“คนไทย” ยังไม่เที่ยวไทยแล้วใครจะมา! ท่องเที่ยวไทยมันไม่ดีที่ตรงไหน?
ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง คุณวางแผนไปเที่ยวที่ไหนกันบ้าง?
บางคนอาจจะนอนอยู่บ้าน ขณะที่บางคนเตรียมตัวออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ใหม่ ๆ แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้น คือจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง คือการเที่ยวในประเทศไทย หรือเลือกออกเดินทางไปยังต่างประเทศ?
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ถึง ‘ความแพง’ ของการเที่ยวเมืองไทย โดยมีตัวอย่างเป็นจังหวัดสุดฮอตของชาวต่างชาติอย่าง “ภูเก็ต” ที่ค่าครองชีพสำหรับนักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นใจให้คนไทยอย่างเราไปเที่ยวชมความงามของชายหาดซักเท่าไหร่
นอกจากของกินที่แพงแสนแพง อย่างน้ำเปล่าราคาเท่าในสนามบิน ยังมีอีกหนึ่งประเด็นนั่นคือเรื่องของ ‘การคมนาคมขนส่ง’ ภายในจังหวัด ที่ถูกครอบงำโดยแท็กซี่และรถ (ไม่) สาธารณะที่ไม่มีมาตรการจัดเก็บค่าโดยสารที่เป็นระบบ
หากแท็กซี่ราคาเหมาในกรุงเทพฯ ว่าโหดแล้ว ที่ภูเก็ตน่าจะโหดกว่าเป็นสองเท่า!
จากผลสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติและ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อปลายปี 2560 ถึงลักษณะของพาหนะที่ใช้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ พบว่า 65.7% ของกลุ่มตัวอย่างเดินทางด้วยรถส่วนตัว ส่วนจำนวนที่เหลือไม่ถึงครึ่งเดินทางด้วยการเดินทางอย่างรถตู้ รถโดยสาร รถไฟ และเครื่องบิน
นั่นหมายความว่าเมื่อเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทาง ยังมีคนอีกมากที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ ในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ ที่เดินทางได้จริงและมีราคาเหมาะสม เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีรถขับ หรือยังมีความจริงที่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะขับรถเป็นหรือขับได้คล่อง
หากลองหันไปมองยังประเทศต่างๆ ที่เป็นจุดหมายยอดฮิตของชาวไทย อย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ สิ่งที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีร่วมกันคือความสะดวกในการเดินทางไม่ว่าจะทางรางหรือทางถนน ที่เอื้อให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างง่ายดาย หาข้อมูลเดินทางได้สะดวก ราคามีมาตรฐาน โดยไม่ต้องไปลุ้นราคาเอาหน้างานเหมือนตัวเลือกเดินทางในต่างจังหวัดของไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความท้าทายของประเทศไทย ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลักเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากตัวเลขเป้าหมายการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยที่ไม่เป็นไปตามเป้า 9.5 แสนล้านบาทเมื่อปีก่อน (ทำไปได้ 9.3 แสนล้านบาท) สิ่งที่เราน่าจะรีบค้นหาจุดอ่อนเพื่อส่งเสริมให้คนไทยหันมาเที่ยวไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือการหาวิธีดึงคนที่ไม่อยากเที่ยวเพราะความลำบากเรื่องเดินทาง ให้ตัดสินใจเที่ยวไทยแทนต่างประเทศ ผ่านการพัฒนาระบบขนส่งทั้งระหว่างเมืองและในเมืองให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ
แต่อะไรกันที่ทำให้การพัฒนาที่ว่าเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เหมือนภาครัฐไม่ต้องการส่งเสริม
คำตอบอยู่ที่การไม่เอาจริงเอาจังในการ ‘กระจายอำนาจ’ ของรัฐ
ปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญในเมืองหลวงดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายทศวรรษอย่างไม่มีทีท่าจะลดลง เราเห็นการพัฒนาของกรุงเทพมหานครอย่างก้าวกระโดด เงินภาษีถูกนำมาวางแผนงานโครงสร้างการเดินทางขนาดใหญ่ทั้งทางรางและถนนเพื่อความสะดวกสบายของคนกรุง ในขณะที่เงินดังกล่าวไม่ถูกกระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ อย่างเต็มที่
ในเชิงของระบบขนส่งมวลชน ก็มีการผูกขาดอำนาจอนุมัติโครงการไว้ที่รัฐบาลส่วนกลาง แทนที่จะยกหน้าที่นี้ให้กับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น มีหลายโครงการที่หน่วยงานบริหารในพื้นที่ต้องการพัฒนาระบบขนส่งในจังหวัดของตัวเอง แต่ต้องผ่านการเห็นชอบจาก สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จากนั้นยังต้องรอการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำให้แผนที่เคยคิดไว้ ไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ที่เปลี่ยนไปจากตอนที่ทำการศึกษาเส้นทางไว้แต่แรก
เมื่อแผนดำเนินการช้าเพราะต้องรอการอนุมัติแบบราชการไทย คนก็หันไปใช้ยานพาหนะส่วนตัวอย่างมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ส่วนตัวเพื่อเดินทางในจังหวัด หรืออาจทำให้เกิดกลุ่มคนที่มีอำนาจ หรือเป็น ‘มาเฟีย’ ที่ตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่คนในจังหวัดต้องใช้ ทำให้ระบบการคิดค่าโดยสารเป็นไปอย่าง ‘ตามใจ’ เพราะเป็นทางเดียวที่ประชาชนสามารถใช้เดินทางได้
ผลที่ตามมาคือ จำนวนคนใช้ไม่มากพอที่จะทำกำไรหรืออุดหนุนเงินเพื่อการเดินรถ เพราะคนหันไปใช้พาหนะส่วนตัวของตัวเอง จากการรอคอยที่นานจนคิดว่าไม่มี กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่ที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดก่อนกัน ก็เป็นผลให้อีกข้อตามมาเสมอ
การปลดล็อกอำนาจจัดการระบบขนส่งมวลชนให้เหมาะสมและเข้ากับพฤติกรรมการเดินทางของคนท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลส่วนกลางควรให้ความสำคัญ ดั่งตัวอย่างที่เราอาจเห็นในจังหวัดขอนแก่นและเชียงใหม่ ที่เริ่มมีความก้าวหน้าของระบบขนส่งมวลชนที่ ‘ไว้ใจได้’ และ ‘ใช้งานได้จริง’ มีระบบการให้บริการที่ทันสมัย ทั้งแผนที่การเดินรถที่เป็นระเบียบ และแอปพลิเคชั่นดูตำแหน่งรถทางโทรศัพท์มือถือ
สิ่งจำเป็นอย่างการเดินทางที่ง่ายมากขึ้นนี้ น่าจะดึงดูดคนไทยกลุ่มใหญ่ที่อยากท่องเที่ยว แต่ติดปัญหาเรื่องการเดินทางในจังหวัด ให้หันกลับมามองเมืองไทยเป็นเมืองเที่ยวมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.voicetv.co.th/read/516238
https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/z2941.aspx
ความเห็น 116
ลุงเงาะคลองสี่
BEST
ผมถามรถที่วินริมหาดป่าตอง ว่า"จังซีลอนไปทางไหน?"มันบอกไกลเหมารถผม200 ผมไม่ไป..เดินไปเรื่อยๆโลกว่าเอง..นี่ขนาดคนไทยด้วยกันนะเนี่ย...ไม่มีใครทำลายประเทศไทยได้นอกจากคนไทยด้วยกันเอง..ไม่ไปแล้วภูเก็ต
26 ธ.ค. 2561 เวลา 04.01 น.
A⚛️🏅💰📢🚭🏁💯..kruwitch.
BEST
คนเขามีตังจะเที่ยวไหนก็ได้จิงปะ
คนไทยอะขูดรีดคนไทยด้วยกันเอง
ที่พักอาหารการกินแพงแต่ไม่เต็มคถณภาพ
ชอบเอาเปรียบไม่รักษาสภาพแวดล้อม
ทิ้งของเก่าเอาแต่ของใหม่
ฝรั่งเขาชอบของเก่าแต่พี่ไทยทำลาย
หมดไม่เหลือเขาเลยหนีไปเที่ยวตปท.งัย
รู้ยังพวกโลกสวย
26 ธ.ค. 2561 เวลา 02.56 น.
James007
BEST
เที่ยวนอกถูกกว่าเที่ยวไทย คนไม่เคยไปเมืองนอกคงไม่รู้หรอก
26 ธ.ค. 2561 เวลา 03.46 น.
Por Por Kikuman
ไปทะเล..อาหารทะเลกลับแพงกว่า.กทม..เลิกไป.
26 ธ.ค. 2561 เวลา 05.13 น.
ณิชชา 3641445459
ชอบเที่ยวไทย แต่บางที่สกปรก คนไทยหลายคนมักง่ายเกิน ความรับผิดชอบน้อย ขยะเต็มไปหมด ถ้าไม่มีที่ทิ้ง เก็บขยะใส่ถุงกระเป๋าอะไรไว้ก่อนไม่ได้หรือคะ แล้วค่อยทิ้งให้ลงถังขยะจริงๆ พ่อแม่อบรมลูกเรื่องทิ้งขยะกันด้วยนะคะ
26 ธ.ค. 2561 เวลา 04.28 น.
ดูทั้งหมด