก็เกิดปรากฏการณ์ 'ชาวเน็ตไม่ปลื้ม' และมักมีดรามาถกเถียงระหว่างชาวพุทธด้วยกันตามมาเสมอ อย่างในกรณี 'ขนมอาลัว' ที่กำลังเกิดขึ้นก็เช่นกัน
'อาลัวพระเครื่อง' เรื่องถกเถียงว่าบาป-ไม่บาป?
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่าขนมอาลัวเป็นสิ่งไม่เหมาะสม และไม่สมควรนำมาทำเป็นรูปพระเครื่อง พร้อมเตรียมทำหนังสือชี้แจงร้านขนมเจ้าของอาลัว ให้เหตุผลว่ารูปพระเครื่องถือเป็นวัตถุมงคล และเครื่องสักการบูชา
เช่นเดียวกับ นางสุชาดา หิรัญภัทรานันท์ วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม เห็นตรงกับนายณรงค์ ว่าการนำพระเครื่องไปทำเป็นขนมไม่เหมาะสม พร้อมแนะนำว่าถ้าจะทำ อาจเลือกอัตลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสงคราม เช่น ปู กุ้ง มาครีเอตแทน ทั้งยังชี้ว่าหากขนมเสียและนำไปทิ้ง อาจมีสัตว์มากัดกิน ซึ่งยิ่งไม่เหมาะสม
ด้าน พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช วัดป่าดอยแสงธรรมฐาณสัมปันโน ให้ความเห็นผ่านโพสต์เฟซบุ๊ก สรุปความว่าไม่เหมาะสม เพราะพระพุทธรูปนับเป็นวัตถุมงคลที่ชาวพุทธเคารพนับถือ หากนำไปทำอาหารสำหรับเคี้ยวกิน ถือเป็นการกระทำมิบังควร แสดงถึงความไม่เคารพ และเป็นบาป
ถามว่า ทำขนมแบบนี้ขาย จะเป็นบาปไหม? แล้วคนที่ซื้อไปกินจะบาปไหม? . คำตอบ : ก็ต้องดูที่เจตนาของการทำ…
Posted by พระครูนิรมิตวิทยากร สุวพานนท์ on Wednesday, April 28, 2021
ด้านตัวแทนพระพุทธศาสนาอีกท่าน พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ คิดต่างโดยตั้งคำถามว่าสำนักงานพุทธฯ มองว่าขนมพระเครื่องไม่เหมาะสม แต่ไม่ชี้แจงว่า 'ไอ้ไข่' ที่อยู่ในวัดแต่คนพากันไปจุดประทัดบูชานั้นเหมาะสมหรือไม่ ก่อนกล่าวถึงกรณีการบูชาราหู บูชาพญานาค การลงนะหน้าทอง รวมถึงการครอบครู (ในวัดดังๆ) ว่าเหมาะสมหรือไม่
ล่าสุดร้านขนมเจ้าของเรื่องออกมาชี้แจงว่าที่ทำไปเป็นเพียงการค้าขาย มีเจตนาดีและไม่ได้ต้องการความโด่งดัง ไม่ได้หวังกำไร แต่ทำเท่าที่มีกำลัง และอยากให้ทุกคนสนใจที่ฝืมือและความใส่ใจในกระบวนการทำของเธอมากกว่า พร้อมประกาศปิดรับออเดอร์ชั่วคราวไปแล้ว
และเมื่อสำรวจความคิดเห็นของชาวเน็ต ก็พบว่ามีส่วนหนึ่งที่มองว่าการนำ 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์' มาแปรรูป นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ศาสนาดูเป็นเรื่อง 'ใกล้ตัว' และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำส่งเสริมให้ศาสนาอยู่คู่กับสังคมอย่างเป็นมิตรสืบไป
แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับ 'ของขลังแปรรูป'?
หมายเหตุ : โปรดใช้ความระมัดระวังในการคอมเมนต์ และหลีกเลี่ยงคำหยาบคาย รวมถึงถ้อยคำโจมตีศาสนาหรือผู้เห็นต่าง (Hate Speech)
อ้างอิง :
FB Page : พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช, พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ, มาดามชุบ
ความเห็น 344
Somboon
กินเหลือก็ทิ้งพระพุทธเจ้ารวมกันกับของโสโครกบาปนรกหนักหนา
13 ก.ย 2565 เวลา 04.13 น.
NoonTHL0045261
ลบหลู่ ไม่สมควร
10 ก.ย 2565 เวลา 08.51 น.
บุศญา ชัชนันท์ชัยกุล
สัทธาอยู่ที่เหตุผล
05 พ.ค. 2564 เวลา 05.50 น.
winai
เราห้ามคนอื่นไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมายครอบคลุมถึง ห้ามคนไทยบางคนยังไม่ได้ห้ามต่างชาติไม่ได้ เมื่อพบเจอก็วางเฉยไปซะและไม่สนับสนุน จริงๆแล้วพระศาสดาก็ไม่เคยบัญญัติให้มีรูปเคารพ แต่มันเป็นอิทธิพลจากตะวันตกที่เข้ามายึดครองอินเดียหลังพระศาสดาปรินิพพานไปแล้ว สิ่งที่พระศาดาไม่บอกให้ทำย่อมมีเหตุผล พิสูจน์แล้วว่าสิ่งเหล่านี้นำมาสู่การวิวาทขัดแย้งจากคนเคารพและคนไม่รู้จักเคารพวัฒนธรรมความเชื่อคนอื่น
05 พ.ค. 2564 เวลา 00.22 น.
LONG GER
คุณก็ปั้นขนมเป็นรูปพระในบ้านคุณเลย
รูปพ่อ รูปแม่ ของคุณ
แล้วคุณจะได้รู้คำตอบที่แท้จริง
05 พ.ค. 2564 เวลา 00.03 น.
ดูทั้งหมด