“แจกเงินปีใหม่500 บาท” กับ“30 บาทรักษาทุกโรค” ใช้เงินภาษีเหมือนกัน แต่ทำไมเสียงวิจารณ์ถึงต่างกัน?
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เงินอุดหนุนพิเศษ 500 บาทให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่มีชื่อเล่นว่า ‘บัตรคนจน’ ว่าเป็นการเผาเงินภาษีดั่งการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แถมยังเป็นการหาเสียงทางอ้อมของรัฐบาล คสช. ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
หนึ่งเสียงในโลกออนไลน์ก็ตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า ‘ถ้าการแจกเงิน 500 บาท คือการหาเสียง แล้วโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคล่ะ ไม่ใช่การใช้เงินภาษีไปหาเสียงหรืออย่างไร’
ประโยคดังกล่าวหากมองดูแบบผ่านตาก็คงดูเป็นความจริง เพราะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ก็เป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนระบบสาธารณสุขให้กับคนทั่วไป โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคือคน ‘รากหญ้า’ (อ้างตามศัพท์การเรียกของพรรคไทยรักไทย ที่เป็นรัฐบาลชุดที่ริเริ่มโครงการนี้) และเป็นนโยบายที่ทักษิณชินวัตรใช้เพื่อหาเสียงและนำไปใช้ในยุคที่เป็นรัฐบาลสมัยแรก
งบประมาณในปีแรกที่อุดหนุนอยู่ที่ 1,250 บาทต่อคน และ 15 ปีผ่านไป งบประมาณอุดหนุน ณ ปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 3,109.87 บาทต่อคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2.5 เท่า และถ้าคิดเป็นเงินก้อนใหญ่ที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับจัดสรรให้เพื่อบริการประชาชน จะอยู่ที่ 123,465.7804 ล้านบาท
เงินกว่าแสนล้านบาทก้อนนี้ จะถูกเรียกว่าเป็นการใช้ภาษีไปหาเสียงได้หรือไม่?
คำตอบอาจจะต้องมาดูที่ปลายทางว่าใครกันแน่ที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้
ย้อนกลับไปสมัยก่อนปี 2545 ที่โครงการ ‘บัตรทอง’ เริ่มต้น การรักษาพยาบาลของคนไทยยังไม่ได้ถูกกระจายให้เข้าถึงได้ทุกคน เวลามีโรคภัยไข้เจ็บ หากเป็นคนที่พอจะมีเงินทุนอยู่บ้าง หรือมีฐานะพอจะซื้อประกันสุขภาพเบิกจ่ายได้ ก็เดินตัวปลิวเข้าโรงพยาบาลได้อย่างสบายใจ ในขณะที่หากเป็นชาวบ้านตาสีตาสา หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในขณะนั้น ก็ต้องเก็บหอมรอมริบตามมีตามเกิดเพราะรัฐบาลไม่ได้มีหลักประกันสุขภาพใดๆ มารองรับ
หากมีเงินไม่เพียงพอจะรักษาก็ต้องถูกจัดให้เป็นผู้ป่วยสงเคราะห์ หรือผู้ป่วยต้องร้องขอพบผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะได้สิทธิ์นั้น ทั้งที่หนึ่งในสิทธิมนุษยชน คือการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จัดเป็นโครงการประเภท ‘ประชานิยม’ ก็จริงอยู่ แต่หากเรามองคำๆ นี้ในเชิงประโยชน์ในระยะยาวที่ได้รับ ที่ทำให้ประชาชนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ก็สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องกังวลถึงค่ารักษา
นโยบายแบบนี้เกิดจากแนวคิดพื้นฐานของการเป็น ‘รัฐสวัสดิการ’ หรือการกระจายรายได้รัฐจากภาษีที่ทุกคนจ่าย (ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม) เพื่อช่วยสนับสนุน แบ่งเบาทุกข์ กระจายสุขให้กับคนอื่นๆ ในสังคม เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวียนที่ใช้ระบบนี้มาอย่างยาวนาน
จากข้อมูลในปีงบประมาณ 2558 ประชาชนที่มีสิทธิ์ใช้บัตร 30 บาทอยู่ที่ 48.386 ล้านคน และมีการใช้บริการผู้ป่วยนอกอยู่ที่เกือบ 160 ล้านครั้ง หรือหารแล้วอยู่ที่ประมาณ 3 ครั้งต่อคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการนี้จะถูกยกย่องเป็นดั่งเทวดาเสมอไป เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือพยาบาล ที่ออกมาวิจารณ์ว่าการมีอยู่ของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้การเข้ามารักษาของประชาชนมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เบียดบังความจำเป็นของคนไข้ที่ต้องการการรักษาจริงๆ และทำให้หลายโรงพยาบาลประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอกับต้นทุนที่เกิดจากการใช้บริการ
แต่ก็มีแพทย์พยาบาลอีกไม่น้อยที่แสดงความเข้าใจบนพื้นฐานวิชาชีพว่าแม้จะเหนื่อยขึ้น ได้รับเงินเดือนช้าหรือขาดจากชั่วโมงการทำงานจริง แต่การได้รักษาผู้ป่วยรายได้น้อยให้หายจากความเจ็บป่วย โดยไม่ต้องเห็นเหตุผลด้านฐานะที่ยากจนเป็นตัวขวางไม่ให้กล้าเดินทางมารักษา ก็เป็นเหมือนรางวัลในการทำงานเช่นเดียวกัน
หากเรามองนโยบายพื้นฐานที่เป็นสวัสดิการรัฐซึ่งทุกคนควรได้รับ ว่าเป็นเพียงนโยบายที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการหวังผลทางการเมือง สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในการได้รับการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย คงไม่สามารถเข้าถึงคนทุกระดับชั้นได้ขนาดนี้
ขณะเดียวกัน ลองเปรียบเทียบกับเงินจำนวน 38,730 ล้านบาท ที่เพิ่มให้กับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยหนึ่งในนั้นเป็นการให้ของขวัญปีใหม่จำนวน 500 บาทแก่ผู้ถือบัตรจำนวน 14.5 ล้านคน คิดเป็นเงิน 7,250 ล้านบาท
1 ใน 4 ของจำนวนเงินที่อุดหนุนให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถูกจัดสรรให้ ‘อย่างไม่มีการระบุเป้าหมายอย่างชัดเจน’ นั่นหมายถึง ประชาชนทุกคนไม่ได้รับเงินนี้อย่างถ้วนทั่ว ไม่มีการตรวจสอบและจำแนกผู้มีสิทธิ์ได้รับ (จากที่เราเห็นภาพในโซเชียลมีเดียที่ใส่ทองไปกดเงิน หรือกดเงินไปกินเหล้า)
มาตรการระยะสั้น ที่สั้นยันระยะเวลา การหมุนเวียนของเงิน 500 บาทที่จะไหลวนเข้าระบบอย่างรวดเร็วไปถึงกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่พีระมิดบนสุดจากการจับจ่าย ไม่ได้ทำให้เงินกระจายในระบบเศรษฐกิจได้อย่างหมุนเวียนอย่างยั่งยืน แม้นายกรัฐมนตรีจะออกมาพูดให้ทุกคนวางแผนการใช้เงิน 500 บาทให้ดีก็ตาม
เมื่อเป็นอย่างนี้ การนำนโยบายประชานิยม - รัฐสวัสดิการอย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ประชาชน ‘ทุกคน (ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพอื่นๆ)’ ได้ประโยชน์จากการเสียภาษีของตัวเอง มาเทียบกับการใช้เงินภาษีที่ ‘ทุกคน’ จ่าย เพื่อไปโปรยเงินให้กับคน ‘บางคน’ ย่อมเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัว เพราะถ้าวัดที่ประโยชน์ระยะยาว กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยที่ทุกคนควรได้รับ เราคงเห็นว่าอะไรกันแน่ที่ได้ประโยชน์มากกว่า
เว้นเสียแต่ว่าคนที่เปรียบเทียบ สายตาจะสั้นเหมือนชั่วชีวิตของเงิน 500 บาทที่เพิ่งหมดจากตู้เอทีเอ็มเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ความเห็น 100
Narin
BEST
บัตร30บาท เป็น"สิทธิขั้นพื้นฐาน"ที่ประชาชนทุกคนมี ใช้รักษาชีวิต ลดภาระค่ารักษา ค่ายา ประชาชนจึงสำนึกในสิทธินี้ (คนอายุเยอะจะรู้ดีว่าค่ายาในแต่ละครั้งแพงมาก ถ้าไม่มี30บาท ก็ทำเงินมารักษาตัวหมด ไม่มีเงินเก็บ)
แจก500 ต้องมีบัตรคนจน เป็นโครงการที่แบ่งแยกชนชั้นชัดเจน สิทธิขั้นพื้นฐานก็ไม่ใช่ ประชาชนไม่มีความสำนึกในสิทธิ เอาเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย ไม่ได้ประโยชน์ เพราะแจกครั้งเดียวไม่ได้ช่วยให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น แจกค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ถ้าวันใดวันนึงหยุดแจก ประชาชนตาย เพราะรุ้จักแต่ขอๆๆ ไม่ทำมาหากิน
19 ธ.ค. 2561 เวลา 04.05 น.
BEST
ไอ้สัส เงิน500มึงเข้าโรงบาลผ่าตัดได้มั้ย ใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลอะไรได้มั่ง ถุย ส่วนบัตร30บาท ถ้าเทียบกับเงิน500ที่พวกเผด็จการแจก มันคนละเรื่องเลย 30บาทรักษาทุกโรค ยังไงก็มีค่ามากกว่าเงิน500 เป็นล้านเท่า
19 ธ.ค. 2561 เวลา 04.51 น.
Wimarn
BEST
30บาทยั่งยืนเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่500บาทตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
19 ธ.ค. 2561 เวลา 05.05 น.
dang
30บาทใช้ได้ตลอดชีวิต
แต่500ใช้วันเดียว555
19 ธ.ค. 2561 เวลา 05.09 น.
Dæng
รัฐบาลซื้อเสียงแบบชอบธรรม รู้ไหมเขาเอา500ไปทำอะไร ไปกินเหล้า ไปซื้อหวย ขอบคุณช่วยแบ่งจ่ายค่าหวยงวดนี้ 5555
19 ธ.ค. 2561 เวลา 04.47 น.
ดูทั้งหมด