ต้อนรับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และฉลองให้กับวันแรกที่เราทุกคนจะสามารถกลับไปนั่งทานข้าวแบบ Social Distancing ได้ที่ร้านอาหารด้วยหนึ่งในเมนูอาหารที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลาย ๆ คนกำลังคิดถึงอย่างจับใจอย่าง 'หมูกระทะ' ระหว่างที่กำลังจะหยิบตะเกียบเตรียมปิ้งหมู เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดของเมนูที่เป็นที่รักนี้
ใครคือคนริเริ่ม ทำไมทุกคนต่างเสพติดหมูกระทะกันนักหนา และหมูกระทะในประเทศอื่น ๆ หน้าตาเป็นยังไง หาคำตอบได้ใน 'เรื่องใกล้ใกล้ตัว' สัปดาห์นี้!
จุดริเริ่มมาจากช่วงสงคราม
หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่ถูกนำมาพูดกันก็คือหมูกระทะถูกครีเอตขึ้นครั้งแรกในประเทศมองโกเลียระหว่างช่วงสงคราม ทหารมองโกลใช้หมวกของตัวเองที่ทำจากเหล็กมาแทนที่กระทะ สุมไฟให้ร้อน แล้วนำเนื้อสัตว์มาย่างด้านบนระหว่างที่พักรบ นี่เลยอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ดีไซน์ของกระทะที่เราเห็นในปัจจุบันมีลักษณะโค้งมนเข้าช่วงตรงกลาง เพื่อให้ดูคล้ายคลึงกับหมวกทหารมองโกล ผู้เป็นคนริเริ่มเมนูนี้
ถึงแม้ว่าข้อสันนิษฐานข้างต้นจะดูมีความเป็นไปได้สูง แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานที่ถูกจารึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และถ้าหากจะอ้างอิงตำนานของหมูกระทะจากบันทึกจริง ๆ แล้ว ดูทรงว่าอาหารประเภทนี้จะมีจุดกำเนิดอีกแห่งในประเทศญี่ปุ่น ในปี 1918 เกิดภาวะ 'แกะ' ล้นตลาดเนื่องจากในช่วงนั้นญี่ปุ่นมีการทำปศุสัตว์เลี้ยงแกะเพื่อเอาขนและหนัง มีการรณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นช่วยกันเอาเนื้อแกะมาทำอาหารและหนึ่งในกรรมวิธีที่ฮิตที่สุดก็คือการปิ้งย่าง เมนูที่ถูกคิดประดิษฐ์ก็คือ 'เนื้อย่างเจงกิสข่าน' ริเริ่มโดย นายโทคุโซะ โคมาอิ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการกินเนื้อแกะย่างในประเทศจีนต่อเหนือ
ต่อมาเมนู 'Yakiniku' (ยากินิคุ) หรือเนื้อย่างแบบญี่ปุ่นก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวเกาหลีที่ตกค้างในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องการย่างเนื้อมาก ๆ เปิดร้านเล็ก ๆ ในตลาดมืด และเอาเศษเนื้อ ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว และเครื่องในสัตว์มาย่างขาย เลยทำให้เมนูปิ้งย่างกลายมาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และเป็นการผูกวัฒนธรรมของการกินหมูกระทะผูกเข้ากับความเป็นสตรีทฟู้ดตั้งแต่เริ่มแรกด้วย
หมูกระทะบุกไทย
การเริ่มต้มล้อมวงกินหมูกระทะของคนไทยไม่ได้มีการบันทึกที่แน่ชัด บ้างว่าครั้งแรกที่ได้ลองชิมก็คือเมนูเนื้อย่างเจงกิสข่าน บ้างว่าจุดกำเนิดมาจากเมนู 'หมูย่างเกาหลี' ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับวัฒนธรรม Pop Culture เกาหลีในไทย แต่ถ้าให้อ้างอิงถึงกระแสที่จุดความนิยมของเมนูหมูกระทะก็ต้องมอบความดีความชอบให้กับแบรนด์ 'ไดโดม่อน' บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างแบรนด์แรก ๆ ในบ้านเรากับสาขาแรกในสยามสแควร์ และความฮิตติดเทรนด์ก็ทำให้ร้านปิ้งย่างแบรนด์นี้ขยายสาขาออกไปมากกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ และกลายเป็นแบรนด์ที่นำร่อง ทำให้เกิดร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า ตามที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
ทำไม๊..ทำไมทุกคนถึงคลั่งรัก 'หมูกระทะ'
มีสารพัดเหตุผลเลยที่ทำให้เมนู 'หมูกระทะ' เข้าไปนั่งอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คนอย่างปฏิเสธไม่ได้ อย่างแรกน้ำจิ้มที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายที่พอทานพร้อมกับตัวเนื้อ จะกลายเป็นความรู้สึกที่ชวนให้ม่วนแบบสุด ๆ อย่างที่สองคือเสียงจี่เนื้อบนกระทะ และความสนุกของการที่ได้ปรุงอาหารด้วยตัวเอง อย่างที่สามอาจจะเป็นเรื่องของราคาที่ใคร ๆ ก็สามารถจับต้องได้ และยิ่งเป็นบุฟเฟ่ต์ที่ไม่แพงมากแต่สามารถเติมเนื้อ เติมผัก เติมเครื่องได้ไม่อั้นจนอิ่มท้อง เลยทำให้ร้านหมูกระทะเป็นจุดหมายปลายทางในการปิดวันที่แสนเหนื่อยล้า เป็นรางวัลให้คนหิวโหยแบบตอบตรงโจทย์สุด ๆ
รักหมูกระทะที่ตรงไหน มาแชร์กับเราได้ในช่องคอมเมนต์! ติดตามเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจต่อได้ใน 'เรื่องใกล้ใกล้ตัว' ทุกวันพุธบน LINE TODAY
อ้างอิง
ความเห็น 35
ตอนนี้ผมอายุ 32 ผมจำได้แม่นว่า ตอนผมเรียน ม.1 เริ่มมีร้านหมูย่างเกาหลีเปิดขึ้นมา แล้วสักพักมันถึงเปลี่ยนเป็นชื่อหมูกระทะ
01 ก.ย 2564 เวลา 05.58 น.
ISSAREE
ลองผ่านมาแถวนครปฐมเห็นรถขนหมูที่จะส่งโรงเชือด
ความอร่อยจะหายไปเกือบ80%-90%
01 ก.ย 2564 เวลา 08.30 น.
TAN
พ่อเราลูกครึ่งญี่ปุ่น ตอนเด็กๆ จำได้เลยว่า ถ้าจะไปกินหมูกะทะ พ่อจะบอกว่า พาไปกินเจงกิสข่าน คนยุคเก่าคงเรียกกันแบบนี้จริงๆ ปู่เราก็เรียกเตงกิสข่านเหมือนกัน
03 ก.ย 2564 เวลา 00.06 น.
Niyomsukh Heiter
ปิดกับโควิดไปหลายจ้าว
01 ก.ย 2564 เวลา 14.23 น.
John KR
วิวัฒนาการ เริ่มจาก
เนื้อย่างเกาหลี > หมูย่างเกาหลี > หมูกระทะ
เพราะจริง ๆ แล้ว หมูย่างเกาหลีไม่มีนะ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นหมูกระทะ (ไม่เกาหลีไง)
01 ก.ย 2564 เวลา 23.00 น.
ดูทั้งหมด