โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“เครียดจัด ฆ่าตัวตาย” เพื่อสอบเข้า “มหาลัย” ปัญหาร้ายที่ไม่ควรละเลย!

Another View

เผยแพร่ 22 ธ.ค. 2561 เวลา 01.00 น.

“เครียดจัด ฆ่าตัวตาย” เพื่อสอบเข้า “มหาลัย” ปัญหาร้ายที่ไม่ควรละเลย!

เป็นเรื่องที่น่าสลดใจทุกครั้งที่ได้ยินข่าวว่ามีนักเรียน-นักศึกษา “เครียดจัด ฆ่าตัวตาย” ซึ่งข่าวแบบนี้จะมีให้เห็นอย่างหนาหูหนาตาเป็นพิเศษในช่วงของการสอบปลายภาค หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องของการฆ่าตัวตายในช่วงก่อนและภายหลังรู้ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้น เป็นเรื่องที่มีมาให้เห็นกันทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ประเทศเราจะต้องสูญเสียบุคลากรอันเป็นอนาคตของชาติไปเช่นนี้ 

เรื่องนี้ผิดที่ใคร? ผิดที่เด็กจิตใจอ่อนแอ? ผิดที่ความคาดหวังของครอบครัว? หรือผิดที่ระบบการศึกษามีการแข่งขันสูง?

จิตใจอ่อนแอเองหรือเปล่า?  

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมา หลาย ๆ คนจะตั้งคำถามว่า “จิตใจอ่อนแอเองหรือเปล่า?” “ทำไมมีแค่เด็กบางคนที่ฆ่าตัวตาย?” “แล้วเด็กคนอื่นเขาไม่เครียด ไม่กดดันหรือ ทำไมเขายังผ่านมาได้ รอดมาได้?” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความคิดเช่นนี้อันตรายมาก เพราะเป็นมุมมองที่ละเลยปัญหาและเป็นมุมมองที่โยนความผิดให้แก่ผู้เลือกกระทำการฆ่าตัวตายมากจนเกินไป 

เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักหากจะมองว่ามีเพียงแต่ผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า"เท่านั้นที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตาย ที่จริงแล้วมีหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความเครียดความวิตกกังวลและ ความซึมเศร้าก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ดังนั้นในกรณีที่มีเด็กฆ่าตัวตายจำนวนมากในช่วงสอบวัดผลการเรียนปลายภาคเห็นได้ว่า ความเครียดในระดับสูงก็สามารถนำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตตนเองได้เช่นกัน ผู้ที่มีความเครียดสูงนั้นอาจตัดสินใจกระทำการอะไรบางอย่างจากความเครียด ซึ่งนำมาสู่ผลลัพธ์ที่น่าวิตกกังวลได้ 

หลายคนจะชอบว่า “แค่นี้เอง เราก็เคยผ่านมาได้” แต่ก็อย่าลืมว่าเมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ เรื่องอะไรของเด็ก ๆ ก็คงจะดูเป็นเรื่องเล็กไปเสียหมด เพราะเรามองดูด้วยมุมมองของคนที่อายุมากกว่า ทั้ง ๆ ที่สำหรับเด็กบางคนแล้วปัญหาเหล่านั้นอาจเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับวัยอายุเท่านั้น…ดังนั้นจึงไม่ควรมองโลกของเด็กและตัดสินปัญหาของพวกเขาด้วยสายตาของคนที่โตแล้ว แต่ควรมองด้วยความเข้าอกเข้าใจต่างหาก ที่สำคัญ ความเครียด ความซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอ แต่เป็นสภาวะทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันอื่น ๆ เช่น…

แบกรับความคาดหวังของครอบครัวไม่ไหว 

ทุกครอบครัวย่อมอยากเห็นบุตรหลานของตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิต จึงมีการพยายามผลักดันให้พวกเขาเดินไปบนเส้นทางที่พ่อแม่ผู้ปกครอง “คิดว่า” พวกเขาจะประสบความสำเร็จที่สุด เช่นค่านิยม ต้องเรียนสายวิทย์จบมาเป็นหมอจะได้สบาย” “ต้องเรียนเก่งๆสอบเข้าเป็นข้าราชการจะได้เป็นเจ้าคนนายคนซึ่งในความเป็นจริงแล้วค่านิยมเก่าๆเหล่านี้เป็นค่านิยมที่กำลังฆ่าเด็กอย่างช้า ๆ โดยไม่รู้ตัว เด็กบางคนเติบโตมาในครอบครัวที่มีการแนะแนวและคาดหวังแบบนี้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเห็นทางที่จะประสบความสำเร็จทางอื่นนอกจากเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นครู เป็นข้าราชการ…และเมื่อเขาทำไม่ได้ตาม ความคาดหวังที่หนักอึ้งของครอบครัว เด็กอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นความล้มเหลว…ทำให้พ่อแม่เสียใจ และก็อาจนำไปสู่ความคิดที่ต้องการจะจบชีวิตในที่สุด

นอกจากนี้ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กสอบไม่ติด เช่น เรื่องของการยื่นคะแนนในคณะที่ไม่เหมาะสม หรือจำนวนอัตรารับเต็มแล้วทั้ง ๆ ที่คะแนนของเด็กห่างกันเพียงแค่นิดเดียว ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ และไม่ได้แปลว่าเด็กเหล่านั้นไม่ได้พยายามมากพอ ดังนั้น ทางที่ดีสำหรับพ่อแม่และครอบครัวในยุคสมัยนี้ก็คือ “อย่าคาดหวังมากเกินไป” การคาดหวังจนสร้างกรอบไปครอบให้เด็กนั้นจะทำให้พวกเขาเกิดความเครียด และรู้สึกไม่มีค่าเมื่อไม่สามารถทำได้ตามที่หวัง การคาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จเป็นเรื่องที่ดี และถ้าหากเขาทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดียิ่งกว่า แต่อย่าลืมบอกกับลูกว่าการที่เขาไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้ทำให้เขาด้อยค่า และไม่ได้ทำให้คุณรักเขาน้อยลง…ซึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วที่ลูกของคุณอยากได้ยิน 

ระบบการศึกษาที่มีแต่การแข่งขัน? 

การสอบแข่งขันไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเมื่อ “ที่นั่ง” ในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของประเทศนั้นมีจำกัด นักเรียนจึงต้องพยายามสอบแข่งขันกันเพื่อที่จะช่วงชิงที่นั่งเหล่านั้น สำหรับเด็กวัยมัธยมแล้ว การได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ฝันนั้นไม่ใช่เพียงแต่จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจ แต่ยังเป็นเรื่องของ "ศักดิ์ศรี"และ "ความภาคภูมิใจในตัวเอง"ของพวกเขาด้วย เด็กบางคนจึงต้องแบกรับทั้งความเจ็บปวดและความผิดหวังเมื่อพวกเขาพลาดหวัง 

การศึกษาในแบบที่ไม่แข่งขันกันนั้นคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างก็ยังต้องการรักษาระดับและชื่อเสียงทางการศึกษาของพวกเขาในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมา ซึ่งคุณภาพของบุคลากรเหล่านี้จะถูกประเมินตั้งแต่การสอบเข้า…แต่สิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ ทัศนคติของคนในวงการการศึกษาอย่างแรกก็คือต้องยอมรับเสียก่อนว่า“คนเก่งไม่ได้มีแบบเดียว” และนักเรียนที่ไม่ได้เรียนเก่งก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาล้มเหลวในชีวิต 

เราควรชื่นชมคนเรียนเก่งแต่พอประมาณ พอที่จะเหลือพื้นที่ไว้ให้คนเรียนไม่เก่งได้ยืน และผลักดันให้พวกเขาเติบโตในด้านอื่น ๆ ต่อไป เพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีเด็กคนไหนรู้สึกถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวหรือไม่ดีพอ เพียงแค่เพราะว่าเขา…เรียนไม่เก่ง…สอบไม่ติด…หรือทำข้อสอบไม่ได้…

เพราะคุณค่าของคนไม่ควรจะถูกชี้วัดกันแค่เพียงเรื่องเหล่านี้เท่านั้น  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 14

  • ดร.กิตติพง พิพิธกุล
    จบที่ใหนก็ได้ขอให้ สกอ รับรอง แล้วจึงมาสมัครสอบ กพ ถ้าสอบผ่าน กพ รับรองว่าไม่ตกงาน
    23 ธ.ค. 2561 เวลา 10.39 น.
  • อย่าว่าแต่เด็กเลย คนโตเอง แค่จะผ่านชีวิต​ไป​ใน​แต่ละ​วันยังลำบากเลยเดี๋ยวนี้​ ทั้งแรงกดดันจากครอบครัว​สังคมที่ทำงาน ​ความคาดหวัง​จากคนรอบตัว ฯลฯ​ หากใครไร้​ภูมิต้านทาน​ในจิตใจ รึไม่พลิกมุมมอง​ในชีวิต​ให้ดี ย่อมพ่ายแพ้​ต่อจิตใจตัวเอง ความวิตกกังวล ​ความ​รู้​สึก​ต่างๆ จิตเราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเอง สติจึงสำคัญมาก มันก็แค่เกิดขึ้น​ตั้งอยู่ และผ่าน​ไป แล้วก็วนซ้ำำ แค่นั้น​
    23 ธ.ค. 2561 เวลา 02.10 น.
  • Vitoon
    เคยอ่านข่าวนักศึกษาแพทย์ที่เรียนไม่ไหวแล้วฆ่าตัวตาย มีข่าวประเภทนี้หลายต่อหลายข่าวในอินเตอร์เนต สาเหตุหนึ่งเพราะพวกเขาต้องการรักษาหน้าตาทั้งของตัวเองและของพ่อแม่ไว้ เขาจึงยอมตายดีกว่ายอมเสียหน้าว่าพ่อแม่มีลูกโง่ จริงๆ แล้วพวกเขาไม่โง่หรอกนะ แต่พวกเขายึดติดกับค่านิยมทางสังคมมากเกินไป จนกลายเป็นแรงบีบคั้นทางจิตใจทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ถ้าพวกเขาได้ฟังหรืออ่านธรรมะบ่อยๆ เขาก็จะปล่อยวางได้และไม่ทำร้ายตัวเอง อีกทั้งพ่อแม่ก็ควรเข้าใจลูกด้วยว่าการเรียนหมอไม่ได้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
    22 ธ.ค. 2561 เวลา 23.16 น.
  • Phat
    ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้เองทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุและปัจจัย ตัวเหตุและปัจจัยเองก็จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและสถานะการ สิ่งที่บอกมาคือเหตุปัจจัยที่คาดเดาเป็นภาพรวมซึ่งอาจไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะความไม่รู้ แต่ถ้าทุกคนไม่ยึดติดและปล่อยวางได้เมื่อพลาดจากสิ่งที่คาดหวังความทุกข์และการฆ่าตัวตายคงลดน้อยลงได้
    22 ธ.ค. 2561 เวลา 17.34 น.
  • yoohoo
    บางคน​ที่​คิดว่า​ทำไม​ต้อง​เครียด​ขนาดนั้น​ เพราะ​เรา​ผ่าน​มา​แล้ว​ เรามีประสบการณ์​ตรงนั้น​แล้ว​ อย่า​ลืม​ว่า​เด็ก​บางคน​เค้า​จัดการ​กับ​ความ​เครียด​ไม่​เป็น​ เลยตัดสินใจ​ทำในสิ่งไม่ถูกต้อง​ ยุคนี้พ่อแม่​สำคัญ​ไม่ควรตั้ง​ความหวัง​กับ​ลูก​มาก​ เพราะ​ยุค​นี้​เป็น​ยุคดิจิทัล​ ไม่จำเป็น​ต้อง​เรียน​สูง​ก็ประสบความสำเร็จ​ได้​หาก​รู้จัก​ใช้ข้อมูล​ให้​เป็น​
    22 ธ.ค. 2561 เวลา 16.03 น.
ดูทั้งหมด